อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมสูง โดยเฉพาะเมื่อแบ่งพื้นที่ออกเป็นภูมิภาคจะยิ่งเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ดังเช่น พื้นที่ทางตอนใต้ของอินเดีย ที่มีรูปแบบทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างจากอินเดียตอนเหนือและตอนกลางอย่างชัดเจน
โดยวัฒนธรรมของชาวอินเดียใต้ได้ก่อให้เกิดมรดกทางภูมิปัญญาอันหลากหลาย อันรวมถึงการผลิตเครื่องประดับสไตล์อินเดียใต้ ที่ปัจจุบันยังคงได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วประเทศ ซึ่งการทำให้สินค้าชนิดนี้คงอยู่และจำหน่ายได้ในวงกว้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องอาศัยการปรับตัวจากผู้ประกอบการและแรงผลักดันจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการยอมรับในที่สุด
ความเป็นมาและอัตลักษณ์ของเครื่องประดับอินเดียใต้
อินเดียใต้เป็นดินแดนที่ครอบคลุมเนื้อที่ 1 ใน 3 ของประเทศอินเดีย มีประชากรอาศัยอยู่ราว 260 ล้านคน และมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 รัฐ ได้แก่ รัฐอานธรประเทศ รัฐเตลังกานา รัฐกรณาฏกะ รัฐเกรละ และรัฐทมิฬนาฑู โดยปัจจุบันเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ การเป็นเมืองท่าที่เชื่อมต่อกับทะเลอันดามัน รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเชื่อมโยงกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นต้น
หากพิจารณาทางด้านเศรษฐกิจพบว่าอินเดียใต้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบกับมีอัตราการว่างงานต่ำ จึงทำให้ประชากรมีความเป็นอยู่ค่อนข้างดีและมีกำลังซื้อสินค้า
แม้ว่าความเจริญในปัจจุบันได้พลิกโฉมทำให้อินเดียใต้กลายเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในแง่มุมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและมรดกทางภูมิปัญญาอันเก่าแก่ยังคงได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดี ซึ่งคนยุคปัจจุบันสามารถสัมผัสได้จากสถาปัตยกรรมที่หลงเหลืออยู่ งานวรรณกรรม การแสดงพื้นเมือง รวมทั้งชิ้นงานเครื่องประดับที่มีรูปแบบแตกต่างจากเครื่องประดับทั่วไปอันสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอินเดียใต้ได้อย่างชัดเจน
การผลิตเครื่องประดับในอินเดียใต้นั้นมีมานานหลายร้อยปี โดยเริ่มแรกเป็นการผลิตเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องบรรณาการต่างแคว้นและผลิตไว้ใช้สอยเฉพาะในหมู่เชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงของรัฐ
ต่อมาเมื่อศิลปวิทยาการก้าวหน้าขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของเมืองและประชากร ทำให้การบริโภคเครื่องประดับเริ่มกระจายตัวลงสู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเต้นพื้นเมืองและบรรดาสุภาพสตรีทั่วไปที่มักนิยมนำไปสวมใส่ในพิธีแต่งงาน งานมงคล และงานประจำท้องถิ่น เป็นต้น
การออกแบบเครื่องประดับให้แลดูสง่างามแต่แฝงไปด้วยความลึกลับ จัดเป็นเอกลักษณ์สำคัญ ที่สร้างความแตกต่างให้แก่เครื่องประดับอินเดียใต้ โดยแรงบันดาลใจที่ใช้ในการออกแบบนั้น ส่วนใหญ่มีที่มาจากศาสนาและความเชื่อประจำท้องถิ่น
ดังจะเห็นได้ จากรูปแกะสลักเทพเจ้าของศาสนาพรหมณ์-ฮินดูตามโบราณสถานสำคัญหลายแห่งในอินเดียใต้ รวมทั้งยังได้มีการนำเอาสัญลักษณ์ทางโหราศาสตร์ ดวงดาว และราศีมาใช้ในการออกแบบเครื่องประดับด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงวัสดุที่ใช้ผลิตพบว่ามีทั้งที่ทำจากทองคำและเงิน ซึ่งชิ้นงานส่วนใหญ่นิยมตกแต่งตัวเรือนด้วยเพชร หรือพลอยเนื้อแข็งประเภททับทิม และมรกต เป็นต้น
สำหรับความแตกต่างระหว่างเครื่องประดับอินเดียใต้และเครื่องประดับของอินเดียตอนเหนือนั้น เครื่องประดับอินเดียใต้มักสอดแทรกลวดลาย หรือรูปแกะสลักของเทพเจ้าตามศาสนาพราหมณ์-ฮินดูตามความเชื่อแบบโบราณเข้าไปในชิ้นงานเครื่องประดับด้วยเสมอ
ขณะที่เครื่องประดับอินเดียตอนเหนือและตอนกลาง เน้นการเล่นลวดลายทางธรรมชาติ หรือลวดลายประยุกต์ที่มีความอ่อนช้อยใส่ลงไปในเครื่องประดับ ไม่ค่อยนิยมนำรูปแทนของเทพเจ้าใส่เข้าไปให้เป็นจุดเด่นที่สุดของชิ้นงานเหมือนดังเครื่องประดับอินเดียใต้ แม้ว่าเครื่องประดับของอินเดียเหนือบางชิ้นงานจะสอดแทรกแนวคิดทางศาสนาเข้าไป แต่นิยมใส่สัญลักษณ์เข้าไปมากกว่าเป็นรูปเคารพของเทพเจ้าโดยตรง อาทิ สัญลักษณ์ “โอม” (Om) หรือ “สวัสติกะ” (Swastika) เป็นต้น
เครื่องประดับอินเดียใต้กับการปรับตัวให้อยู่รอดในยุคปัจจุบัน
ปัจจุบันเครื่องประดับเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภคชาวอินเดียใต้ สังเกตได้จาก จำนวนร้านค้าปลีกเครื่องประดับท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองปีที่ผ่านมา ประกอบกับการที่ผู้ประกอบการท้องถิ่นร่วมมือกับสมาคมด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่าง Chennai Jewellers Association และหน่วยงานท้องถิ่นของแต่ละรัฐ ได้รวมตัวเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดงานแสดงสินค้าในภูมิภาค โดยนำเอาเครื่องประดับอินเดียใต้ไปจัดแสดงและจำหน่าย
อีกทั้งยังผลักดันชิ้นงานเครื่องประดับให้ไปปรากฏในนิตยสาร แฟชั่นของอินเดียที่มีชื่อเสียงในประเทศอย่าง Indian Jeweller, SHAADI, Jodi, You & I, The Art of Jewellery, SAB ฯลฯ ทำให้ภาพของเครื่องประดับอินเดียใต้ปรากฏสู่สายตาผู้บริโภคทั่วประเทศ และเกิดเป็นกระแสความสนใจในรูปแบบและต้องการครอบครองเครื่องประดับอินเดียใต้ที่เสมือนเป็นของแปลกใหม่สำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ใช่ คนท้องถิ่น
ด้วยความหลากหลายทางด้านช่วงวัยทำให้ฐานผู้บริโภคเครื่องประดับในอินเดียกว้างขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่จากเดิมนิยมซื้อเครื่องประดับครบชุดไว้เป็นทรัพย์สิน หรือใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคอินเดียให้ความสำคัญกับการนำเอาเครื่องประดับที่ลงทุนซื้อมาใช้สอยให้ได้บ่อยขึ้นในชีวิตประจำวัน
ดังนั้น ผู้ประกอบการเครื่องประดับท้องถิ่นในอินเดียใต้ จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สินค้าสามารถจำหน่ายออกได้ และป้องกันไม่ให้มรดกทางภูมิปัญญาต้องสูญหายไป
ซึ่งการปรับตัวของผู้ประกอบการเครื่องประดับอินเดียใต้มีทั้งใช้วิธีการปรับรูปแบบและปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้เข้ายุคสมัยยิ่งขึ้น โดยในส่วนของกระบวนการผลิตได้อาศัยเทคนิควิธีลดขนาดของชิ้นงานให้เล็กลง หรืออาจใช้เทคนิคการฉลุลายเข้าช่วยเพื่อทำให้ตัวเรือนมีน้ำหนักเบาลง จนสะดวกสบายต่อการสวมใส่มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่วงวัยและฐานะทางเศรษฐกิจที่หลากหลายยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจึงพยายามใช้วัตถุดิบประเภททองชุบ หรือเงินมาผสานเข้ากับการออกแบบเครื่องประดับให้มีความร่วมสมัย ปรับลดความอลังการของชิ้นงานลง แต่ยังคงไว้ซึ่งความมีเสน่ห์ ดูมีพลัง และแนวคิดความเชื่อของอินเดียใต้เอาไว้อย่างลงตัว โดยที่สินค้ามีราคาถูกลง เข้าถึงได้ง่าย และใช้ประโยชน์ได้ในหลายโอกาส เป็นต้น
ทั้งนี้ จากที่กล่าวมาในข้างต้นมีตัวอย่างของเครื่องประดับอินเดียใต้ที่ผ่านการพัฒนารูปแบบจนได้รับการยอมรับแล้ว ดังนี้
จากวิธีการปรับตัวของผู้ประกอบการอินเดียใต้ตามที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภคตามความเป็นจริง
อีกทั้งการประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลักดันให้สินค้าทางภูมิปัญญาเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ก็ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการ ทั้งในแง่ของการปรับวิธีการผลิต และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบให้ชิ้นงานมีความร่วมสมัย แต่มีจุดยืนทางเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างชัดเจน ตลอดจนการมีมุมมองทางการตลาดที่ดีและมีความตื่นตัวพร้อมรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
อันถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่ผลิตชิ้นงานอัตลักษณ์ ซึ่งควรจะพัฒนามุมมองให้มองข้ามจากกรอบแนวคิดเดิมที่ต้องการเพียงแค่การอนุรักษ์ชิ้นงาน ให้เป็นการปรับตัวและพัฒนาต่อยอดสู่ความร่วมสมัย
ซึ่งนอกจากจะทำให้ภูมิปัญญายังคงอยู่เป็นสมบัติชาติแล้ว ยังช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
ข้อมูลโดย : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สมัครสมาชิกเพื่อติดตามข้อมูลได้ที่ infocenter.git.or.th ไลน์ไอดี git_info_center
หรือติดตามผ่านเฟซบุ๊ก www.facebook.com/GITInfoCenter