Allianz ชี้ “อัคคีภัยและการระเบิด” ขึ้นแท่นความเสี่ยงธุรกิจไทยอันดับ 1 ปี 2025
16 Jan 2025
  • อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความกังวลทางธุรกิจอันดับหนึ่งในปีหน้า (48%)
  • ภัยธรรมชาติ (36%) และการหยุดชะงักทางธุรกิจ (30%) อยู่ในอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ
  • การหยุดชะงักทางธุรกิจ เหตุการณ์ทางไซเบอร์ และภัยธรรมชาติเป็นความเสี่ยงสูงสุดทั้งในระดับโลกและในเอเชีย

 

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของธุรกิจในประเทศไทยในปี 2568 ขึ้นจากอันดับ 4 มาอยู่ที่อันดับ 1 ตามรายงาน Allianz Risk Barometer ภัยธรรมชาติอยู่ในอันดับ 2 จากการคาดการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม ซึ่งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ในขณะที่การหยุดชะงักทางธุรกิจยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญในอันดับ 3

 

ในขณะที่ความเสี่ยงทางธุรกิจที่สูงที่สุดของโลกและเอเชีย ได้แก่ การหยุดชะงักทางธุรกิจ เหตุการณ์ทางไซเบอร์ และภัยธรรมชาติ จากรายงาน Allianz Risk Barometer ประจำปีนี้ ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงลึกของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงกว่า 3,700 คนจากกว่า 100 ประเทศ

 

 

วาเนสสา แม็กเวล Allianz Commercial Chief Underwriting Officer กล่าวว่า "ปี 2567 เป็นปีที่ไม่ปกติในแง่ของการบริหารความเสี่ยง และรายงาน Allianz Risk Barometer ประจำปีสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่  ปีนี้แตกต่างจากปีอื่นๆ ตรงที่ ความเสี่ยงในอันดับสูงๆ สัมพันธ์กัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีใหม่ กฎระเบียบ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์มีความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น ทำให้สาเหตุและผลที่ตามมาซับซ้อนมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องใช้แนวทางแบบองค์รวมในการบริหารความเสี่ยงและพยายามพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัวอย่างสม่ำเสมอ

 

คริสเตียน แซนดริก Regional Managing Director of Allianz Commercial Asia กล่าวว่า "การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับบริษัทในภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียมีส่วนในการค้าโลกและในระดับภูมิภาคมากขึ้น การหยุดชะงักทางธุรกิจยังมักเกิดจากเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ทางไซเบอร์หรือภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงสูงสุดในภูมิภาค ท่ามกลางความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นและมีความผันผวน ธุรกิจต้องใช้แนวทางแบบองค์รวมในการบริหารความเสี่ยงและสร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานและมาตรการรับมือมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การป้องกันความสูญเสีย การใช้ซัพพลายเออร์หลายราย การโอนความเสี่ยงทางเลือก และนโยบายประกันภัยระดับนานาชาติ"

 

 

ลาร์ส ไฮบุทสกี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า "อัคคีภัยและความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง เป็นความกังวลหลักของบริษัทในประเทศไทย เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการหยุดชะงักทางธุรกิจและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ธุรกิจต้องประเมินและปรับปรุงแนวทางการบรรเทาความเสี่ยงจากอัคคีภัยอย่างรอบคอบและสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียจากเหตุการณ์ใดๆ เมื่อเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ภัยธรรมชาติและการหยุดชะงักทางธุรกิจจึงกลายเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ในประเทศไทย สิ่งนี้ตอกย้ำความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น รวมถึงมาตรการโอนความเสี่ยงเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการหยุดชะงักทางธุรกิจที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้"

 

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความเสี่ยงอันดับ 1

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอันดับหนึ่งในประเทศไทย โดยขึ้นจากอันดับ 4 มาเป็นอันดับ 1 ความรุนแรงของภัยนี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างมากและส่งผลให้การฟื้นตัวใช้เวลานานมากขึ้นเมื่อเทียบกับภัยด้านอื่นๆ โรงงานที่เสียหายอาจใช้เวลาหลายปีในการสร้างใหม่และกลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มกำลัง

 

ในปี 2567 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอัคคีภัยและการระเบิดหลายเหตุการณ์ในประเทศไทยที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย และธุรกิจหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมีที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกของไทย ระเบิดที่โรงงานเหล็กในจังหวัดระยอง เพลิงไหม้โรงงานสารตั้งต้นพลาสติกในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และระเบิดคลังดอกไม้ไฟในภาคกลาง

 

อลิอันซ์ คอมเมอร์เชียล วิเคราะห์การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัยการหยุดชะงักทางธุรกิจมากกว่า 1,000 รายในช่วงห้าปีซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2566 (มูลค่าเกิน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และพบว่าอัคคีภัยเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเรียกร้องค่าสินไหมเหล่านี้ และคิดเป็นมูลค่ามากกว่าหนึ่งในสามของมูลค่าการเรียกร้องค่าสินไหมทั้งหมด (36%)

 

ภัยธรรมชาติยังคงเป็นความกังวลหลัก

ภัยธรรมชาติจัดอยู่ในอันดับความเสี่ยงที่สำคัญเป็นอันดับสองในประเทศไทย ซึ่งเเป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูงที่สุดในโลก เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนมากกว่า 180,000 ครัวเรือนและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรม โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 4.34 หมื่นล้านบาท (1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติที่มีหน้าที่ประสานงานการดำเนินงานเพื่อการบรรเทาทุกข์และป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ

 

ในเอเชีย ภัยธรรมชาติยังคงเป็นความเสี่ยงในอันดับ 3 โดยมีผู้ตอบข้อนี้ 27% อุณหภูมิของภูมิภาคเอเชียสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้นจากน้ำท่วม พายุ และคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น ภัยธรรมชาติเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งเผชิญกับแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดในคาบสมุทรโนโตะ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียที่มีประกันภัยมูลค่าสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงในฮ่องกง ซึ่งประสบกับฝนตกหนักที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเมื่อ 140 ปีที่แล้วจากไต้ฝุ่นไห่ขุย

 

ภัยพิบัติทางธรรมชาติยังคงเป็นความเสี่ยงในอันดับที่ 3 ของโลกโดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 29% ปี 2567 นับเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันที่ความสูญเสียที่มีประกันภัยมีมูลค่าสูงเกินหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2567 ซึ่งคาดว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ เป็นปีแห่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง มีพายุเฮอริเคนและพายุรุนแรงในอเมริกาเหนือ น้ำท่วมรุนแรงในยุโรป และภัยแล้งในแอฟริกาและอเมริกาใต้

 

การหยุดชะงักทางธุรกิจสัมพันธ์กับความเสี่ยงด้านอื่นอย่างมาก

การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงอันดับ 3 ในประเทศไทย โดยธุรกิจต่างๆ เผชิญความเสี่ยงจากหลายด้าน การหยุดชะงักทางธุรกิจสัมพันธ์อย่างมากกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น น้ำท่วมในเดือนสิงหาคมและกันยายนปี 2567 ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 491 ล้านบาท (14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลกมีปริมาณการผลิตยางพาราลดลง 30% ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

 

ธุรกิจในประเทศไทยยังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในระดับโลก เช่น การเข้ามาของสินค้านำเข้าราคาถูกซึ่งส่งผลให้โรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้น 40% ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ถึงมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับ 12 เดือนก่อนหน้า ผู้ผลิตรายเล็กประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นและค่าแรงที่สูง

 

การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในเอเชีย อยู่ในสามอันดับแรกในทุกประเทศและเขตการปกครอง และเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในจีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นถึงการหยุดชะงักอย่างรุนแรงของห่วงโซ่อุปทานในช่วงระหว่างและหลังการระบาดของโควิด 19

 

ในระดับโลก การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงในอันดับ 1 หรือ 2 ในการจัดอันดับความเสี่ยงของอลิอันซ์ทุกปีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงรักษาตำแหน่งอันดับ 2 ในปี 2568 โดยมีผู้ตอบข้อนี้ 31% โดยทั่วไปแล้วการหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นผลมาจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การโจมตีทางไซเบอร์หรือระบบล่ม การล้มละลาย หรือความเสี่ยงทางการเมือง เช่น ความขัดแย้งหรือความไม่สงบในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจตามปกติ หลายเหตุการณ์ในปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าทำไมบริษัทต่างๆ ยังคงมองว่าการหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นภัยคุกคามหลักต่อโมเดลธุรกิจของพวกเขา การโจมตีของกลุ่มฮูธิในทะเลแดงทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักจากการเปลี่ยนเส้นทางของเรือขนส่งสินค้า นอกจากนี้ เหตุการณ์เช่นการพังทลายของสะพาน Francis Scott Key ในบัลติมอร์ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับโลกและท้องถิ่น การวิเคราะห์ของ Circular Republic ร่วมกับอลิอันซ์และองค์กรอื่นๆ พบว่าการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบในระดับโลก จะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุก 1.4 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้น การหยุดชะงักเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ตั้งแต่ 5% ถึง 10% ของต้นทุนผลิตภัณฑ์ และทำให้เกิดการหยุดทำงานในด้านต่างๆ เพิ่มเติม

 

 

 

[อ่าน 59]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต เฉลิมฉลองวันเด็กผ่านกิจกรรม 
DIY Your Bingsu
HONOR เปิดตัว HONOR X9c 5G สมาร์ทโฟนที่ผสานความทนทานและดีไซน์ล้ำสมัย
บางจากฯ ลงนาม MOU Advance Vending ให้บริการ Vending Machine ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก
โอกาสสำคัญที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วมงาน WORLD EXPO 2025 OSAKA, KANSAI, JAPAN
CKPower เดินหน้าส่งไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รุกธุรกิจขาย RECs รองรับตลาดไทย-ต่างประเทศ
กรุงศรี ไพรเวท แบงก์กิ้ง จัดสัมมนาเปิดมุมมองการลงทุน ‘2025 and Beyond: Power Dynamics after Trump Era’
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved