ในยุคปัจจุบันนี้มีธุรกิจใหม่ๆ แบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแบรนด์สินค้าบริการต่างๆ ก็พยายามนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เป็นลูกค้าของตนให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากแบรนด์ใดสามารถนำเสนอจุดเด่นของสินค้าบริการที่ไม่เหมือนใครและมีการสื่อสารไปยังผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้เกิดการรับรู้และจดจำได้ ก็เรียกได้ว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
การที่เจ้าของธุรกิจและนักการตลาดเข้าใจจุดแข็งที่มีความโดดเด่นและแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ และสามารถสร้างให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเกิดการจดจำได้นั้น เรียกว่า การวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) ซึ่งความสำคัญของการวางตำแหน่งแบรนด์ (Brand Positioning) นี้จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจและนักการตลาดสามารถเปลี่ยนกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายให้กลายเป็นลูกค้าที่มีความภักดีในแบรนด์สินค้าบริการได้ หากสามารถทำให้สินค้าบริการของแบรนด์นั้นเกิดคุณค่าในสายตาของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายและหันมาซื้อสินค้าบริการของเราอย่างเต็มใจ ซึ่งเข้าไปลึกถึงจิตใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายก็จะสามารถทำให้กลายเป็นลูกค้าของเราได้ในที่สุด
ในฉบับนี้ การตลาด 101 จะขอนำเสนอบทความเกี่ยวกับการวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) ว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรในยุคปัจจุบัน และมีขั้นตอนเบื้องต้นในการวางตำแหน่งของแบรนด์อย่างไรบ้าง ติดตามกันได้เลยครับ
การวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) คืออะไร
การวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) คือ การสร้างภาพลักษณ์สินค้าบริการแบรนด์ของเราให้สามารถเข้าไปยึดครองพื้นที่ในใจของผู้บริโภคกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ โดยการนำเสนอสินค้าบริการ ที่สะท้อนถึงจุดเด่นหรือคุณค่าของสินค้าบริการ ผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เพื่อผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเกิดการรับรู้และจดจำแบรนด์ได้ รวมไปถึงการทำให้เกิดการตัดสินใจซื้ออีกด้วย
ซึ่งในยุคปัจจุบันที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูง การวางตำแหน่งของแบรนด์ให้สามารถครองใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของธุรกิจและนักการตลาดความเข้าใจเพื่อใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดและวางแผนงานให้ธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้
3 ขั้นตอนเบื้องต้นในการวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning)
เจ้าของธุรกิจและนักการตลาดต้องทำความเข้าใจในสินค้าบริการของตนเอง เรามีจุดแข็ง-จุดอ่อน เรื่องใด กำหนดพันธกิจ คุณค่าของแบรนด์ที่ชัดเจน ว่าแบรนด์เราจะทำอะไรและไม่ทำอะไร สร้างการสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเกิดการจดจำรูปแบบใด
และสิ่งที่เจ้าของธุรกิจและนักการตลาดกำหนดขึ้นมานี้ ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมีการตอบรับและรู้สึกอย่างไร เรื่องไหนบ้างที่ดี เรื่องไหนบ้างที่ไม่ดี และจุดไหนบ้างที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเห็นคุณค่าแตกต่างจากคู่แข่งเจ้าอื่นๆ
เพื่อให้เราเข้าใจจุดแข็ง-จุดอ่อนของแบรนด์ได้มากขึ้น และสามารถสื่อสารไปยังผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเนื้อหาในการสื่อสารควรคำนึงถึง ความเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ก็จะช่วยให้เกิดการจดจำได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
หลังจากที่เข้าใจจุดแข็ง-จุดอ่อนของแบรนด์แล้ว เจ้าของกิจการและนักการตลาดต้องวิเคราะห์สภาพตลาดเพื่อทำความเข้าใจถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมที่แบรนด์ลงไปแข่งขันว่าตอนนี้เป็นอย่างไร มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางไหน รวมถึงการวิเคราะห์ความสามารถของแบรนด์คู่แข่งขัน ในเรื่องสินค้าบริการว่า มีจุดแข็ง-จุดอ่อน และมีการวางกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างไร รวมถึงความสามารถในการส่งมอบคุณค่า (Value) ทำให้กับลูกค้าทำให้ลูกค้ารู้สึกดีหรือประทับใจอะไรบ้าง
เพื่อให้เราสามารถวางตำแหน่งของแบรนด์ให้มีความแตกต่างและไม่เหมือนใคร เพื่อให้สามารถเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
ขั้นตอนนี้เจ้าของกิจการและนักการตลาดควรทำความเข้าใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ว่าเขามีความต้องการสินค้าบริการเพื่อใช้ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างไร มีปัญหาเรื่องใดเกี่ยวกับการใช้สินค้าบริการอยู่บ้าง และมีสินค้าบริการอะไรที่ยังไม่มีแบรนด์ใดในตลาดสามารถตอบโจทย์ความต้องการหรือแก้ปัญหาของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้เลย
และลองพิจารณาดูว่าสินค้าบริการแบรนด์ของเรานั้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการหรือช่วยแก้ปัญหาของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายนั้นได้อย่างไรบ้าง หรือเราสามารถพัฒนาสินค้าบริการใหม่ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์และสอดคล้องกับความต้องการนั้นได้หรือไม่ เป็นต้น
ซึ่งหากแบรนด์สินค้าของเราสามารถตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้โดยที่ยังไม่มีคู่แข่งรายใดในตลาดสามารถทำได้ นั่นคือโอกาสอันนี้ที่เราจะสามารถกำหนดเอกลักษณ์ของแบรนด์เพื่อสร้างการจดจำให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ยาก
ซึ่งการที่เจ้าของกิจการและนักการตลาดเข้าใจความสำคัญของการวางตำแหน่งของแบรนด์และ 3 ขั้นตอนเบื้องต้นในการวางตำแหน่งของแบรนด์ที่กล่าวไปข้างต้นนี้ ก็จะช่วยให้เห็นภาพในการวางตำแหน่งของแบรนด์เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขันรายอื่นๆ ในตลาดได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นและสามารถครองใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ยาก ลองนำไปใช้กันดูนะครับ
บทความจากนิตยสาร MarketPlus ฉบับที่ 172