นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต, CFA รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (Chief Investment Officer) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงสิ้นปี 2567 ว่า
แม้การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ตามคาดการณ์ของตลาด แต่ Dot Plot กลับส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 2 ครั้งในปีหน้า (รวม 0.50%) ลดลงจากเดิมที่เคยส่งสัญญาณไว้ว่าจะลดถึง 4 ครั้ง (รวม 1.00%) ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อปี หลังปรับลดไปครั้งล่าสุดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยของเฟดที่สอดคล้องกับมุมมองตลาด กลับมาพร้อมกับการปรับประมาณการเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้สูงขึ้น จึงทำให้ทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดทุนเกิดความกังวล อย่างไรก็ดี บลจ.กสิกรไทยมองว่า ตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ถูกปรับลงและตัวเลข GDP ที่ถูกปรับขึ้น สะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดแรงงานยังไม่อยู่ในภาวะน่ากังวล จึงมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะ “Soft Landing” ทำให้ผลกระทบต่อการลงทุนตราสารหนี้ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าหวั่นวิตก
สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย บลจ.กสิกรไทยคาดว่า ธปท. อาจปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก 1-2 ครั้งในปี 2568 ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ตลาดคาดการณ์ ทว่าจังหวะเวลายังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อ โดยมีโอกาสเกิดขึ้นช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า ด้านนโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่อาจเน้นการลดภาษีรายได้และการขึ้นภาษีนำเข้า แม้อาจทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวช้าลง แต่ผลกระทบด้านเงินเฟ้อในไทยยังอยู่ในระดับจำกัด ส่วนหนึ่งมาจากภาวะอุปทานส่วนเกินของจีนที่ยังคงมีอยู่ ตลอดจนราคาน้ำมันโลกที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศยังเป็นบวกต่อตลาดตราสารหนี้ไทย เนื่องจากนโยบายการเงินไทยยังมีทิศทางผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด จึงเอื้อให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มปรับลดลงได้อีกจากระดับปัจจุบัน แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลาง-ยาวจะเริ่มปรับตัวลดลงบ้างแล้ว แต่ระดับอัตราผลตอบแทนในช่วง 10-15 ปี ที่ราว 2.25-2.50% ยังคงน่าสนใจเมื่อพิจารณาจากปัจจัยความเสี่ยงและศักยภาพในการถือครองระยะยาว
สำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนและมีความผันผวนต่ำ กองทุนเปิดเค ตราสารภาครัฐ ESG ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน (K-ESGSI-ThaiESG) ซึ่งบริหารโดย บลจ.กสิกรไทย ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยปัจจุบันมีขนาดกองทุนที่ 3,061.59 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2567) เน้นลงทุนอย่างน้อย 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนของภาครัฐไทย ได้แก่ พันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) พันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และพันธบัตรหรือหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability – Linked Bond) รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย รวมถึงการลงทุนบางส่วนในตราสารหนี้ เงินฝาก และตราสารเทียบเท่าเงินฝาก ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างสมดุลด้านสภาพคล่องและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเด่นของกองทุน K-ESGSI-ThaiESG คือพอร์ตมี Duration ค่อนข้างยาว (ระยะเวลาถัวเฉลี่ย 10 ปี 3 เดือน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567) ซึ่งน่าจะได้รับประโยชน์หากอัตราดอกเบี้ยไทยปรับลดลงอีก นอกจากนี้ กองทุนยังมีความยืดหยุ่นในการลงทุนในสินทรัพย์อื่นได้สูงสุดไม่เกิน 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการบริหารพอร์ต และมีผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ตรงในการบริหารกองทุนตราสารหนี้ระยะยาวแบบ Active จึงสามารถปรับตัวตามภาวะตลาดได้ดี อีกทั้งกองทุนยังมีอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการต่ำเพียง 0.2140% ต่อปี ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของกองทุนอยู่ที่ 0.2729%
“โดยสรุป ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงน่าสนใจ แม้อาจมีความกังวลจากทิศทางดอกเบี้ยโลกและนโยบายของสหรัฐฯ แต่ด้วยฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังเดินหน้าต่อเนื่อง และนโยบายการเงินที่อยู่ในระดับผ่อนคลาย ยังคงเอื้อให้ผลตอบแทนพันธบัตรไทยทรงตัวในระดับที่ดี ผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงและสนใจการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพ กองทุนเปิดเค ตราสารภาครัฐ ESG ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน (K-ESGSI-ThaiESG) จึงเป็นอีกทางเลือกที่ตอบโจทย์ ทั้งในมิติด้านผลตอบแทนและการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ควบคู่กัน” นางสาวธิดาศิริ กล่าวทิ้งท้าย.