OR ผนึกกำลังกับ 10 กระทรวงและผู้ประกอบการชุมชนกว่า 487 ราย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "พลิกโฉม OTOP ไทยสู่โลกออนไลน์และ Modern Trade" ขยายช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP ผ่าน โครงการ "ไทยเด็ด" ในเครือข่ายสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และคาเฟ่ อเมซอน ทั่วประเทศ ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้ชุมชน 200 ล้านบาทในปี 2568 พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากไทยสู่การค้าสมัยใหม่อย่างยั่งยืน
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “พลิกโฉม OTOP ไทยสู่โลกออนไลน์ และ Modern Trade” ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) โดยมีผู้แทนจาก OR กระทรวงต่างๆ และผู้ประกอบการชุมชนกว่า 487 รายเข้าร่วมงาน ณ ลานเอนกประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารรัฐประศาสนภักดี กรุงเทพมหานคร
OR ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนมาโดยตลอด จึงได้จัดโครงการ “ไทยเด็ด” เพื่อสนับสนุนสินค้าดี สินค้าเด็ดทั่วไทย โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำมาจำหน่าย ณ “ร้านไทยเด็ด หรือ มุมสินค้าไทยเด็ด” ในสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และคาเฟ่ อเมซอน ที่มีครอบคลุมทั่วประเทศ นับเป็นอีกช่องทางในการนำสินค้าชุมชนที่ผ่านการคัดสรรแล้วว่าเป็น “สินค้าดี สินค้าเด็ด” ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีสินค้าชุมชนที่เข้าร่วมรายการ กว่า 1,100 รายการ
ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้จุดแข็งของทุกภาคส่วนมาผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ OTOP เข้าถึงตลาดที่กว้างยิ่งขึ้น โดย OR จะร่วมสนับสนุนพื้นที่ในการจัดวางและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ที่ OR กำหนด เพื่อจำหน่ายเป็น "สินค้าไทยเด็ด" พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ความร่วมมือและผลิตภัณฑ์ OTOP รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การเข้าร่วมงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP และการอบรมผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เพื่อเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในไทย (Modern trade) เป็นต้น
ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) โครงการไทยเด็ดสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชุมชนแล้วถึง 60 ล้านบาท และตั้งเป้าสร้างรายได้รวมตลอดปี 2568 ที่ 200 ล้านบาท ซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการชุมชน และผลักดันให้ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยก้าวสู่เวทีการค้าสมัยใหม่อย่างยั่งยืน