'มาเรียม' พะยูนน้อย ซุปตาร์จากท้องทะเล ที่กำลังเป็นขวัญใจชาวโซเชียล จากความน่ารักน่าเอ็นดูของลูกพะยูนเพศเมียตัวนี้ ทำให้หลายๆ คนสงสัยว่า เจ้ามาเรียมมาจากไหน ทำไมถึงเป็นกระแสจากโลกโซเชียลได้ขนาดนี้ แค่ดูไกด์คีย์เวิร์ดเพื่อเช็กความฮอตจากชื่อของมาเรียมใน Google ก็พบคำที่หลายๆ คนค้นหามีเยอะมากมายทีเดียว อาทิ
ที่มา : ผลการสืบค้นจาก Google ณ วันที่ 21 ก.ค. 2562
ผลจากการสำรวจความฮอตของพะยูนน้อยมาเรียมแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าใครๆ ก็อยากทำความรู้จักและอยากติดตามชีวิตของเจ้ามาเรียม พะยูนน้อยเป็นอย่างมาก แล้วแน่นอนว่าย่อมจะมีคำถามที่หลายๆ คนสงสัยใคร่รู้ อาทิ
แล้วทำไมคนถึงได้อยากรู้และติดตามชีวิตของมาเรียมล้นหลาม ขนาดที่กลายเป็น OVERNIGHT HAPPENING ไปได้ถึงเพียงนี้
ที่มาของเรื่องราว ‘ซุปตาร์แห่งท้องทะเล’ ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 เมื่อมีลูกพะยูนอายุประมาณ 4-5 เดือน ร่างกายสมบูรณ์ขึ้นมาเกยตื้นที่บริเวณแหล่งหญ้าทะเลอ่าวทึง-ปอดะ จังหวัดกระบี่ ชาวบ้านที่พบเห็นต่างพากันอุ้มลูกพะยูนไปปล่อยในน้ำที่ลึกพอที่จะว่ายกลับลงทะเลได้
วันต่อมา ชาวบ้านย่านนั้นก็กลับพบลูกพะยูนตัวเดิมว่ายวนเวียนอยู่ใต้ท้องเรือหางยาว ซึ่งมีลักษณะเสมือนท้องของแม่ในบริเวณใกล้กับที่เกยตื้นครั้งแรก ชาวบ้านจึงแจ้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ให้มาช่วยกันนำลูกพะยูนกลับลงไปปล่อยในทะเลอีกครั้ง
แต่แล้ววันรุ่งขึ้น เจ้าพะยูนน้อยก็ว่ายกลับมาอีก นี่จึงทำให้แน่ใจได้ว่า ลูกพะยูนตัวนี้ต้องพลัดหลงกับแม่พะยูนของมัน เจ้าหน้าที่เผยว่า โอกาสที่จะเจอแม่ของมันมีน้อยมาก เนื่องจากบริเวณนั้นมีเรือสัญจรอยู่มาก โอกาสที่จะได้รับอันตรายจากการถูกเรือชนสูง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องหาพื้นที่ดูแลแห่งใหม่ให้กับลูกพะยูนน้อยตัวนี้
แน่นอนว่า การดูแลเจ้าพะยูนนี้ต้องมีความปลอดภัย รวมถึงต้องให้สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เพราะตามธรรมชาติแล้ว ลูกพะยูนจะต้องอยู่กับแม่ของมันจนอายุเกือบ 2 ปี จึงจะหย่านมจากแม่ ซึ่งการอนุบาลปลาพะยูนพลัดหลงที่ผ่านมาเคยนำไปให้เลี้ยงในบ่ออนุบาล แต่เมื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ พะยูนจะเอาตัวรอดในธรรมชาติจริงๆ ไม่ได้ ซึ่งก็อาจหมายถึงอันตรายที่มีต่อการดำรงชีวิตในอนาคต
ดังนั้น การอนุบาลพะยูนน้อยตัวนี้จึงมีการปรับเปลี่ยนวิธีการอนุบาล โดย ทางเจ้าหน้าที่ได้หาพื้นที่ที่ปลอดภัยเพื่อเป็น ‘แม่นมจำเป็น’ ให้กับมัน ซึ่งพื้นที่ที่เจ้าพะยูนจะย้ายไปต้องเป็นแหล่งที่มีหญ้าทะเลและมีกลุ่มพะยูนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงต้องมีความพร้อมของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเมื่อได้พิจารณาแล้วพบว่า บริเวณเกาะลิบง จ.ตรัง มีความพร้อมในการดูแลในทุกๆ ด้าน
เจ้าพะยูนน้อยเดินทางจากกระบี่มาถึงแหลมจุโหย เกาะลิบง จังหวัดตรัง สุเทพ ขันชัย หัวหน้ากลุ่มพิทักษ์ดุหยง ต.เกาะลิบง ได้ตั้งชื่อให้ว่า ‘มาเรียม’ ซึ่งแปลว่า‘ผู้หญิงที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล’ เนื่องจากว่าเป็นลูกพะยูนตัวเมีย เมื่อมาเรียมมาถึงเกาะลิบงแล้ว เจ้าหน้าที่ปล่อยให้มาเรียมว่ายน้ำอย่างอิสระ เพื่อที่จะให้หาจุดที่เหมาะสมกับตัวมันเอง โดยมาเรียมได้ย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่บริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลของมาเรียมในปัจจุบัน
OVERNITE HAPPENING ของมาเรียมเกิดขึ้นนับแต่วันแรกที่ถูกพบ อีกทั้งความผูกพันกับชาวโซเชียลเน็ตเวิร์คและสังคมทั่วไปเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมาเรียมเป็นพะยูนทารกที่ยังไม่หย่านมจากแม่ของมัน ทำให้ทีมสัตวแพทย์และนักวิชาการต้องกลายมาเป็นแม่นมจำเป็นให้กับมาเรียม พร้อมทั้งวางแผน/ประเมินเกี่ยวกับการให้อาหารมาเรียมแบบวันต่อวัน เพราะถึงแม้มาเรียมจะสามารถกินหญ้าทะเลได้แล้ว แต่ก็ยังต้องดื่มนมเป็นอาหารหลักอยู่ ทำให้มาเรียมยังว่ายน้ำเข้าฝั่งอยู่เรื่อยๆ พร้อมกันนี้ ทางเจ้าหน้าที่ก็มีมาตรการจำกัดคนที่จะสัมผัสมาเรียมโดยตรงด้วย เพราะต้องการให้มาเรียมอยู่ในการเลี้ยงดูในสภาวะธรรมชาติ เพื่อจะได้กลับเข้าหาฝูงพะยูนและเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดได้ในอนาคต
ความเป็นอยู่ของมาเรียมนี่ละที่สร้างชุมชนคนรักพะยูนและกลายเป็นกระแสไปได้แบบไม่ต้องปั้นไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ก็สร้างนักวิชาการให้กลายเป็น ‘เน็ตไอดอล’ ไปสองท่านนั่นคือ ‘หมอล็อต’ ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า ที่ร่วมปฏิบัติงานและวางแผนการอนุบาลมาเรียม ร่วมกับสัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กลุ่มพิทักษ์ดุหยง และเจ้าหน้าที่เขตฯ ลิบง กับ ‘หมอหนึ่ง’ สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหนึ่งในกระบวนการเบื้องหลังที่ส่งให้คนไทยทั่วประเทศได้เห็น LIVE สด ‘ภารกิจอนุบาล มาเรียม 24 ชม.’ นั่นคือ ทีโอที ซึ่งได้ทำการทดสอบโครงข่ายและทดสอบสัญญาณอินเทอร์เน็ตก่อนขนอุปกรณ์กล้อง CCTV ติดตั้งบนเกาะลิบงเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาถือเป็นการทำงานแบบมองขาดและ Proactive มากๆ ของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ซึ่งต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ก็มีพะยูนเพศผู้อีกตัวมาเกยตื้นและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน์ราชกัญญา ทรงประทานชื่อให้กับพะยูนเพศผู้นี้ว่า ‘ยามีล’ ซึ่งแปลว่าชายรูปงามแห่งท้องทะเลและรับพะยูนน้อยทั้ง 2 ตัว ไว้ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริฯ
ทำให้การติดกล้องเพื่อ LIVE สดผ่านกล้องพร้อมกันทั้งหมด 8 ตัว โดยที่ จ.ตรัง มีจำนวน 7 ตัว ประกอบด้วย กล้องวงจรปิด 6 ตัว ที่จะดูพื้นที่โดยรอบแหล่งอนุบาล รวมทั้งแปลงหญ้าทะเลที่เจ้าหน้าที่จะพามาเรียมออกกินหญ้าในแปลงกลางทะเล รวมทั้งกล้องตัว LIVE สดขณะเจ้าหน้าที่อยู่กับมาเรียมขณะป้อนอาหาร หรือพาออกกำลังกาย และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการด้วย โดยมี จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ ทีโอที
จากความน่ารักของมาเรียมที่เน็ตไอดอลทั้งสองกล่าวถึง ‘หมอหนึ่ง’ พูดถึงอย่างกินใจว่า “มาเรียมเหมือนเด็กเล็กมากๆ เวลาที่เราพายเรือลงไป มาเรียมเห็นท้องเรือแบนๆ ก็จะว่ายน้ำเข้ามาหา พยายามโอบท้องเรือไว้ คงคิดว่าเป็นแม่ของมัน ภาพแบบนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนอดน้ำตาซึมไม่ได้เลย”
ขณะที่หมอล็อตกล่าวถึงภารกิจพี่เลี้ยงของตนและคนอื่นๆ ว่า “ศักยภาพทางร่างกายก็ต้องพร้อมอยู่เสมอ อย่างน้อยต้องว่ายน้ำเป็น ต้องมีทักษะการเอาตัวรอดในภาวะน้ำขึ้น-น้ำลง คลื่นลมแรง หรือภาวะที่ต้องเดินในพื้นทะเลที่มีโขดหิน การพายเรือ รวมถึงการเรียนรู้อันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น แมงกะพรุน ปลากระเบน หรือสัตว์อันตรายต่างๆ ขณะเดียวกัน ความยากลำบากในการดูแลมาเรียม คือ การต้องอยู่ในน้ำตลอดทั้งวันอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หรือเวลาที่มีแดดหรือลมแรง เราไม่สามารถทาครีมกันแดดได้ เพราะสารเคมีพวกนี้จะไปปนเปื้อนที่ตัวสัตว์ได้ส่งผลต่อสุขภาพได้ ตอนนี้ผมก็เลยกลายเป็นพี่ ‘มาเมี่ยม’ กับน้อง ‘มาเรียม’ (หัวเราะ)”
ความน่ารักนี้เองที่ทำให้มีคนร่วมบริจาคค่านมกับหมอหนึ่งถึง 1.7 ล้านบาท จนต้องประกาศปิดบัญชีไม่รับบริจาคแล้ว ไม่ต้อง ‘ก้าว’ อย่างพี่ตูน แค่ ‘นอน-กิน–เล่น’ ออกสื่อเท่านั้น จะมี ‘ขี้แกล้ง – ขี้อ้อน – นอนกรน’ ก็ยังเป็นซุปตาร์ได้แบบสบายๆ
Impact Happening
1.Academic Impact
Impact Happening ของมาเรียมนอกจากจะเป็นอิมแพคในเชิงวิชาการในฐานะที่เป็นพะยูนตัวแรกของประเทศไทยที่มนุษย์ให้นมในสภาวะธรรมชาติ เพื่อให้พะยูนสามารถเอาตัวรอดได้ เมื่อต้องกลับสู่ธรรมชาติในอนาคตแล้ว อิมแพคในเชิงสังคมที่ทำให้มาเรียมกลายเป็นขวัญใจมหาชน LIVE สดได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ไม่นับข่าวช่องต่างๆ ทำให้มาเรียมเป็นซุปตาร์เพียงชั่วข้ามคืน แถมได้รับเงินบริจาคหลักล้าน
2.Social Impact
อิมแพคในเชิงสังคมอีกประการของมาเรียม คือ การปลุกกระแสรักษ์พะยูนให้เกิดขึ้น และล่าสุด วราวุธ ศิลปะอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ติดแท็กและไมโครชิปให้กับมาเรียมและยามีล (จากเดิมที่ใช้วิธีบินสำรวจและนับจำนวนประชากร) เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและระบุตัวตนเป็นการนำร่อง เพื่อติดตามพะยูนตัวอื่นๆ ได้และสามารถอนุรักษ์พะยูนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเฉพาะทะเลตรังถือเป็นเมืองหลวงของพะยูนและมีมากถึง 185 ตัว และ ทส.จะจัดทำ แผนพะยูนแห่งชาติ โดยร่วมมือกับภาควิชาการ ประชาชนและกระทรวงมหาดไทย เพื่อเร่งสำรวจพะยูนทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยต้องการจะดูแลพะยูน จาก 200 ตัว เป็น 400 ตัว พร้อมติดแท็กกับ ไมโครชิปเพราะขณะนี้ หน่วยงานราชการยังไม่สามารถดูแลพะยูนได้ทั่วถึง
3.Economic Impact
Impact Happening ในเชิงการตลาดเห็นได้ชัดๆ กับตุ๊กตามาเรียมของ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มถักหมวกบ้านหนองยวน ต.ละมอ อ.นาโยง จ.ตรังที่เร่งผลิตตุ๊กตาพะยูนรับกระแสมาเรียมฟีเวอร์ จากเดิมที่วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ถักหมวกไหมพรมและ
ปลาพะยูนบ้าง โดยเริ่มทำจริงจังเมื่อปี 2554 นี้ แต่ช่วงแรกๆ ขายได้เพียงไม่กี่ตัว แต่พอมีการนำเสนอข่าว ‘มาเรียม’ ลูกพะยูนน้อยที่กำลังโด่งดังทางสื่ออยู่ขณะนี้ ปรากฏว่ามียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ วันหนึ่ง 3-5 ตัว ลูกค้าบางรายสั่งเข้ามาเป็น 10 ตัว ซึ่งทางกลุ่มต้องทยอยส่งให้ สำหรับสนนราคาตุ๊กตาพะยูน ตัวใหญ่ 1,200 บาท ขนาดกลาง 1,000 บาท ขนาดเล็ก 500-800 บาท
นอกจากนี้ อิมแพคเชิงสังคมยังส่งต่อถึงชุมชนในบริเวณนั้นด้วย เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ใช้ชีวิตแบบชาวเลบนเกาะ มีโป๊ะน้ำตื้น ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่อนุบาลของมาเรียม ซึ่งชาวบ้านบริเวณนั้นก็ให้ความร่วมมือที่จะรื้อถอนเครื่องมือเหล่านั้นไปจนหมด เพราะเข้าใจแนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกัน มาเรียมยังส่งเรื่องกระเพื่อมถึงธุรกิจท่องเที่ยวด้วย เพราะพฤติกรรมของมาเรียมจะชอบเข้าใกล้ท้องเรือจึงจำเป็นที่จะต้องวางข้อตกลงกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา เผื่อในอนาคตเมื่อมาเรียมหย่านมแล้วและยังอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น นักท่องเที่ยวก็มีโอกาสที่จะเข้ามาสัมผัสใกล้ชิดกับมาเรียมมากขึ้นและสามารถสร้างรายได้ในระยะยาวให้กับชาวบ้านอีกด้วย
ส่วนอิมแพคที่ใกล้ตัวเราๆ ท่านๆ ที่สุด น่าจะเป็นการออก LINE Sticker โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่ออก LINE Sticker ชื่อชุด DMCR Marine Life : สัตว์ทะเลน่ารักษ์จัง มี 16 รูป ราคา 30 บาท รายได้ทั้งหมดสมทบทุน สวัสดิการผู้พิทักษ์ทะเล สติกเกอร์นำเสนอความน่ารักน่าชังของน้องมาเรียม พะยูนน้อยทะเลตรัง กับสัตว์ทะเลหายากของไทยตามกฎหมายใหม่อีก 5 ชนิด ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระและเต่ามะเฟือง ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้แล้วที่ https://line.me/S/sticker/6979112
นอกจากนี้ ยังมี LINE Sticker โดย Creator ที่ใช้ชื่อว่า Siam Prom เกาะกระแสมาเรียมด้วย ชื่อชุด น้องมาเรียม พะยูนน้อยหัวใจว้าเหว่ ด้วยคาแรกเตอร์ของพะยูนกวนๆ
(https://store.line.me/stickershop/product/7888101/th) นอกเหนือจากผลงานอื่นๆ ของเขา ซึ่งได้แก่ น้องคิมคุง แฮปปี้บอย หนุ่มน้อยแสนซน, น้อง บั๊กกี้ แมลงเต่าทองโกอินเตอร์ และนางสาว บุญยืน สวัสดี นางสาว บุญยืนค่ะ