กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ผนึกกำลังกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) เปิด “ศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวเกาหลี” หรือ Korea Tourism Startup Center (KTSC) แห่งที่ 3 ณ กรุงเทพมหานคร มุ่งขยายธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเทคโนโลยี AI, IoT, Deep Learning และ Big Data
คิม กึนโฮ อธิบดีกรมยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกที่เกิดจากเทคโนโลยี ICT ทำให้มีความจำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีการท่องเที่ยวในประเทศและการขยายตัวสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
“องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลีจึงได้ใช้เครือข่ายในต่างประเทศที่มีอยู่เป็นพื้นฐานในการจัดตั้ง KTSC ในต่างประเทศขึ้น พร้อมทั้งวางระบบเพื่อส่งเสริมและพัฒนาบริษัทด้านการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสำหรับการเข้าสู่ตลาดโลกอย่างเข้มข้น"
แนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการท่องเที่ยวแบบกลุ่มใหญ่สู่นักท่องเที่ยวอิสระ (FIT) ที่ต้องการประสบการณ์การเดินทางที่มีความยืดหยุ่นและเป็นส่วนตัวมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องการการเชื่อมโยงที่ราบรื่นระหว่างบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ที่พัก และกิจกรรมการท่องเที่ยว นำไปสู่การรวมกันอย่างล้ำลึก (hyper-convergence) ของบริการแต่ละประเภท
KTSC ได้สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวมากกว่า 1,600 บริษัทในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มโครงการนำร่องในปี 2554 และขยายโครงการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 โดยข้อมูลจาก Statista คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาด Travel Tech จะเติบโตจาก 4.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563 เป็น 8.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2568 หรือเติบโตถึง 93%
ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวนับล้านคนต่อปี และมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คึกคัก เป็นตลาดที่มีความเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและเหมาะสำหรับการขยายธุรกิจและทดสอบนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ การจัดตั้ง KTSC กรุงเทพฯ จึงมีเป้าหมายในการสนับสนุนสตาร์ทอัพเกาหลีให้สามารถพัฒนาและทดสอบโซลูชันในตลาดไทย ก่อนขยายไปสู่ตลาดอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายและค้นหาโอกาสทางธุรกิจระดับโลก
“KTSC แต่ละประเทศมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน โดยสิงคโปร์เน้นการดึงดูดการลงทุน โตเกียวเน้นความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น ส่วนกรุงเทพฯ จะเน้นการส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” คิม ดงอิล รองประธานอาวุโส KTO กล่าว
“ศูนย์ KTSC กรุงเทพฯ จะมีบทบาทสำคัญไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่ยังเป็นศูนย์กลางสำคัญในการขยายเข้าสู่ตลาดอาเซียน โดยเรามีแผนที่จะสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวที่มีนวัตกรรมของเกาหลีให้สามารถตั้งหลักในตลาดไทยได้อย่างรวดเร็ว และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว”
ในงานเปิดตัว มีสตาร์ทอัพชั้นนำจากเกาหลี 10 บริษัทร่วมนำเสนอนวัตกรรม โดยมี DOWHAT ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ปฏิวัติการบริหารจัดการโรงแรมด้วยการผสานเทคโนโลยี IoT, AI และการวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานผ่านระบบอัตโนมัติ ทั้งการเช็คอินไร้สัมผัส การจัดการงานแม่บ้าน และการควบคุมสินค้าคงคลัง พร้อมสร้างรายได้เพิ่มผ่าน digital signage และ smart upselling อีกทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน
คิม จูยอง ซีอีโอ DOWHAT กล่าวว่า “เราพัฒนาแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างพนักงานโรงแรมผ่านระบบรวมศูนย์ ทำให้ทุกฝ่ายสามารถแชร์ข้อมูลและติดตามงานได้แบบเรียลไทม์ พร้อมปรับแต่งโซลูชันให้เข้ากับความต้องการของตลาดในแต่ละพื้นที่”
อีกหนึ่งบริษัทที่โดดเด่นคือ LaLastation ผู้นำด้าน Global Contents Commerce ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง AI, big data, AR และ deep learning ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม K-entertainment shopping ที่ผสานคอนเทนต์เกาหลีกับการไลฟ์สตรีม บริษัทได้ร่วมมือกับ SAHA Group พัฒนาโครงการ SAHA Digital Ecosystem โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้า 18 ล้านราย และแบรนด์กว่า 1,000 รายการ พร้อมขยายตลาดผ่านพันธมิตรระดับโลกอย่าง Lazada, YouTube, Tmall และ Tiki
อี ชอลโฮ ซีอีโอ LaLastation กล่าวว่า “LaLastation เริ่มต้นโครงการ Beta Open Event ร่วมกับ SAHA Group ในงาน Saha Group Fair 2024 ใช้เทคโนโลยี Virtual Influencers และการตลาดหลายภาษา พร้อมจัดตั้งบริษัทสาขาในไทยภายในปีนี้ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมการช้อปปิ้งผ่านการไลฟ์สด”
นอกจากนี้ยังมีบริษัทนวัตกรรมอื่นๆ ประกอบด้วย GroundK, Gadget Korea, Media & Art, Star Secret Korea, ONDA, VEStellaLab, UniqueGoodCompany และ Soobak ที่นำเสนอโซลูชันหลากหลายตั้งแต่ระบบขนส่ง แพลตฟอร์มโรมมิ่ง ไปจนถึงการพัฒนาคอนเทนต์ท่องเที่ยวด้วย NFT
KTSC กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนชั้น 32 - 33 อาคารอินเตอร์เชนจ์ 21 พร้อมให้บริการสนับสนุนครบวงจรแก่สตาร์ทอัพที่เข้าร่วม ประกอบด้วย พื้นที่สำนักงานแบบ Co-working Space บริการให้คำปรึกษาด้านการจัดตั้งธุรกิจและกฎหมาย การจับคู่ธุรกิจกับพันธมิตรท้องถิ่น การดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนท้องถิ่น การสนับสนุนด้านการวิจัยและทดลองตลาด รวมถึงการช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาด โดยมีระบบการวัดความสำเร็จที่ครอบคลุมทั้งการเติบโตของรายได้ การสร้างงาน การขยายตลาด และผลกระทบระยะยาวต่ออุตสาหกรรม
ในอนาคต ศูนย์ KTSC กรุงเทพฯ มีแผนเชิงรุกในการขยายเครือข่ายพันธมิตรกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐของไทย เพื่อผลักดันนวัตกรรมในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างเกาหลีและไทย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากศูนย์ KTSC สิงคโปร์เพื่อดึงดูดการลงทุน และศูนย์ KTSC โตเกียวเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความร่วมมือกับท้องถิ่น
โดยมุ่งหวังให้ความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีเป็นต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้