ยักษ์ใหญ่วงการสมาร์ทโฟนอย่าง OPPO ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 4 ของโลก เดินหมากรุกตลาดต่างประเทศครั้งใหญ่ ด้วยการส่ง Find X8 และ Find X8 Pro กลับมาทวงบัลลังก์ตลาดพรีเมียมนอกประเทศจีนอีกครั้งในรอบ 2 ปี โดยเลือกเกาะสวรรค์บาหลีเป็นสนามแรก พร้อมชูจุดแข็งด้านนวัตกรรม AI และฐานการผลิตในท้องถิ่น หวังปลดล็อกการเติบโตในตลาดต่างประเทศที่กำลังร้อนระอุ
หนีศึกดุเดือดในบ้านเกิด หลัง Huawei ทวงบัลลังก์คืน
การกลับมาครั้งนี้ของ OPPO สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีนในการขยายฐานผู้บริโภคต่างประเทศ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในประเทศจีน โดยเฉพาะหลัง Huawei กลับมาทวงบัลลังก์ในตลาดบ้านเกิด หลังจากที่ถูกสหรัฐฯ แบนจนต้องมุ่งเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก
เอลวิส โจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดต่างประเทศของ OPPO เผยว่า การกลับมาครั้งนี้มาพร้อมความมั่นใจ หลังจากทุ่มเทพัฒนาแบรนด์และเครือข่ายค้าปลีกมาอย่างต่อเนื่อง
Find X8 Series มาพร้อมฟีเจอร์ AI ล้ำสมัย ทั้งการลบเงาสะท้อนจากกระจก ลบวัตถุที่ไม่ต้องการออกจากภาพ และการทำงานร่วมกับ Google Gemini AI ที่มีฟีเจอร์ Circle to Search ซึ่งถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากรุ่นก่อนที่วางจำหน่ายเฉพาะในจีน และสมาร์ทโฟนพับได้ Find N ที่ทำตลาดต่างประเทศ
OPPO เลือกอินโดนีเซียเป็นฐานสำคัญในการรุกตลาดต่างประเทศ ด้วยการสร้างโรงงานขนาดใหญ่ที่ตันเกอรัง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 100,000 ตารางเมตร จ้างพนักงานท้องถิ่นกว่า 1,000 คน คิดเป็น 99% ของพนักงานทั้งหมด โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 เพื่อรองรับความต้องการสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19
โรงงานอินโดฯ ผลิตได้ 1-2 ล้านเครื่อง/เดือน รองรับตลาดเต็มสูบ
เจฟรี เฟอร์แมน เดอ ฮาน ผู้อำนวยการศูนย์การผลิต OPPO อินโดนีเซีย เผยว่า โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิต 1-2 ล้านเครื่องต่อเดือน ตามความต้องการของตลาด โดยใช้ชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ท้องถิ่น 36-37% ทั้งแบตเตอรี่ วัสดุบรรจุภัณฑ์ อะแดปเตอร์ และสาย USB
ตัวเลขนี้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของรัฐบาลที่กำหนดไว้ที่ 35% และมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนนี้ให้สูงขึ้นอีก โดยทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลท้องถิ่นในการหาซัพพลายเออร์ที่เหมาะสม
การลงทุนในอินโดนีเซียของ OPPO มาในจังหวะที่เหมาะสม หลังจากที่รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งห้ามจำหน่าย iPhone รุ่นล่าสุดของ Apple และสมาร์ทโฟน Pixel ของ Google เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และไม่สามารถบรรลุข้อผูกพันด้านการลงทุนในตลาดได้
อย่างไรก็ตามหลังถูกสั่งห้ามจำหน่าย Apple ได้เสนอลงทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการสร้างโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นจากข้อเสนอเดิมที่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์เสริมและชิ้นส่วนที่เมืองบันดุง ชวาตะวันตก
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย กล่าวว่า “ยินดีต้อนรับข้อผูกพันด้านการลงทุนของ Apple” และมีกำหนดจะจัดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่ Apple ยังไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอความเห็นในเรื่องนี้แต่อย่างใด
ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีประวัติการใช้ระเบียบทางการค้าเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและส่งเสริมการผลิตในประเทศ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมท้องถิ่น แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกีดกันทางการค้า และข้อกำหนดเรื่องสัดส่วนชิ้นส่วนในประเทศที่แตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรมอาจทำให้นักลงทุนบางรายลังเล
อย่างไรก็ตาม การแบน Apple ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก ปราโบโว ซูเบียนโต ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะเริ่มส่งผลในทางบวก
7 โรงงานนอกจีน ยอดขายต่างประเทศ 60%
ในขณะที่ OPPO นั้นไม่เพียงแต่ลงทุนด้านการผลิต แต่ยังทุ่มทุนด้านการตลาดในอินโดนีเซียอย่างจริงจัง โดยเปิด OPPO Cafe ในห้างสรรพสินค้าหรูใจกลางจาการ์ตา เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ในบรรยากาศสบายๆ บิลลี่ จาง รองประธานของ OPPO กล่าวว่า “ที่นี่เราเป็นแบรนด์อินโดนีเซีย ไม่ใช่แบรนด์ต่างชาติ”
กลยุทธ์ ‘Glocal’ หรือ ‘คิดระดับโลก ทำระดับท้องถิ่น’ ของ OPPO ส่งผลให้แบรนด์ครองแชมป์ตลาดสมาร์ทโฟนอินโดนีเซียไตรมาส 3 ด้วยส่วนแบ่ง 19% แซงหน้า Transsion และ Samsung ที่มีส่วนแบ่งเท่ากันที่ 18%
ขณะที่ในภาพรวมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ OPPO ครองส่วนแบ่ง 18.1% นำหน้า Samsung ที่ 18% ตามด้วย Transsion 17%, Xiaomi 14.9% และ Vivo 9.8%
แอนดี้ ชี ประธาน OPPO ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยว่า ถึงแม้ว่าความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะทำให้ผู้ผลิตหลายรายต้องทบทวนกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทาน แต่ OPPO เริ่มตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศก่อนที่ความขัดแย้งจะเริ่มขึ้น โดยสร้างโรงงานแรกในอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2558 ก่อนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2560 และจุดชนวนสงครามการค้าในปีถัดมา
นอกจากความสำเร็จในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ OPPO ยังมีแผนรุกตลาดยุโรปอย่างจริงจัง หลังจากระงับข้อพิพาทด้านสิทธิบัตรกับ Nokia และ Ericsson เรียบร้อยแล้ว พร้อมเดินหน้าท้าชน Samsung และ Apple ที่ครองตลาดด้วยส่วนแบ่ง 32% และ 24% ตามลำดับ
ปัจจุบัน OPPO มีฐานการผลิตนอกประเทศจีน 7 แห่ง ครอบคลุมอินเดีย ตุรกี ปากีสถาน บังกลาเทศ บราซิล และอียิปต์ โดยยอดขายต่างประเทศคิดเป็น 60% ของยอดขายทั้งหมด
เทียบกับคู่แข่งอย่าง Xiaomi ที่ 75% และ Vivo ที่ 50% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีนกำลังเร่งเครื่องขยายตลาดต่างประเทศอย่างเต็มกำลัง พร้อมปรับตัวรับกระแสการผลิตในประเทศที่กำลังมาแรงทั่วโลก