แนะใช้จังหวะฟื้นฟูจากแผ่นดินไหว สร้างความเชื่อมั่น
ตัวแทน กกร. ระบุว่า “นี่คือช่วงเวลาแห่งโอกาส (Moment of Opportunity) ที่ไทยควรใช้เพื่อปฏิรูประบบข้อมูลและการจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะการเปิดเผยผลการสำรวจความปลอดภัยของอาคารและโครงสร้างพื้นฐานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยวกลับคืนมา”
ทั้งนี้ กกร. เห็นว่าการบูรณาการข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้การวางแผนรับมือภัยพิบัติในอนาคตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กังวลภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ กระทบไทยโดยตรง
ขณะเดียวกัน กกร. แสดงความกังวลต่อแนวนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ที่เตรียมบังคับใช้ ซึ่งมีแนวโน้มกระทบประเทศคู่ค้าที่เกินดุลกับสหรัฐฯ รวมถึงไทย
“ไทยถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนโยบายใหม่นี้ เนื่องจากมีส่วนต่างภาษีศุลกากรในระดับสูงกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี” แหล่งข่าวจาก กกร. กล่าว
นอกจากผลกระทบโดยตรง กกร.ยังชี้ว่า ต้องจับตาผลกระทบทางอ้อมผ่านจีน ซึ่งเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานกับไทยในหลายอุตสาหกรรม อาจนำไปสู่การไหลบ่าของสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดไทย หรือการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากการเจรจาการค้า
เตือนจีดีพีปี 68 เสี่ยงต่ำกว่าคาด
แม้ กกร. จะยังคงกรอบประมาณการจีดีพีปี 2568 ที่ 2.4-2.9% แต่ยอมรับว่า ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจกดจีดีพีให้ลดลงอีก 0.2-0.6%
“เศรษฐกิจไทยต้องเสริมภูมิคุ้มกันจากภายใน ผ่านนโยบายระยะสั้นเพื่อลดแรงกระแทกจากภายนอก และนโยบายระยะยาวที่เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” ตัวแทน กกร. กล่าว
ค้านปรับโครงสร้างราคาก๊าซ ผลักภาระภาคอุตสาหกรรม
ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่ กกร. ให้ความสำคัญคือ แนวคิดการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนก๊าซของภาคอุตสาหกรรมพุ่งขึ้นถึง 60% ส่งผลต่อต้นทุนรวมภาคอุตสาหกรรมกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี
“เราเข้าใจว่าภาครัฐต้องการดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง แต่ไม่ควรใช้วิธีผลักภาระไปยังอีกภาคส่วนโดยตรง การแก้ปัญหาควรมองถึงต้นตอของโครงสร้างพลังงาน ไม่ใช่แค่การปรับตัวเลข” แหล่งข่าวจาก กกร. ย้ำ
พร้อมแนะนำให้ภาครัฐศึกษาแนวทางและช่วงเวลาดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม