ถ้าจะบอกว่า FACEBOOK คือ Happiness Republic หรือ ‘สาธารณรัฐแห่งความสุข’ ... เป็นโลกของคนโลกสวย รวยความสุข ... โลกของคนที่มีของดีๆ มาอวด ...โลกของคนที่มีสไตล์ ... โลกของคนมีตัวตน ภาพที่ปรากฏบนโซเชียลเน็ตเวิร์คล้วนแล้วแต่บ่งบอกว่า คนๆ นี้มีชีวิตดี๊ดี ทั้งที่อาจจะเป็นการจัดฉากเพื่อให้ภาพที่อยู่ในเฟรมสี่เหลี่ยมเล็กๆ ออกมาสวยงาม ดูดี แต่เบื้องหลังอาจรกรุงรัง ไม่ได้สวยงามอย่างที่ล้นออกมานอกเฟรมก็ได้
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จิตแพทย์ หรือ ใครต้องการมุ่งปฏิบัติธรรมจะถูกห้ามจากทางวัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมไม่ให้เข้ามาที่โซเชียลเน็ตเวิร์คและงดใช้เครื่องมือสื่อสารทั้งหมด เพื่อมิให้ฟุ้งซ่าน
นี่จึงเป็นที่มาของ ที่มาของโครงการ FACETOOK หรือ เฟซทุกข์ (www.facetook.org) โดยชื่อโครงการเลือกเล่นคำภาษาไทยที่คำว่า ‘ทุกข์’ และหากจะมองความหมายของภาษาอังกฤษ คำว่า TOOK ที่มาจากคำกริยาช่อง 1 ที่ว่า TAKE ก็น่าจะแปลได้ว่า ‘เอาไป’ หรือในบางบริบทก็หมายถึง ‘ชนะ หรือ พิชิต’ ได้อีกด้วย การเลือกชื่อโครงการจึงเป็นการเลือกคำที่เวิร์คทั้งสองภาษา
โครงการ FACETOOK (เฟซทุกข์) มาจากโครงการใหญ่ที่ชื่อว่า ‘ความสุขประเทศไทย’ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกองทุนและจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 และ ธนาคารจิตอาสา (www.jitarsabank.com) มูลนิธิที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาฝากเวลาเพื่อทำงานจิตอาสากับกิจกรรมต่างๆ ที่หน่วยงานร้องขอจิตอาสาเข้าไปทำงาน
ว่าแต่ว่า คงมีคำถามว่า คนเสพ FACEBOOK แล้วทุกข์จนต้องเข้าไปตั้งชุมชนใหม่ที่ FACETOOK ละหรือ
แล้วเมื่อสุขค่อยวาร์ปกลับมาที่ FACEBOOK กันใหม่
ที่มาที่ไป FACETOOK
ปัณณวิชณ์ แซ่โง้ว (บอมบ์) Copywriter ทีมครีเอทีฟ บริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด กล่าวถึงที่มาของโครงการฯ ว่า
"FACETOOK มาจากโครงการใหญ่ ‘ความสุขประเทศไทย’ ซึ่งดำเนินโครงการมาได้ 5-6 ปี และเป็นโครงการภายใต้การดูแลของ สสส. และธนาคารจิตอาสาเป็นโครงการที่พูดถึงเรื่องมิติสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งปกติแล้วทาง สสส. จะทำเกี่ยวกับการเลิกเหล้า, เลิกบุหรี่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับปัญหาทางกาย ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องปัญหาทางใจก็สำคัญ เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเรา
‘ความสุขประเทศไทย’ เป็นโครงการที่จะนำเสนอเรื่องการให้คนเข้าถึงความสุขผ่านการรู้จักความจริงในชีวิต โดยปราศจากวัตถุนิยม ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งก็จะมี ‘ความสุข 8 เส้นทาง’ เพื่อแนะนำให้เป็นทางออกของชีวิต ดังนี้คือ 1) การสัมผัสธรรมชาติ 2) การทำงาน 3) การเคลื่อนไหวร่างกาย 4) ความสัมพันธ์ 5) ศิลปะ 6) การภาวนา 7) งานจิตอาสา 8) การศึกษาเรียนรู้ โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.happinessisthailand.com
โปรเจกต์ความสุขประเทศไทยมีแคมเปญสื่อสารออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น การฟังอย่างลึกซึ้ง การออกไปทำงานจิตอาสา ฯลฯ และช่วงนี้โจทย์ที่เราอยากทำ คือ เราอยากจะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่จึงกลายเป็นที่มาของ FACETOOK โดยเราได้ออกไปถามคนรุ่นใหม่ว่าใช้ชีวิตอย่างไร มีปัญหาอะไรอยู่ ดังนั้น ไอเดียที่ได้ก็มาจากปัญหาที่มันเกิดขึ้นว่า ปัญหาจริงๆ คืออะไร ควรจะสื่อสารอย่างไรให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และรู้สึกดีๆ กับตัวเองมากขึ้น
แล้วเราก็พบว่า ทุกคนมีโซเชียลเน็ตเวิร์คและอยู่บนโลกออนไลน์กันหมด แล้วส่วนใหญ่เวลาที่ใช้ไปก็หมดไปกับการส่องชีวิตคนอื่น มันเลยสะท้อนกลับมากับตัวเองด้วย จนเกิดการเปรียบเทียบกับตัวเองขึ้น เห็นภาพคนอื่นไปกินไปเที่ยวในที่ต่างๆ แล้วมองตัวเองว่า ทำไมจึงดูด้วยกว่าคนอื่น ทำให้คนพยายามที่จะโพสต์แต่ด้านดีๆ ของชีวิตหรือประสบการณ์ดีๆ เพิ่มขึ้นไปอีก แต่เบื้องหลังของแต่ละคนก็อาจจะมีความทุกข์ มีปัญหาอยู่ เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกมา ซึ่งเราอยากจะสื่อสารออกไปว่า การเปรียบเทียบกันนั้นทำให้คุณเป็นทุกข์อยู่ และมีส่วนทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้
เพราะเวลาที่คนเป็นโรคซึมเศร้าไปพบจิตแพทย์ก็จะมีการแนะนำให้งดการใช้โซเชียลมีเดีย หรือเล่นลดลง ซึ่งมันอาจจะมีผลกระทบต่อจิตใจด้วย"
คลิปเปิดตัว FACETOOK ที่เปิดตัวนั้นเมื่อมองในแว่บแรกเห็นพิธีกรที่ขึ้นมาบนเวที พูดได้เลยว่า ครีเอทีฟ ต้องการนำเสนอให้มีคาแรกเตอร์ของ สตีฟ จ็อบส์ หรือการพรีเซนต์ในงานไฮเทค แต่ด้วยสำเนียงการพูดภาษาอังกฤษที่ชัดเจน แถมด้วยซับไตเติ้ลแปลไทยให้อ่านกันได้ชัดๆ ทำให้ลดช่องว่างทางการสื่อสารไปได้มากๆ เนื้อหาที่เปิดตัวว่า
"ทุกวันนี้คุณมีความสุขกับการเล่น FACEBOOK ไหมครับ? ทั้งที่เรื่องราวดีๆ feed ขึ้นมามากมาย ทำไมเพื่อนคนนี้ชีวิตดีจังนะ พอเข้า FACEBOOK ปุ๊บรู้สึกแย่ขึ้นมาซะงั้น แต่ก็ยังเอามาเปรียบเทียบกับชีวิตตนเองทุกครั้งที่เราต่างคนต่างพยายามโชว์ชีวิตดีๆ อวดกันใน FACEBOOK แต่กลับมีความทุกข์มากขึ้นในโลกจริง
เฟซทุกข์ หรือ FAIL BOOK ว่า ชีวิตคุณไม่ได้มีแต่เพื่อนสุข ชีวิตมันก็มีด้านสุขและด้านทุกข์ และกลับมาชอบชีวิตของคุณเองได้เหมือนเดิม ..... "
คลิปวิดีโอ FACETOOK นำเสนอหน้าเว็บไซต์ของตนเองที่นำเสนอหน้าเว็บไซต์โทนขาวดำและโพสต์ของสมาชิกที่เข้ามาระบายความทุกข์ ระบายความอึดอัดของตนเองบนหน้าเว็บไซต์
ผลตอบรับ FACETOOK
ปัณณวิชณ์กล่าวถึงผลตอบรับของ FACETOOK ว่า
"ค่อนข้างเกินความคาดหมาย เรามีฐานยูสเซอร์ประมาณ 45,900 รายแล้ว แต่ทั้งนี้ ก็ต้องบอกก่อนว่า เราไม่ได้ทำFACETOOK เพื่อมาเป็นคู่แข่ง FACEBOOK แต่ทำล้อเลียนและสะกิดให้คนมาสนใจและเข้าใจ Message ที่เราจะสื่อสาร เมื่อคนเข้ามาดูแคมเปญของเราแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นที่จะกลับไปใช้ FACEBOOK ต่อได้
สำหรับผลตอบรับเราแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนคลิปวิดีโอ คนที่ได้ดูก็รู้สึกดีที่มีคนออกมาพูดเตือนสติเขา ได้ฉุกคิดมากขึ้น ส่วนเว็บไซต์ก็มีคนที่เข้ามาระบายความทุกข์เกินความคาดหมาย ยอดคนที่เข้ามาภายใน 2-3 สัปดาห์ก็ประมาณ 4 หมื่นกว่าคน เนื่องจากหลักๆ ก็เป็นเรื่องที่พวกเขาต้องเจอในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว สนใจอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว
ส่วนคลิปวิดีโอแนะนำแอปพลิเคชัน เมื่อคนดูจบก็สามารถเข้าใจอยู่แล้วว่า จะสื่อสารอะไรกับคนดู
ด้วยความที่เป็นโปรเจกต์เพื่อสังคมอยู่แล้ว เราก็ใช้วิธีขอความร่วมมือกับเพจต่างๆ ที่เขาสนใจและเชื่อใน Message นี้ให้ช่วยกันเผยแพร่ออกไป เนื่องจากตัวคลิปไม่สามารถบูสโพสต์ได้ เพราะติดกับกฎระเบียบของ FACEBOOK ที่มีการพาดพิงถึง FACEBOOK ก็เลยต้องอาศัยจากการขอความร่วมมือเพจต่างๆ เพื่อช่วยเผยแพร่
แล้วหลังล็อกอินเข้าไประบายความอึดอัด ความทุกข์บน FACETOOK แล้วก็จะมีลิงก์เข้าไปสู่เว็บไซต์ www.happinessisthailand.com เพื่อไปดู 8 หนทางที่จะเข้าถึงความสุขได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาวัตถุนิยม"
สำหรับแผนการต่อจากนี้ ปัณณวิชณ์กล่าวว่า "ถ้ามีกำลังหรือมีความเป็นไปได้ก็จะลองให้คนที่มีความทุกข์เหล่านี้มาลองมีประสบการณ์ในการเข้าถึงความสุข เพื่อเป็นทางออกให้เขาต่อไป"
-------------------------------------------------------------
MarketPlus Magazine Issue 116