GARMIN พิสูจน์ความเป็นตัวจริงด้านผู้นำผลิตภัณฑ์จีพีเอสสมาร์ทวอทช์ระดับโลก นำร่องเปิดตัว นักวิ่งเลือดใหม่เข้าสู่ครอบครัว Garmin Thailand ภายใต้ #GarminTeamTH ในโปรเจค “GARMIN ATHLETE PROGRAM” ที่มุ่งผลักดันแนวคิด “TRAIN SMARTER” พัฒนาจุดเด่น แก้ไขข้อบกพร่อง และสนับสนุนการสร้างนักกีฬาให้มีดีเอ็นเอ NUMBER-CRUNCHING SKILL ทักษะที่ใช้การคำนวณและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงการฝึกซ้อมสู่วงการกีฬาไทย ผ่านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทั้งวิทยาศาสตร์การกีฬาและการเก็บข้อมูลที่สำคัญจากการออกกำลังกาย ประเดิมกิจกรรมแรกกับการเข้าทดสอบ VO2Max การวัดความสามารถของระบบหัวใจและหลอดเลือด และ Running Analysis การวิเคราะห์ท่าทางการวิ่ง ณ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์การเรียนรู้และวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านการกีฬาและการออกกำลังกาย พร้อมยกระดับกระบวนการติดตามข้อมูลผ่าน VO2Max และ Running Dynamics จากสมาร์ทวอทช์ของ Garmin สร้างความต่อเนื่องตลอดทั้งกระบวนการการฝึกซ้อมสู่การแข่งขันจริง
หรรษา อาภานุกูล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด การ์มิน ประเทศไทย กล่าวว่า
“Garmin สนับสนุนให้นักกีฬาใช้ข้อมูลจากการฝึกซ้อมเพื่อปรับแผนการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับตนเองมาอย่างต่อเนื่อง (Collect data, track progress) เพราะเชื่อว่าการฝึกซ้อมแบบรู้จุดเด่น และเข้าใจข้อบกพร่องของตัวเอง หรือ TRAIN SMARTER จะนำมาสู่ความสามารถในการดึงศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในตัวนักกีฬาแต่ละคนออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ลดการบาดเจ็บ ได้รับการฟื้นฟูที่ดี และยังเชื่อว่าแนวคิด TRAIN SMARTER จะช่วยส่งผลให้นักกีฬาสามารถก้าวสู่วงการนักกีฬาอาชีพโดยมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์เต็มร้อย GARMIN ATHLETE PROGRAM จึงถือเป็นอีกหนึ่งโปรเจคเพื่อสร้าง NUMBER CRUNCHING ATHLETES ตัวจริงที่จะนำข้อมูลการฝึกซ้อมมาใช้ต่อยอดและพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรม”
การเข้าทดสอบสมรรถภาพในครั้งนี้ของนักกีฬาใน #GarminTeamTH ภายใต้โปรเจค GARMIN ATHLETE PROGRAM ประกอบด้วย 1) การวัดค่า VO2Max ความสามารถของระบบหัวใจและหลอดเลือด และ 2) การวัดค่า Running Analysis การวิเคราะห์ท่าทางการวิ่ง เพื่อค้นหาลักษณะที่อาจนำไปสู่การบาดเจ็บขณะวิ่ง ณ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์การเรียนรู้และวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านการกีฬาและการออกกำลังกาย
1. VO2Max (Maximal Oxygen Consumption) เป็นค่าที่แสดงถึงความสามารถของร่างกายในการใช้ออกซิเจนขณะออกกำลังกายหนักที่สุด ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงสมรรถภาพและความฟิตของหัวใจและปอด หากค่า VO2Max สูง ร่างกายก็จะยิ่งใช้ออกซิเจนได้มากขึ้น ทำให้มีความทนทานและประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย อาจารย์ ดร.ทศพร ยิ้มลมัย ประธานแขนงวิชาการเสริมสร้างสมรรถนะทางการกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “การวัดค่า VO2Max สามารถทำได้หลากหลายวิธี และหนึ่งในนั้นคือการสวมใส่สมาร์ทวทอช์เพื่อติดตามอัตราการเต้นของหัวใจ การออกกำลังกาย เมื่อนักกีฬารวมถึงผู้ที่ออกกำลังกายทราบค่า VO2Max จะทำให้รู้ถึงขีดความสามารถของตนเอง และสามารถนำไปใช้เพื่อการวางแผนฝึกซ้อมได้ ทำให้สามารถฝึกซ้อมได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
2. Running Analysis คือการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวระหว่างการวิ่งในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อค้นหาขีดจำกัดและพัฒนาประสิทธิภาพในการวิ่งของนักกีฬา การวิเคราะห์นี้ช่วยระบุจุดแข็งและจุดอ่อนของท่าวิ่งในแต่ละบุคคล และสามารถนำไปใช้เพื่อปรับปรุงเทคนิคการวิ่งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยพัฒน์ หล่อศิริรัตน์ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การติดตามผลอย่างต่อเนื่อง (monitoring) จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา หากนักวิ่งมีสมาร์ทวอทช์หรืออุปกรณ์วัดผลที่สามารถบันทึกข้อมูลได้ ก็สามารถนำค่าต่าง ๆ มาวิเคราะห์และติดตามความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเอง”
“ผู้ใช้งานการ์มินจะสามารถดึงค่า VO2Max และ Running Dynamics หรือ ชุดข้อมูลที่ช่วยวิเคราะห์ท่าทางการวิ่งอย่างละเอียดจากสมาร์ทวอทช์ได้ โดยจะประกอบไปด้วย 7 ตัวชี้วัด ได้แก่ เวลาที่เท้าสัมผัสพื้นในแต่ละก้าว (Ground Contact Time: GCT) ความสมดุลของเวลาที่เท้าสัมผัสพื้นระหว่างขาซ้ายและขาขวา (Ground Contact Time Balance: GCTB) จำนวนก้าวต่อหนึ่งนาที (Cadence) ความยาวของก้าวในแต่ละก้าว (Stride Length) การเคลื่อนที่ขึ้นลงของร่างกายขณะวิ่ง (Vertical Oscillation) อัตราส่วนระหว่างการเคลื่อนที่ขึ้นลงและความยาวของก้าว (Vertical Ratio) และพลังที่ใช้ในการวิ่ง (Running Power)
เมื่อนำข้อมูลการวิ่งที่ได้จากการเก็บรวบรวมทั้ง 2 ตัวซึ่งได้แก่ VO2Max และ Running Dynamics มาวิเคราะห์และประมวลผล จะทำให้นักกีฬารู้จักและเข้าใจสมรรถภาพร่างกายของตนเองได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำไปวางแผนและปรับใช้ในการฝึกซ้อมร่างกายและออกกำลังกาย โดยจะช่วยทำให้ผู้ใช้งานสามารถปรับปรุงท่าทางการวิ่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่งและการออกกำลังกายได้ดีมากยิ่งขึ้น สามารถช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการฝึกซ้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่งข้อดีของการมอนิเตอร์ผ่านสมาร์ทวอทช์ของ Garmin ทุกครั้งในการฝึกซ้อมผู้ใช้งานจะได้มาซึ่งความต่อเนื่องของข้อมูล” หรรษา กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยพัฒน์ หล่อศิริรัตน์ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
“Data is a king คือเรื่องจริง การเริ่มต้นใช้ดาต้าเพื่อการฝึกซ้อมตั้งแต่เนิ่นๆ ถือว่าป็นเรื่องที่ดี เพราะการประยุกต์ใช้ข้อมูลเหล่านี้ ถือว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ผนวกรวมกับความรู้และประสบการณ์ มองว่าการที่ Garmin เข้ามาให้ความสำคัญในเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อต่อยอดให้นักกีฬาสามารถเล่นกีฬาและใช้ร่างกายของตนเองได้อย่างยั่งยืน”
ปักเป้า-วิชยา แซ่จาง นักกีฬาวิ่ง หนึ่งในสมาชิก #GarminTeamTH ภายใต้โปรเจค GARMIN ATHLETES PROGRAM กล่าวว่า
“สำหรับนักวิ่งการมีสมาร์ทวอทช์ที่ช่วยเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างการวิ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยทำให้เรารู้ว่าเรามีจุดเด่นและจุดด้อยตรงไหนที่จะต้องแก้ไขหรือต่อยอดให้ดีขึ้น และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการวางแผนการฝึกซ้อมและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเราได้มากที่สุด ตัวผมเองก็เป็นผู้ใช้งานสมาร์ทวอทช์ของการ์มินอยู่แล้ว และได้นำข้อมูลจากสมาร์ทวอทช์มาปรับใช้กับการซ้อมจนได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจขึ้นเรื่อยๆ ผมเชื่อมั่นจากการที่ได้เห็นความมุ่งมั่นของการ์มินในการพัฒนาฟีเจอร์และฟังก์ชั่นต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องและรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวการ์มินในวันนี้”
อนุชา พาดา นักกีฬาวิ่ง หนึ่งในสมาชิก #GarminTeamTH ภายใต้โปรเจค GARMIN ATHLETES PROGRAM กล่าวว่า
“การเริ่มต้นเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับผมเสมอครับ ผมเคยเป็นคนนึงที่ซ้อมวิ่งแบบใช้ฟีลลิ่งล้วนๆ มันไม่สามารถรู้ได้เลยจริงๆ ว่าวันนี้ผมซ้อมหนัก หรือเบาไป ผมใช้ความรู้สึกเข้ามาตัดสิน วันนี้ ผมได้เริ่มรู้จักข้อมูลของการวิ่งมากขึ้นจากการใช้สมาร์ทวอทช์ของ Garmin มันทำให้ผมรู้ว่าผมควรแบ่งเวลาพัก เวลาซ้อมอย่างไร ทุกคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ เรื่องเล็กๆ แต่มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับนักกีฬา วันนี้ต้องขอบคุณการ์มินที่ทำให้ผมรู้จักดาต้าพวกนี้มากขึ้น”
อิน-อินทัช จงใจจิตร นักกีฬาวิ่ง หนึ่งในสมาชิก #GarminTeamTH ภายใต้โปรเจค GARMIN ATHLETES PROGRAM กล่าวว่า
“การฝึกซ้อมอย่างมีวินัย คือเรื่องที่คนรักในกีฬาโฟกัส แต่สำหรับผมแล้ว ถ้าเราฝึกหนัก ฝึกนาน ฝึกต่อเนื่อง แต่ไม่มีทิศทาง อาจทำให้เราเหนื่อยฟรีได้ การได้เก็บข้อมูลไปพร้อมๆ กับปรับแผนการซ้อม ถือเป็นหัวใจสำคัญในการซ้อมของผม เพราะผมเชื่อว่าร่างกายของเราบาดเจ็บแล้วมันจะคืนกลับเป็นเหมือนเดิมได้ยาก แต่ถ้าเราซ้อมแบบเข้าใจร่างกายของเรา พักฟื้นอย่างเพียงพอ มันก็จะยากที่จะได้รับการบาดเจ็บ”
“โปรเจค GARMIN ATHLETE PROGRAM จะเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยปลูกฝังและผลักดันให้การนำเอาข้อมูลจากการฝึกซ้อมมาประยุกต์ใช้เพื่อวางแผนซ้อมที่เหมาะสมกับแต่ละคนให้เกิดขึ้น ผ่านการร่วมมือของทั้งนักกีฬา โค้ช และพาร์ทเนอร์ของการ์มินที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการพานักกีฬาที่มีศักยภาพที่เต็มเปี่ยมลงแข่งในสภาพร่างกายที่เต็มร้อยและสร้างสถิติที่ดีที่สุดของตัวเองให้ได้” หรรษา กล่าวปิดท้าย