ธนาคารกรุงไทย ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 43,856 ล้านบาท เน้นการเติบโตตามยุทธศาสตร์อย่างยั่งยืน บริหารพอร์ตอย่างสมดุล สินเชื่อโต 4.7% จัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น รักษาระดับเงินสำรองในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพ และขยายตัวไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-shaped Economy โดยมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก และได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 67 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ และมาตรการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงภาคการส่งออกที่เติบโตเกิดคาดการณ์ จากการเร่งสั่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ
อีกทั้ง ภาคครัวเรือนมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง ภาคการผลิตและภาคการส่งออกกำลังเผชิญกับการตีตลาดของคู่แข่งต่างชาติ ปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอลงท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ธุรกิจ SME บางส่วนยังคงเปราะบางและขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวจึงทำให้ฟื้นตัวได้ช้า อย่างไรก็ตาม ธนาคารดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยเหลือลูกค้าประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก ทำให้สามารถประคับประคองลูกหนี้ได้ อีกทั้งยังได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านการบริหารความเสี่ยงและการลงทุน รวมถึงการบริหารพอร์ตเพื่อค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 43,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ถ้าไม่รวมรายการตั้งสำรองสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันที่มีแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมค่าลง ที่เกิดขึ้นไตรมาส 4ปี 2566 (กำไรสุทธิเติบโตร้อยละ 19.8 เมื่อเทียบกับปี2566) ธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมบริหารจัดการ Portfolio อย่างสมดุล ให้ความสำคัญกับการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ และรักษา Coverage ratio ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ธนาคารมีสินเชื่อที่เติบโตร้อยละ 4.7 ส่วนใหญ่จากการขยายตัวในกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ของธนาคาร สินเชื่อภาครัฐ และการสนับสนุนนโยบายรัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และการจัดการหนี้ ตามแนวทาง Responsible Lending ขณะที่รายได้จากการดำเนินงานขยายตัวร้อยละ 6.4 ส่วนใหญ่จากค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารและบริษัทย่อย ผลิตภัณฑ์ธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงรายได้จากหนี้สูญรับคืนสะท้อนนโยบายเชิงรุกในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการติดตามหนี้และการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร มุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ มี Cost to Income ratio อยู่ที่ร้อยละ 43.2 ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวจากการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมรับการเติบโตของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต
ธนาคารยังคงบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น มีสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับควบคุมได้ดีที่ 95,065 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.4 จากสิ้นปี 2566 และมี NPLs Ratio ร้อยละ2.99 ลดลงจากสิ้นปี 2566 ให้ความสำคัญกับการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ รักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 188.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 181.3 จากสิ้นปี เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
ทั้งนี้ผลประกอบการในไตรมาส 4/2567 ได้สะท้อนผลกระทบของลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่งที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการและมีการแปลงหนี้เป็นทุนบางส่วนตามแผนฟื้นฟูดังกล่าวแล้ว
ในไตรมาสที่ 4/2567 เทียบกับไตรมาส 4/2566 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 10.475 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 หากไม่รวมการตั้งสำรองสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันที่มีแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมค่าลง ที่เกิดขึ้นไตรมาส 4/2566 (กำไรสุทธิเติบโตร้อยละ 71.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2566) สินเชื่อเติบโตร้อยละ 4.7 จากการขยายตัวของสินเชื่อในกลุ่มยุทธศาสตร์ บริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ มี Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 45.4 เทียบกับไตรมาส 3/2567 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงร้อยละ 5.7 โดยหลักจากรายได้จากการดำเนินการลดลง จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและจากรายการเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน ซึ่งสะท้อนภาวะตลาด ในขณะที่สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 5.2 รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปี 2567 ธนาคารกรุงไทย ขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” พร้อมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อก้าวสู่ธนาคารเพื่อความยั่งยืน ทำให้ธนาคารได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ในระดับ “AAA” ซึ่งเป็นระดับสูงสุดจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2 ปีต่อเนื่อง และสร้างสถิติใหม่คว้า 88 รางวัลจากเวทีระดับสากลและองค์กรชั้นนำในประเทศ
นอกจากนี้ ธนาคารมุ่งมั่นขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง ทั้งโครงการสินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้กลุ่มเปราะบางสามารถประคองตัว รักษาสินทรัพย์สำคัญต่อความมั่นคงของชีวิตและธุรกิจครัวเรือน เป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้น
ปี 2568 เป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ โดยศูนย์วิจัย Krungthai Compass ประเมินเศรษฐกิจไทยโต 2.7% ซึ่งยังคงต่ำกว่าศักยภาพ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ทั้งเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ หนี้ครัวเรือนสูง ความเหลื่อมล้ำ และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ
อีกทั้ง ประเทศไทยเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามการค้าระลอกใหม่ จากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น จากภาวะ Oversupply ของสินค้าจีน และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่จุดเปลี่ยน (Inflection Point) ที่ต้องการการปรับตัวอย่างเร่งด่วน และ ในปีนี้ธนาคารยังมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด “Corporate Value Creation เสริมทักษะ สร้างคุณค่า สู่อนาคต” เสริมสร้างและพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นในอนาคต (Future Skill) ให้แก่พนักงาน ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าของธนาคารในทุกมิติ เพื่อสร้างการเติบโตและมูลค่าทางเศรษฐกิจบนความไว้วางใจของลูกค้า นำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต