
Forever 21 แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ได้ยื่นขอล้มละลายเป็นครั้งที่สองในรอบ 6 ปี พร้อมเตรียมปิดร้านค้าทุกสาขาในประเทศ ถือเป็นการสิ้นสุดยุคของแบรนด์ที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของเสื้อผ้าแฟชั่นราคาจับต้องได้ที่ครองใจคนรุ่นใหม่มานานหลายทศวรรษ
จากร้านเล็กๆ สู่จักรวรรดิฟาสต์แฟชั่น
Forever 21 ก่อตั้งขึ้นในปี 1984 โดยคู่สามีภรรยาชาวเกาหลีใต้ โด วอน ชาง และ จิน ซุก ชาง ที่อพยพมาสหรัฐอเมริกาและเริ่มต้นธุรกิจด้วยร้านเสื้อผ้าเล็ก ๆ ชื่อ Fashion 21 ในลอสแอนเจลิส ภายในเวลาไม่กี่ปี ธุรกิจของพวกเขาขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลายเป็น Forever 21 ที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยกลยุทธ์ขายเสื้อผ้าแฟชั่นอัปเดตไว ราคาย่อมเยา และขยายสาขาไปยังห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วอเมริกา
ในยุคทองของแบรนด์ Forever 21 มีร้านค้ามากกว่า 800 แห่งใน 57 ประเทศ และสร้างรายได้มหาศาลจากกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ที่มองหาแฟชั่นที่เปลี่ยนไวตามเทรนด์ แต่เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป บวกกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ แบรนด์ต้องเผชิญความท้าทายที่หนักหน่วง
พ่ายศึกฟาสต์แฟชั่นยุคใหม่ ถูก Shein-Temu ถล่มราบคาบ
Forever 21 ล้มละลายครั้งแรกในปี 2019 เนื่องจากภาระหนี้สินมหาศาล การขยายสาขาเกินตัว และยอดขายที่ลดลงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น แม้แบรนด์จะพยายามฟื้นตัวด้วยการลดขนาดธุรกิจและปรับกลยุทธ์ แต่การแข่งขันในตลาดฟาสต์แฟชั่นกลับทวีความรุนแรงขึ้น
โดยเฉพาะจาก Shein และ Temu ที่ใช้ช่องโหว่ทางภาษีนำเข้าสินค้าขนาดเล็ก (de minimis exemption) เพื่อลดต้นทุนและตั้งราคาถูกกว่าคู่แข่ง ทำให้ Forever 21 ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ได้
นอกจากนี้ ต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกที่สูงขึ้น จำนวนผู้เข้าห้างที่ลดลง และกระแสความนิยมของแฟชั่นที่ยั่งยืน (sustainable fashion) ที่ทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกซื้อแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็เป็นปัจจัยเร่งให้แบรนด์เข้าสู่ภาวะวิกฤติอีกครั้ง
ปิดตำนาน พร้อมการลดราคาครั้งใหญ่
แม้จะพยายามปรับตัว แต่ Forever 21 ก็ไม่สามารถหาทางออกที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจได้ ส่งผลให้ต้องยื่นขอล้มละลายเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2025 และเตรียมปิดร้านค้าทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา โดยจะเริ่มต้นการขายลดราคาปิดกิจการในร้านค้ากว่า 350 แห่ง ถือเป็นจุดสิ้นสุดของหนึ่งในแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก
[อ่าน 1,156]