การมองอนาคตได้ชัดเจนที่สุด ก็ด้วยมาจากการมองย้อนกลับไปยังอดีตในสิ่งที่เกิดขึ้นมายิ่งไกลยิ่งดีและกับการคาดการณ์ไกลๆ (Foresight) ผู้เขียนสนใจทิศทางธุรกิจและการตลาด ในปี 2026 (พิมพ์ไม่ผิดครับ เพราะมองเพียงปี 2025 ก็เดี๋ยวเดียวเท่านั้น)
มิติแรก ดัชนีด้านดิจิทัลของประเทศไทย
ปัจจุบันนี้เป็นชีวิตที่อยู่กับเทคโนโลยีรอบตัว โดยเฉพาะการใช้มือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อดำเนินชีวิตและการทำงาน แล้วข้อมูลจริงๆ เป็นอย่างไร จากผลการสำรวจโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ.2567 (28 ตุลาคม 2567) ของ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศ ส่วนใหญ่ดีขึ้นในทุกมิติ เช่น
มิติที่สอง รูปแบบผู้ค้าออนไลน์-ผู้ประกอบการดิจิทัล
Sea (Group) เผยผล ‘การสำรวจ Online Seller Archetypes’ ในปี 2020 (In 2019 we surveyed a total of 42,000 sellers on Shopee, our pan-regional e-commerce platform) เพื่อจับอินไซต์ว่าบทบาทของอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มมากขึ้น
โดยผลสำรวจจากผู้ค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Shopee ประมาณ 42,000 ราย จากทั้งหมด 6 ประเทศคือประเทศไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย พบว่ารูปแบบผู้ค้าออนไลน์หรือผู้ประกอบการดิจิทัล แบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ The Homemaker, The Student, The Never-too-late, The Moonlighter และThe Highly-digital มีลักษณะเด่นที่ต่างกันดังนี้
1) The Homemaker Entrepreneurs (กลุ่มแม่บ้าน-พ่อบ้าน)
กลุ่มนี้ประกอบ ด้วยผู้หญิงที่เป็นแม่บ้าน ซึ่งมักจะมีอายุประมาณ 30 ปี และมีหน้าที่ดูแลครอบครัวโดยรายได้จากการขายออนไลน์จะถูกใช้เพื่อสนับสนุนครอบครัว (มีสมาชิกในครอบครัวโดยเฉลี่ย 4 คน)
2) The Student Entrepreneurs (กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา)
นักเรียนที่มีอัตราความอ่อนไหวด้านการเงินและเวลา นักเรียนมักจะใช้ e-commerce ถึง 59% ในการสร้างรายได้ ทั้งยังเป็นช่องทางในการทดลองไอเดียธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่มีต้นทุนต่ำและความเสี่ยงต่ำ มีความโดดเด่นในก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ
3) The Never-too-late Entrepreneurs (กลุ่มผู้ประกอบการมืออาชีพจากโลกออฟไลน์)
กลุ่มนี้ประกอบด้วยผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ขายแบบออฟไลน์มากกว่า 10 ปี ก่อนที่จะเริ่มขายออนไลน์ โดยผู้ประกอบการต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขันและความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีอยู่ แต่มองหาโอกาสขยายธุรกิจสู่ตลาดใหม่ๆ ซึ่งต้องการความช่วยเหลือสำหรับการสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่และการพัฒนาทักษะดิจิทัลด้วยความไม่พร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จึงมีสัดส่วนยอดขายบนอีคอมเมิร์ซโดยเฉลี่ยของผู้ค้ากลุ่มนี้อยู่เพียง 28% เท่านั้น
4) The Moonlighter Entrepreneurs (กลุ่มทำอาชีพเสริมคู่งานประจำ)
เป็นผู้ประกอบการที่มีงานประจำเต็มเวลา แต่ยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจออนไลน์ขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ มาเป็นอาชีพเสริมจนอาจกลายเป็นรายได้หลัก (มีมากถึง 71%) เนื่องจากกลุ่ม The Moonlighter มีความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาทำงาน และมีความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการการสนับสนุนด้านความรู้ทางธุรกิจจะขยายธุรกิจได้อีกมาก
5) The Highly-Digital (กลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์มืออาชีพ)
กลุ่มนี้เป็นคนช่วงอายุ 30 ปี เป็นผู้ประกอบการที่มีความก้าวหน้าที่สุดในด้านการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล ซึ่งมีความแอคทีฟบนอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มสูง บริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ได้อย่างดีและสร้างยอดขายจากช่องทางอีคอมเมิร์ซได้มากกว่า 50% ของยอดขายทั้งหมด โดย 66% ยินดีนำรายได้จาก e-commerce ไปเลี้ยงครอบครัวและ 57% นำรายได้ไปขยายธุรกิจ
ในปี 2026 ผู้เขียนใช้พื้นฐาน 5 รูปแบบผู้ค้าออนไลน์-ผู้ประกอบการดิจิทัลของปี 2020 ข้างต้น บวกการสังเคราะห์ทิศทางการค้าออนไลน์ออกมาเป็น ผู้ค้าออนไลน์เทพๆ ในลักษณะ 6 รูปแบบ ดังนี้
1) The Metaverse Seller
ผู้ค้าที่มีการใช้โลกเสมือนจริงในการขายสินค้า เช่น การเปิดร้านใน Metaverse ที่ให้ลูกค้าสามารถทดลองสินค้าเสมือนจริงและอาจสร้างตัวตนเสมือน (Avatar) เพื่อให้การช้อปปิ้งออนไลน์แปลกใหม่และมีความสมจริงยิ่งขึ้น
2) The AI-Driven Entrepreneur/The Automation Entrepreneur
ผู้ประกอบการที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเครื่องมือสำคัญแบบเต็มรูปในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งจะช่วยรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายช่องทางตั้งแต่พฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้า การวิเคราะห์ข้อมูลทางประชากรและแนวโน้มการตลาดเพื่อปรับปรุงกลยุทธ์ทางการตลาดและการขายให้แม่นยำขึ้น จุดเด่นคือเพิ่มประสิทธิภาพที่สูงขึ้นในการเข้าถึงลูกค้า การลดต้นทุนในกระบวนการต่างๆ และการเพิ่มยอดขายด้วยการทำตลาดแบบ Personalization
3) The Sustainable Seller
ผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเน้นขายสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ หรือสินค้าที่ผลิตโดยมีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทำให้ลูกค้ารู้สึกดีจากการเลือกซื้อสินค้า และมีโอกาสสร้างความภักดี (Brand Loyalty) กับลูกค้าที่ต้องการสนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืน
4) The Micro-Niche Specialist
กลุ่มที่เน้นขายสินค้าซึ่งตอบโจทย์ตลาดเฉพาะกลุ่มแบบเจาะจงเช่น สินค้าเฉพาะทางที่หายาก กลุ่มนี้มีความสามารถในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจตลาดขนาดเล็ก (Niche Market) ที่มีความต้องการเฉพาะเจาะจงสูง และสามารถสร้างความภักดีในกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น
5) The Social Commerce Star
กลุ่มที่มีพื้นฐานจากการสร้างคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย และมีความสามารถในการขายสินค้าแบบ Live Commerce โดยอาจเป็นกลุ่มผู้ที่มีผู้ติดตามสูง หรือมี Micro-Influencer เข้ามาทำการขายผ่านไลฟ์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งเพิ่มความสำคัญต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น
6) The Subscription Model Seller
กลุ่มที่เน้นการขายผ่านโมเดลการสมัครสมาชิก(อาจมีค่าสมัคร) ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นและทวีสูงยิ่งขึ้น ผู้ค้ากลุ่มนี้จะมุ่งเน้นให้บริการตามความต้องการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ประจำวัน หรือบริการด้านความงามที่ลูกค้าต้องการใช้ประจำ
สรุปปี 2026 แม้รูปแบบผู้ค้าออนไลน์จะใช้พื้นฐานปี 2020 แต่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของตลาดจะทำให้มีแนวโน้มผู้ค้าออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นในลักษณะเฉพาะตัวและตอบโจทย์ลูกค้าในยุคดิจิทัลได้มากขึ้นจะผลักดันให้ผู้ค้าออนไลน์ก้าวเข้าสู่ขั้นเทพๆ ได้อย่างโดดเด่น
บทความจากนิตยสาร MarketPlus ฉบับที่ 171 November 2024