หลังจากมีกระแสข่าวลือออกมาสักระยะแล้ว ล่าสุดเป็นที่ชัดเจนแล้ว สำหรับดีล ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) โดยตัวแทนผู้ถือหุ้นหลักพร้อมด้วยผู้บริหารจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ได้แถลงข่าวถึงการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
บันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่าง ING Groep N.V. (ING), บมจ.ทุนธนชาต (TCAP), Bank of Nova Scotia (BNS), ธนาคารธนชาต (TBANK) และธนาคารทหารไทย (TMB)
ทั้งนี้สัดส่วนผู้ถือหุ้น คาดว่า ING จะเป็นผู้ถือหุ้นหลัก เช่นเดียวกันกับ TCAP โดยที่แต่ละรายจะมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 20% ภายหลังการรวมกิจการ และคาดว่ากระทรวงการคลังจะคงสถานะผู้ถือหุ้นใหญ่ต่อไปเช่นกัน สำหรับโครงสร้างการรวมกิจการ จะมีการตกลงร่วมกันต่อไปในภายหลัง ซึ่งคาดว่าจะใช้วิธีการโอนกิจการทั้งหมด เพื่อให้ธนาคารภายหลังการรวมกิจการอยู่ภายใต้หลักนิติบุคคลเดียวตามกฎสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ (Single Presence Rule) ของธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับมูลค่าการควบรวมกิจการจะสูงถึง 1.30-1.40 แสนล้านบาท โดยส่วนหุ้นเพิ่มทุน ที่ TMB เสนอขายให้กับ TCAP และ BNS รวมถึงผู้ถือหุ้นรายย่อยมีมูลค่าประมาณ 50,000-55,000 ล้านบาท ส่วนเงินทุนที่เหลืออีก 40,000-45,000 ล้านบาท จะเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคาร รวมทั้งเสนอขายให้กับประชาชน หรือนักลงทุนรายใหม่
คาดว่าหลังการควบรวมกิจการ สินทรัพย์ของธนาคารจะอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท และมีฐานลูกค้ารวม 10 ล้านราย และจะขึ้นสู่อันดับที่ 6 ของธนาคารพาณิชย์ไทย และหลังจากนี้จะมีการเปลี่ยนชื่อทางการค้าใหม่ โดยคาดว่าจะควบรวมกิจการเสร็จสิ้นภายในปีพ.ศ. 2562
อย่างไรก็ตามด้วยจุดแข็งของธนาคารธนชาต ด้านการให้บริการสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งเป็นผู้นำอันดับ 1 ของตลาด เชื่อว่าเมื่อรวมกับ TMB ที่มีจุดเด่นในการระดมเงินฝาก จะทำให้ธนาคารหลังรวมกิจการมีต้นทุนการทำธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น มีศักยภาพในการสนับสนุนลูกค้าได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารจะยังคงสามารถทำธุรกรรมกับแต่ละธนาคารผ่านช่องทางบริการที่ใช้อยู่เป็นประจำได้ตามปกติ ทั้งที่สาขา และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์