ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดงานเสวนาเรื่อง “จับอุณหภูมิเศรษฐกิจปี 62...หมูจริงหรือไม่?” สะท้อนมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีนี้ว่าคงขยายตัวดีขึ้นมาที่กว่าร้อยละ 4 จากร้อยละ 3.3 ในไตรมาส 3 หลังภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนธันวาคม ผนวกกับการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวขึ้น การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังรักษาระดับการขยายตัวไว้ได้
ส่วนประมาณการจีดีพีสำหรับทั้งปี 2561 นั้น มีการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.6 มาที่ร้อยละ 4.3 ซึ่งเป็นไปตามภาพการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ผ่อนแรงส่งลง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ของปี
ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า สำหรับในปีหมู หรือปี 2562 นั้น ทีมศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า คงไม่หมูเท่าใดนัก เพราะในฝั่งภาคต่างประเทศ
“สงครามการค้าจะมีผลกระทบกับภาคส่งออกของไทยมากขึ้นกว่าที่เห็นในปีนี้ โดยการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีนคงจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งทำให้ประเด็นนี้ จะรบกวนบรรยากาศการค้าโลกตลอดทั้งปี และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อมูลค่าการค้าของไทยราว 3.1 พันล้านดอลลาร์”
นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนในประเด็น Brexit สถานการณ์การคลังของอิตาลี และความผันผวนของค่าเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่างเช่น ตุรกี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ซึ่งล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะที่หลายธนาคารกลางในกลุ่มประเทศดังกล่าว มีกระสุนที่จำกัดมากขึ้นหลังขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า “ประเด็นสงครามการค้าโลกดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่กระทบตัวเลขส่งออกไทยในปีหน้า ซึ่งเมื่อผนวกกับผลของฐาน จะทำให้เราเห็นตัวเลขการส่งออกที่ราวร้อยละ 4.5 เทียบกับร้อยละ 7.7 ในปี 2561”
ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโตที่ประมาณร้อยละ 4.0 ซึ่งต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนมาช่วยเสริม เพื่อให้สามารถชดเชยโมเมนตัมของภาคต่างประเทศที่ผ่อนแรงลงได้ ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ หากเป็นไปอย่างราบรื่นจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายและลงทุนของประเทศ รวมถึงความต่อเนื่องของการผลักดันงบประมาณปี 2563 ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐยังเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญไปจนถึงครึ่งปีหลัง
กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า นอกจากความต่อเนื่องของการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐแล้ว ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยติดตามที่สำคัญ
“กนง.มีโอกาสมากขึ้นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของปีนี้ เช่นเดียวกับเฟดที่ประชุมวันเดียวกัน หลังมีการส่งสัญญาณจาก ธปท.อย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ขณะที่ในปี 2562 กนง.ยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก แต่น่าจะเป็นในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้ง”
อย่างไรก็ตาม การปรับดอกเบี้ยแบงก์ในช่วงครึ่งปีแรก คงเน้นไปที่อัตราเงินฝากประจำพิเศษ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านและกู้รถที่มีระยะค่อนข้างยาว ไม่ใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป เพราะสภาพคล่องยังมีอยู่มาก ขณะที่แรงส่งสินเชื่อจะชัดเจนในครึ่งปีหลังมากกว่า แต่ด้วยเศรษฐกิจที่มีแรงส่งลดลง คงทำให้เห็นสินเชื่อปี 2562 ขยายตัวประมาณร้อยละ 5.0 ชะลอลงจากร้อยละ 6.0 ในปีนี้
ด้านเอ็นพีแอลของระบบธนาคารไทยและต่างชาติ มีโอกาสแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ในช่วงระหว่างปี 2562 ก่อนที่จะมาแตะระดับราวร้อยละ 2.98 ณ สิ้นปี 2562 จากร้อยละ 2.91 ณ สิ้นปี 2561 เพราะเอ็นพีแอลมักปรับตัวตามเศรษฐกิจราว 6 เดือน โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีและบ้าน ยังเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ
เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า “สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปีหน้า กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ โรงพยาบาลเอกชน และก่อสร้างภาครัฐ เป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังมีอัตราการขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยแม้การเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซอาจมีผลต่อมาร์จิ้นฝั่งผู้ขายเมื่อมีความลงตัวของระบบที่เกี่ยวข้อง แต่โดยรวมธุรกรรมออนไลน์น่าจะยังเติบโตสูงตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค”
ขณะที่ธุรกิจที่คงเห็นการชะลอตัวในปีหน้า ได้แก่ เกษตร รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 จะได้รับผลกระทบจากทั้งมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาฯ ของ ธปท.ที่เร่งกิจกรรมการโอนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ถึงไตรมาสแรกของปี 2562 และการปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงทำให้คาดว่ายอดโอนอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จะหดตัวร้อยละ 7.6 ถึงร้อยละ 3.6 จากที่มองว่าจะเติบโตร้อยละ 14.1 ในปี 2561 เพียงแต่ยอดค้างขายคงไม่เพิ่มขึ้นมาก เพราะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะระมัดระวังการเปิดตัวโครงการใหม่มากขึ้น