แม้ปัจจุบัน จำนวนผู้เรียนที่จบในระดับอาชีวศึกษาจะมีมากกว่า 1.5 แสนคนต่อปี โดย 30% มุ่งทำธุรกิจของตนเอง และอีก 70% เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าตัวเลขดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อตลาดแรงงาน เนื่องจากการเรียนการสอนยังคงเน้นหลักสูตรเดิมๆ ขณะที่ตลาดต้องการคนจบในสาขาใหม่ๆ อาทิ ช่างเทคนิคการผลิต ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนยานยนตร์
คณะสานพลังประชารัฐ เพื่อการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ จึงได้ผนึกกำลังเปิดตัว ‘Excellent Model School’ หรือวิทยาลัยอาชีวศึกษาต้นแบบเพื่อความเป็นเลิศ ด้วยการดึงภาคีภาครัฐ ภาคเอกชนหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ร่วมออกแบบหลักสูตรทวิภาคี สร้างฝีมือชนคุณภาพและรับเข้าทำงานเมื่อเรียนจบ เพื่อผลักดันอาชีวศึกษาไทยให้ก้าวไกล โดยเลือก วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี สาขาอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นพื้นที่นำร่อง พร้อมอาศัยความร่วมมือจากเอสซีจี, บริษัท ฤทธา จำกัด, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำภาคเอกชนเข้าไปทำงานร่วมกับวิทยาลัย ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา กล่าวว่า “ภาคการผลิตของประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคต ต้องการกำลังคนที่จบการศึกษาสายอาชีวศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศจะพัฒนาไปได้ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต้องมาจากกำลังคนที่มีคุณภาพและกำลังคนที่มีคุณภาพก็มาจากอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับว่าผู้ที่สำเร็จอาชีวศึกษาเป็นกำลังคนที่มีความสำคัญต่อภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคการเป็นผู้ประกอบการ ในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น อาชีวศึกษาจึงเป็นทางเลือกเพื่ออนาคตของนักเรียน นักศึกษา และเป็นอนาคตของประเทศชาติ”
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ กล่าวในมุมมองของภาคเอกชนว่า “องค์กรจะพัฒนาต่อไปได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรื่องของทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น อาชีวศึกษาถือว่าเป็นคีย์หลักๆ ที่สำคัญ สำหรับ Excellent Model School ถือเป็นการพัฒนาครูผู้สอน ผ่านประสบการณ์ที่ภาคีนำมาแบ่งปัน นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือในการ Re-Branding ภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาไทย และทำให้เยาวชนรวมถึงผู้ปกครองกลับมาสนใจการเรียนสายอาชีพมากขึ้น เกิดการยกระดับคุณภาพสถานศึกษาให้มีคุณภาพเทียบเท่าสากล และสามารถผลิตผู้เรียนที่มีศักยภาพสอดคลองกับการพัฒนาประเทศ”
พร้อมกันนี้ ภาคีเอกชนจะยินดีจ่ายค่าตอบแทนตามความรู้ความสามารถของฝีมือชน ตั้งแต่การฝึกงานไปจนถึงการเข้าทำงานจริง ผู้เรียนตลอดจนผู้ปกครอง จึงมั่นใจได้ว่าการเรียนสายอาชีพจะมีอนาคต เพราะมีตลาดแรงงานรองรับ ซึ่ง Excellent Model School นี้จะมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า กลุ่มการบริการและการท่องเที่ยว และขยายไปสู่สถานศึกษาอื่นทั่วประเทศ
“อาชีวะถือเป็นสายหลัก ไม่ใช่สายรอง หากอาชีวะพัฒนาคนให้ถูกจุด จะสามารถตอบโจทย์ประเทศไทยได้แน่นอน” ถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย