มะเร็งปากมดลูกนับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับสี่ในผู้หญิงทั่วโลก และยังคงเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่มักถูกละเลย จากข้อมูลของศูนย์ HPV เผยว่าผู้หญิงไทยกว่า 9,000 คนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกในแต่ละปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 4,000 คน นอกจากนี้ มะเร็งปากมดลูกยังเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับสามในผู้หญิงไทย และเป็นอันดับสองในผู้หญิงอายุ 15 ถึง 44 ปี
วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (HPV) นับเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางสาธารณสุขที่สำคัญที่สุด โดยมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกและโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อ HPV อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัคซีนจะได้รับการยอมรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยอย่างชัดเจนแล้ว ความเชื่อผิด ๆ และข้อมูลที่คลาดเคลื่อนยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการยอมรับ โดยมหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จ (SGU) คณะแพทยศาสตร์ ในประเทศเกรนาดา หมู่เกาะเวสต์อินดิส ได้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อเท็จจริงเพื่อตอบโต้ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับวัคซีน HPV และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชน
วัคซีน HPV เหมาะสำหรับผู้หญิงเท่านั้น
แม้ว่ามะเร็งปากมดลูกจะมีผลกระทบต่อผู้หญิงเป็นหลัก แต่เชื้อ HPV ยังเชื่อมโยงกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งลำคอ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ การฉีดวัคซีนให้ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงไม่เพียงช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ HPV แต่ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่เด็กอายุ 9-14 ปี เพื่อให้ได้ผลการป้องกันที่ดีที่สุดก่อนที่เด็กจะมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อไวรัส
วัคซีน HPV ไม่ปลอดภัย
การวิจัยที่ยาวนานหลายทศวรรษและการฉีดวัคซีนหลายล้านโดสทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่าวัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น อาการเจ็บเล็กน้อยบริเวณที่ฉีดหรือไข้ต่ำ เป็นอาการชั่วคราวที่สามารถหายไปได้เองและไม่อาจเทียบกับประโยชน์ที่วัคซีนมอบให้ องค์กรกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เฝ้าติดตามและตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีน HPV อย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
วัคซีน HPV จำเป็นเฉพาะสำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์เท่านั้น
เชื้อ HPV ส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็ยังสามารถแพร่กระจายได้จากการสัมผัสผิวหนังต่อผิวหนังในลักษณะที่ไม่เกี่ยวกับเพศ การใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน หรือการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีการติดเชื้อ และในกรณีที่หายาก เชื้อ HPV อาจแพร่จากผู้ตั้งครรภ์ไปยังทารกขณะคลอดได้ โดยการแพร่กระจายที่หลากหลายนี้ทำให้การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับ HPV
การตรวจคัดกรองเป็นประจำและไม่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งไม่จะเป็นต้องฉีดวัคซีน
แม้ว่าการตรวจปากมดลูก (Pap smear) และการทดสอบ HPV จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจหาความผิดปกติในปากมดลูกแต่เนิ่น ๆ แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ HPV การฉีดวัคซีน HPV และการตรวจคัดกรองเป็นประจำมีความสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป วัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV หลายชนิด ขณะที่การตรวจคัดกรองช่วยตรวจพบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะเริ่มต้น
แตกต่างจากมะเร็งบางชนิดที่มีปัจจัยพันธุกรรมเป็นองค์ประกอบหลัก มะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ HPV มากกว่าการถ่ายทอดทางพันธุกรรม การติดเชื้อ HPV สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายช่องทาง ซึ่งทำให้การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ตาม
การให้ความรู้และเสริมพลังชุมชน
การให้ความรู้ด้านสาธารณสุขเป็นปัจจัยสำคัญในการขจัดความเชื่อผิด ๆ และส่งเสริมการรับวัคซีน HPV ให้มากขึ้น วัคซีน HPV ถือเป็นโอกาสสำคัญในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกและโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ HPV ในฐานะสถาบันระดับโลกที่มุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาและการตระหนักรู้ด้านสุขภาพ SGU สนับสนุนการดำเนินการเชิงรุก เช่น การฉีดวัคซีนและการตรวจคัดกรองเป็นประจำ เพื่อช่วยลดภาระจากโรคที่เกิดจาก HPV อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการให้ความรู้แก่ผู้นำในอนาคต SGU ตั้งเป้าที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้าง โดยทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถเป็นผู้นำในการส่งเสริมความตระหนักรู้และการป้องกันโรคในระดับโลก
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรมและหลักสูตรที่มีในคณะแพทยศาสตร์ของ SGU สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ SGU ได้ที่นี่