ปัจจุบันเราเห็นภาพของผลกระทบจากภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ชัดเจนมากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็น ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) ที่รุนแรงมากขึ้น
สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การมาของ PM2.5 ที่กลายเป็นภัยร้ายใกล้ตัวและต้องเผชิญทุกปี สิ่งเหล่านี้แน่นอนว่าการยับยั้งตั้งแต่ต้นเหตุนั้นช้าไปเสียแล้ว แต่สิ่งที่มนุษย์ทุกคนทำได้คือไม่เพิ่มความรุนแรงของสถานการณ์เหล่านี้ให้เพิ่มมากขึ้น และเป็นบทบาทหน้าที่ของทุกคนที่ควรร่วมมือกัน
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืน ผ่านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 คุมเข้มการจัดการของเสียอันตราย และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสร้างความได้เปรียบในเวทีโลก
ในฐานะผู้ให้บริการระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะทั้งทางพิเศษ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจในการเป็นผู้นำด้านการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งที่ครบวงจรของประเทศและในภูมิภาคอาเซียน โดยคำนึงถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
โดยบริษัทให้ความสำคัญในการดำเนินการด้านความยั่งยืนขององค์กรควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะจากการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานทดแทน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065 (พ.ศ 2608) เพื่อเดินทางด้วยกันสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน (Mobility for All: Sharing the Sustainable Journey)
ในปี 2566 หากมองภาพรวมของการดำเนินงานใน 2 ธุรกิจ คือธุรกิจทางพิเศษและธุรกิจระบบรางนั้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 143,834 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีการใช้พลังงาน 233.90 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่หากพิจารณาเฉพาะระบบรางแล้วปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอยู่ที่ 0.022 KgCO2eq ต่อผู้โดยสาร-กิโลเมตร ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงอยู่ที่ 0.036 KgCO2eq ต่อผู้โดยสาร-กิโลเมตร
โดยมีการใช้ไฟฟ้าเพื่อให้บริการรถไฟฟ้าปริมาณ 0.048 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อจำนวนผู้โดยสาร-กิโลเมตร (kWh per passenger-km) หรือคิดเป็น 0.024 กิโลคาร์บอนไดอ็อกไซด์เทียบเท่า ต่อจำนวนผู้โดยสาร-กิโลเมตร (kg CO2e per passenger-km) ซึ่งลดลงร้อยละ 29.41 จากปีก่อนหน้า รวมถึงยังสามารถลดการใช้ไฟฟ้าในธุรกิจทางพิเศษเป็นปริมาณ 1,188,398 กิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือคิดเป็นร้อยละ 7.06 จากปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ BEM ได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นของการจัดการด้านพลังงาน โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 4 ต่อปี โดยเทียบกับปีฐาน 2566 ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือ การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2608 และลดการใช้พลังงานลงให้ได้ร้อยละ 28 ภายในปี 2573 โดยเทียบกับปีฐาน 2566 เช่นเดียวกัน
โดยได้ทำการเปลี่ยนโคมไฟของธุรกิจทางพิเศษเป็นชนิด LED บริเวณทางขึ้น-ลงทางพิเศษ ส่วนธุรกิจระบบราง ได้เปลี่ยนหลอดไฟเป็นชนิด LED บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุง และพื้นที่ภายในสถานี เช่นเดียวกับการเปลี่ยนในพื้นที่ส่วนกลางของชั้นร้านค้าในธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์
เพื่อลดการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน บริษัทจึงติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งลงทุนตั้งแต่ปี 2565 และดำเนินการต่อเนื่องในแต่ละพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทางพิเศษและธุรกิจระบบรางต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
โดยเริ่มเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 4 คัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 พบว่าลดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 8,441 ลิตร โดยมีเป้าหมายจะเปลี่ยนรถเป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 24 คัน ภายในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
จากการดำเนินการทั้ง 3 โครงการนี้ ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทสามารถลดต้นทุนด้านพลังงาน 18.5 ล้านบาท ลดการใช้พลังงานทั้งสิ้น 3,975,959 กิโลวัตต์-ชั่วโมง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 1,987 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ใช้ปี 2566 เป็นปีฐาน) ซึ่งปัจจุบันยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าผลงานของการดำเนินงานที่จะแสดงให้เห็นนั้นจะชัดเจนมากยิ่งขึ้นในการสรุปข้อมูลในปี 2567
ด้วยการบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างมีกลยุทธ์ส่งผลให้ BEM ได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น รางวัลสำนักงานสีเขียว (Green Office) ในระดับดีเยี่ยม (G-ทอง) และ รางวัลองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (CALO) ในระดับ “ดีเด่น” ในสาขาบริการ
อีกทั้ง ได้รับคัดเลือกจากสถาบันไทยพัฒน์ให้เข้าอยู่ในทำเนียบ บริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ใน Universe ของกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ประจำปี 2567 ในฐานะบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในกลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ อีกทั้งยังได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating ต่อเนื่องถึง 7 ปี ในกลุ่มบริการ (Services) ซึ่งได้รับการจัดลำดับอยู่ในระดับ AA (คะแนนรวม 80-89 คะแนน)
ทั้งนี้ BEM ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ส่งมอบการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บนมาตรฐานความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้บริการ ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อสังคมและหลักธรรมาภิบาล ร่วมสร้างเส้นทางสู่ความยั่งยืนที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน