ใครรู้บ้างว่า ISO 14000 เป็นเรื่องมาตรฐานสากลว่าด้วยการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ คิดว่าคงเคยได้ยินกันแน่ๆ ใช่ไหมครับ
แต่มันมีอีกเยอะมากๆ เช่น ISO 14020 เป็นหลักการพื้นฐานในการติดฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม, ISO 14025 เป็นมาตรฐานของฉลากที่บ่งบอกผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยประเมินผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment), ISO 14042 เป็นการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
ไปจนถึงตัวที่กำลังฮิตอย่าง ISO 14064-1 เป็นมาตรฐานว่าด้วยเรื่องหลักการและข้อกำหนดระดับองค์กร สำหรับการวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อยและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก รวมถึงข้อกำหนดการออกแบบ การพัฒนา การจัดการ การรายงานและการทวนสอบบัญชีรายการปลดปล่อยและการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
บางท่านอาจจะเริ่มงงกันละว่าทำไมมีอะไรมากมายขนาดนี้ เอาเป็นว่ายังไม่ต้องจำ แต่ต้องเข้าใจครับ
ISO ย่อมาจาก International Organization for Standardization เป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านมาตรฐาน ที่ออกมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจ และอุตสาหกรรม เพื่อการรับรองระบบการบริหารและการดำเนินงานขององค์กรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก
นอกจากจะทำให้การทำงานมีมาตรฐานแล้ว ยังมักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff Barrier) ที่ประเทศต่างๆ ใช้ป้องกันการค้าของประเทศตนเอง เช่น สมมติว่าประเทศเราไม่อยากให้สินค้าต่างชาติทะลักเข้ามา เราก็ตั้งกฎที่ว่าสินค้าที่นำเข้ามาได้ต้องมี ISO ตัวนั้น ตัวนี้ ทำให้หลายบริษัท หลายแบรนด์ที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานที่กำหนดก็ไม่สามารถนำสินค้าเข้ามาขายได้
ในปัจจุบันนี้การรับรองมาตรฐานต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงและนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ หากผู้บริหารไม่ได้ศึกษาไว้ รับรองว่าตกขบวนแน่นอน เพราะโลกเรากำลังเปลี่ยน โลกเราร้อนเร็วขึ้น และร้อนเร็วเกินกว่าที่คาดเอาไว้ไปแล้ว ดังนั้นในบทความฉบับนี้ผมนำเรื่องที่ต้องรู้มาฝากท่านผู้อ่านกันครับ
COP (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change)
COP เป็นการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ดังๆ ได้แก่ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เกิดขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) (ประเทศไทยได้เข้าร่วมข้อตกลงปารีส เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี)
สาระสำคัญของความตกลงปารีส คือ การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่เราทำไม่ได้ครับ
นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คาดการณ์ว่าโลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม เป็นครั้งแรกภายในปี 2027 อุณหภูมิที่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงที่ของวิกฤติหลายอย่าง เช่น สัตว์เฉพาะถิ่นสูญพันธุ์ การตายของแนวปะการัง การละลายตัวของธารน้ำแข็งขั้วโลก รวมถึงการขาดแคลนอาหารหลายชนิด ถ้าไม่ต้องดูในแง่วิชาการ แค่เรารู้สึกมันก็ร้อนมากขึ้นๆ ทุกปีอยู่แล้ว
การประชุมล่าสุด COP28 ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีรัฐบาลกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม และมีการพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีกครั้ง เรียกร้องให้ตระหนักว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 43 ภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้น มีการเรียกร้องให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่า ผู้นำกว่า 130 ประเทศได้ลงนาม COP28 UAE ว่าด้วยการเกษตร อาหาร และสภาพภูมิอากาศ (COP28 UAE Declaration on Agriculture, Food, & Climate) เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร
ส่วนการประชุม COP ครั้งที่ 29 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2568 ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เป็นการประชุมเพื่อบรรลุกรอบความโปร่งใส และเป้าหมายใหม่เชิงปริมาณด้านการเงิน ที่ถูกจับตามองมากเพราะโลกกำลังประสบปัญหาด้านการเงินด้วย ทั้งหนี้สาธารณะ เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ทำให้หลายคนคาดว่าการประชุมในครั้งนี้จะได้ผลออกมาเป็นรูปธรรมหรือไม่
Nationally Determined Contribution – NDC (การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด)
การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution - NDC) คือการกำหนดให้มีการจัดทำ การแจ้ง และจัดให้มีการทบทวนอย่างต่อเนื่อง โดยแจ้งทุกๆ 5 ปี และแสดงถึงความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่เป็นไปได้สูงสุด ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
เช่น ประเทศไทยจะยกระดับเป้าหมายของการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยเราได้ให้คำมั่นสัญญา NDC จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30-40% จากกรณีดำเนินการตามปกติ ภายในปี 2030 (จะทำได้ไหม ทำได้หรือเปล่า)
Carbon Neutrality v.s. Net Zero
Carbon Neutrality การเป็นกลางทางคาร์บอน คือความสมดุลระหว่างปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยกับปริมาณคาร์บอนที่ถูกกำจัด เช่น การปลูกต้นไม้เพิ่ม (ต้องเป็นไม้ยืนต้น 58 ชนิดที่กำหนด จำนวนขั้นต่ำ 10 ไร่ขึ้นไป) หรือการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) สามารถทำได้รวดเร็ว เช่นการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนขององค์กร
Net Zero การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือการบรรลุเป้าหมายโดยพยายามทำให้ไม่มีการปล่อยคาร์บอนหรือเป็นการที่องค์กรลดการปล่อยคาร์บอนโดยสมบูรณ์ตลอดทั้งห่วงโซอุปทาน ต้องทำในระยะยาวเนื่องจากต้องเข้าไปปรับกระบวนการทั้งหมดในการทำงานขององค์กร รวมถึงห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจทั้งหมด
ตัวอย่างองค์กรที่ลงมือแล้ว เช่น
เอาเป็นว่าเบาๆ เท่านี้ก่อน แล้วจะมาเล่าให้ฟังต่ออีกมากมายมหาศาลที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกกำลังปรับตัวให้เกิดสิ่งที่ดีสำหรับโลกใบนี้ อย่างที่บอกว่า ถ้าไม่ทราบ ถ้าไม่ทำ รับรองตกขบวนแน่ ติดตามกันไว้ให้ดีนะครับ
บทความจากนิตยสาร MarketPlus ฉบับที่ 170 October 2024