โตโยต้า กำลังทุ่มทุนอย่างหนักในเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยมีแผนกลยุทธ์ชัดเจนในการยกระดับศักยภาพในตลาดรถยนต์ไร้คนขับ ความตั้งใจนี้สะท้อนออกมาผ่านการลงทุนครั้งสำคัญและโครงการต่างๆ ที่เปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้
โตโยต้าจัดสรรเงินกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ผ่านสถาบันวิจัยโตโยต้า-การพัฒนาขั้นสูง (TRI-AD) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ การลงทุนนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของโตโยต้าในการแข่งขันในตลาดนี้ โดยเน้นที่ซอฟต์แวร์ขั้นสูงและ AI
นอกจากนี้ โตโยต้ายังได้จับมือกับ Nippon Telegraph Telephone (NTT) เพื่อลงทุนกว่า 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน AI สำหรับเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งเป้าหมายคือพัฒนาระบบที่สามารถคาดการณ์และป้องกันอุบัติเหตุ จากการที่โตโยต้าให้ความสำคัญกับการพัฒนาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานพาหนะ โดยใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยยานพาหนะนำทางในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนได้อย่างปลอดภัย โดยคาดว่าระบบนี้จะพร้อมใช้งานในปี 2028
ในมุมมองเชิงกลยุทธ์ โตโยต้ามองว่าการลงทุนนี้จำเป็นเพื่อตอบสนองต่อภูมิทัศน์การแข่งขันที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว คู่แข่งสำคัญอย่าง Tesla และบริษัทรถยนต์จีนหลายแห่งที่กำลังก้าวหน้าในเทคโนโลยีรถไร้คนขับทำให้โตโยต้าต้องเร่งสร้างความสามารถใหม่ๆ ที่ต่อกรกับคู่แข่งได้
โตโยต้ายังเลือกแนวทาง Collaboration ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่เพียงมุ่งพัฒนาในบริษัทเท่านั้น แต่ยังสร้างความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Microsoft, Uber และ Aurora เพื่อผนวกเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ากับยานพาหนะของตน
นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นของโตโยต้ายังครอบคลุมถึงวิสัยทัศน์ระยะยาวในการสร้างโซลูชันการเดินทางที่ตอบสนองความต้องการของสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น แนวคิด e-Palette ที่จะเป็นยานยนต์อัตโนมัติแบบมัลติฟังก์ชันสำหรับการใช้งานในเมือง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้า บริการขนส่งผู้โดยสาร หรือการจัดส่งอาหาร
แนวคิดนี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของโตโยต้าที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติเพื่อแก้ปัญหาและสนับสนุนโซลูชันการเดินทางในเขตเมืองอย่างครบวงจร e-Palette
ไม่เพียงตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานในเมืองเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้ทรัพยากร
โดยยานยนต์นี้ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก และออกแบบมาให้สามารถปรับปรุงหรืออัปเกรดเทคโนโลยีได้ในอนาคต ทำให้ลดความจำเป็นในการเปลี่ยนรถใหม่บ่อยครั้ง และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ โตโยต้าวางแผนให้ e-Palette เป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งในโครงการสมาร์ทซิตี้ เช่นเมือง Woven City ที่โตโยต้ากำลังสร้างในญี่ปุ่น โดยจะเป็นตัวช่วยในระบบขนส่งสาธารณะและบริการขนส่งที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของประชากรและสภาพแวดล้อมในเมือง
ท้ายที่สุด การลงทุนครั้งนี้ของโตโยต้าถือเป็นการขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญและได้รับการจับตาเป็นอย่างมาก
แต่คำถามที่น่าคิดคือ นี่คือการลงทุนที่ทันท่วงที หรือเป็นการลงทุนที่อาจสายเกินไปสำหรับยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งมากหน้าหลายตาซึ่งก้าวล้ำนำหน้าไปมากแล้วในสนามนี้?
บทความจากนิตยสาร MarketPlus 170 ตุลาคม 2567