การบูลลี่ นับเป็นสิ่งที่ทำร้ายความรู้สึกและส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ทั้งจากการทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงการใช้วาจา โดยภายในสังคมไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องการบูลลี่ที่ต้องหาทางแก้ไขโดยด่วน ซึ่งจากสถิติของกรมสุขภาพจิตเด็กไทยมีพฤติกรรมการบูลลี่ จนเคยอยู่อันดับ 2 ของโลก
โดยพบว่า 91% ของเด็กไทยเคยถูกกลั่นแกล้ง การถูกล้อเลียนต่างๆ นั่นจึงเป็นเหมือนการสร้างแผลภายในใจที่ไม่มีวันเลือนหาย หากไม่ได้สร้างการตระหนักรู้ถึงการเคารพความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งไม่เพียงแค่ในช่วงเด็กวัยเรียน คนไทยหลายคนที่ต้องเจอกับคำบูลลี่ด้วยเหตุผลไม่กล้าแสดงออก หรือตอบโต้อย่างชัดเจน จากพื้นฐานนิสัยคนไทยที่มีความเกรงใจ หรือกลัวว่าอีกฝ่ายจะมีความไม่พอใจ
นี่จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่อย่าง “เอฎา - ปุณศิรา เธียรวร” ในวัยเพียง 16 ปี ที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าลุย อย่างไม่รีรอ โดยลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงในการเคารพสิทธิผู้อื่นและกล้าปกป้องความรู้สึกของตัวเอง ด้วยนวัตกรรม “เกมการยินยอม” (Consent Game)
จากการได้เรียนไฮสคูลที่ Choate Rosemary Hall ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงทำให้เธอได้เรียนเกี่ยวกับการตระหนักรู้และเคารพถึงสิทธิของตนเองและสิทธิของผู้อื่น อีกทั้งยังได้รับตำแหน่ง “ผู้นำนักเรียน” (Student Leadership Position) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีบทบาทสำคัญในโครงการ Bystander Education Program ด้วยหน้าที่ในการสังเกตการณ์ และให้ความรู้แก่นักเรียน รวมถึงพูดคุยกับคณะครู เพื่อป้องกันการกระทำความผิด
ซึ่งจากประสบการณ์ในการเป็นผู้นำในไฮสคูล ทำให้เอฎามองเห็นถึงประโยชน์ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงการปกป้องสิทธิของตัวเอง จึงมีแรงบันดาลใจที่อยากจะตอกย้ำถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ของทุกคน ให้เด็กไทยกล้าเผชิญกับสิ่งที่ถูกต้อง
เกมการยินยอม (Consent Game) คืออะไร ?
เกมการยินยอม คือ เกมแห่งความเมตตา การเคารพ และความเห็นอกเห็นใจ โดยออกแบบมาเพื่อสอนถึงความสำคัญของการสื่อสารที่ชัดเจน ความเคารพซึ่งกันและกัน และการเข้าใจขอบเขตในความสัมพันธ์ ผ่านการแสดงบทบาทสมมติ การเล่าเรื่อง และกิจกรรมแบบโต้ตอบ โดยจะมีการจำลองสถานการณ์ต่างๆ และฝึกการโต้ตอบกัน
อาทิ การยืมของของเพื่อน การถูกล้อเลียนด้วยชื่อที่ไม่ชอบ การกดดันจากเพื่อน รวมถึงการต้องเผชิญกับความท้าทายทางสังคมอื่นๆ การถูกผู้ใหญ่หรือเพื่อนชักชวนไปในสถานที่ที่มีความเสี่ยง หรือการโดนชักชวนให้กระทำผิดกฎโรงเรียนหรือกฎหมาย หากต้องเจอกับสถานการณ์จำลองต่าง ๆ จะเลือกแสดงออกอย่างไรโดยที่ไม่ใช้คำพูด เช่น การแสดงออกทางสีหน้า เพื่อเข้าใจระดับความสบายใจของผู้อื่น
หลักสำคัญในการเล่นเกมนี้ต้องมี “การขอและให้การยินยอม” ก่อนที่จะเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวของใคร หรือก่อนจะตัดสินใจใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เป็นการสอนผ่านเกมให้นักเรียนได้ฝึกการตีความและฝึกการแสดงออกทางสีหน้าและภาษากาย ที่สามารถตอบสนองได้ทั้งการใช้วาจาและไม่ใช้วาจา เพื่อเป็นบทเรียนเกี่ยวกับการยินยอม ความเคารพ และการสื่อสารที่เหมาะสมกับวัย โดยในทุกครั้งที่จัดกิจกรรม จะมีการปรับแต่งเกมเพื่อให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรม
ความมุ่งมั่นและความตั้งใจของผู้นำรุ่นใหม่ ที่อยากให้สังคมไทยไร้การบูลลี่
ในการริเริ่มสร้าง “เกมการยินยอม” (Consent Game) ขึ้นมา เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างความเข้าใจถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดย เอฎา - ปุณศิรา กล่าวว่า “การเคารพ รวมทั้งมีความเข้าใจในสิทธิและความต้องการของผู้อื่นและของตนเอง จะช่วยสร้างรากฐานของชุมชนที่แข็งแกร่งมากขึ้น เอฎาอยากสร้างสิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจวิธีการเคารพขอบเขตของกันและกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ เกมการยินยอม หรือ Consent Game และเอฎาหวังว่าเกมนี้จะมอบทักษะที่จำเป็นให้กับคนรุ่นใหม่ อยากให้เด็กและเยาวชนไทยมีความมั่นใจในการที่จะสื่อสารถึงความต้องการของตนเองอย่างชัดเจนและให้เกียรติซึ่งกันและกัน”
แม้ปัจจุบันเอฎาจะอยู่ในวัยเรียนไฮสคูลที่อเมริกา แต่ในช่วงเวลาว่างและบินกลับมาบ้านเกิดที่เมืองไทย ได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เพื่อสังคม โดยได้จัดกิจกรรมภายในโรงเรียน 7 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดบุคคโล, โรงเรียนวัดมงคลวนาราม, โรงเรียนวัดนาคนิมิต โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม (ฝ่ายมัธยม), โรงเรียนวัดไทร, โรงเรียนวัดประเสริฐสุทธาวาส และ โรงเรียนแจงร้อนวิทยา โดยมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 700 คน พร้อมนำ “เกมการยินยอม” (Consent Game) มาร่วมการสร้างความตระหนักรู้ถึงการเคารพตัวเองและผู้อื่น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากนักเรียนเป็นอย่างดี
“ขอขอบคุณการต้อนรับที่อบอุ่นจากทุกโรงเรียนที่ได้เข้าไปจัดกิจกรรม ทั้งท่านผู้อำนวยการโรงเรียน และท่านรองผู้อำนวยการโรงเรียน คุณครูมากมาย และน้องๆ นักเรียนให้การต้อนรับและสนับสนุนกิจกรรมเกมการยินยอม (Consent Game) เป็นอย่างดี ในครั้งนี้ยังได้รับฟังความคิดเห็นของเด็กๆ ที่สะท้อนออกมาในมุมที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง จึงเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ทำให้เข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกของเด็กๆ มากขึ้น ถือว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก”
ความหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ก้าวเล็กๆ ที่มีความเชื่อว่าทำได้
จากความมุ่งมั่น และตั้งใจของ “เอฎา - ปุณศิรา” ในการคิดเกมการยินยอม (Consent Game) ขึ้นมา เชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ และเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างวัฒนธรรมของความเมตตา การเคารพ ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจซึ่งกันและกัน เริ่มต้นจากการปลูกฝังเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ โดยเอฎายังพร้อมจะเดินหน้าต่อเพื่อสร้างสังคมที่ดี และมองถึงการพัฒนาเกมการยินยอม (Consent Game) ในเวอร์ชันออนไลน์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงนักเรียนได้ทั่วประเทศ รวมถึงขยายไปในประเทศต่างๆ อีกด้วย
นี่เป็นอีกข้อที่ตอกย้ำว่า “อายุไม่ใช่สิ่งสำคัญ” หากมีความปรารถนาดีต่อสังคม เหมือนกับ “เอฎา - ปุณศิรา เธียรวร” สาววัย 16 ปี กล้าที่จะลุกขึ้นมาลุยและเดินหน้าในการสร้างแรงบันดาลใจ และขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม สมกับเป็นผู้นำเยาวชนที่เต็มไปด้วยความสามารถ