สัญญาณเศรษฐกิจไทยย่ำแย่นั้นชัดเจนมากๆ ล่าสุด ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ปรับลดประมาณการการเติบโตของ GDP เป็นรอบที่ 3 จาก 3.2% เป็น 2.9% จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างชัดเจนและสงครามการค้าระหว่างอเมริกาและจีนที่นับวันทวีความรุนแรงและมีแผนที่จะเก็บภาษีเพิ่มเติม แม้จะอยู่ในระหว่างการเจรจาทางการค้า ขณะที่ความเชื่อมั่นในประเทศลดลง
ทั้งนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่อาจทำให้ GDP ไม่สามารถเติบโตได้ตามคาด อาทิ กรณีเศรษฐกิจจีนชะลอการเติบโตมากกว่าที่คาดไว้ หรือ แม้แต่การใช้นโยบายการเงินได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรก็อาจทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้
สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
"การส่งออกถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญและมีสัดส่วนถึงกว่า 50% ของ GDP นั้นอยู่ในช่วงขาลงโดยช่วงครึ่งแรกของปีส่งออกไทยลดลง 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกว่า 87% ของอุตสาหกรรมทั้งหมดเติบโตลดลง ซึ่งการหดตัวดังกล่าวส่งผลกระทบกับบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติและบริษัทไทย โดยส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเคมีภัณฑ์ ส่วนผลกระทบปานกลาง อาทิ กลุ่มยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังส่งผลเชิงลบกับการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบถึง 80% ของแรงงานทั้งหมด โดยแรงงานที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท/เดือน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางมากๆ"
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงการเติบโตและส่วนแบ่งของการส่งออก (Share of GDP) ปี 2561 ของ 5 ประเทศหลักในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ พบว่า ประเทศระดับ Top 3 ที่มีศักยภาพ Share of GDP และมีอัตราการเติบโตช่วงครึ่งแรกของปีนี้ดีที่สุด คือ
สมประวิณ เชื่อว่า "แม้เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในช่วงขาลงแต่เชื่อว่า เศรษฐกิจด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อีกทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยลงโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กบง.) ที่มีการลดดอกเบี้ยมาแล้ว 1 ครั้งก่อนหน้านี้และคาดว่า กบง.จะปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ รวมทั้งการทะยอยออกมาตรการต่างๆ จากกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เชื่อได้ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้จะไม่ย่ำแย่เหมือนกับครั้งที่ผ่านมา แต่จะเป็นเพียงการชะลอลงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะมีการเคลื่อนไหวผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมา"
สำหรับการโจมตีแหล่งน้ำมันในซาอุดิอาระเบียนั้น สมประวิณมองว่า "ไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากซัพพลายมีมากแต่ความต้องการใช้ลดลง ทั้งนี้ คาดว่า ซาอุดิอาระเบียจะกลับมาผลิตน้ำมันได้เป็นปกติในที่สุด ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับตลาดประเทศไทยอย่างแน่นอน อีกทั้งไม่น่าจะมีผลกระทบกับภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากขณะนี้เงินเฟ้อของไทยก็อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว"
"สิ่งที่น่าจะกังวลมากกว่ากลับเป็นประเด็นที่คนไทยมีกำลังซื้อลดลงจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่า รวมทั้งประเด็นปัญหาการจ้างงานซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวกับการส่งออก ได้แก่ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ (-10.1%) เคมีภัณฑ์ (-9.8%) อุตสาหกรรมรถยนต์ (-6.1%) เครื่องจักร (- 4.9%) ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เมื่อได้รับผลกระทบก็จะส่งผลต่อเนื่องถึงผู้ประกอบการโดยตรง อีกทั้งส่งผลกระทบต่อเนื่องในวงกว้างด้วย
ส่วนปัญหาการว่างงานคงจะไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากเพราะคนไทยเป็นนายจ้างของตนเองก็มาก สิ่งที่เราต้องดูคือ เรื่องรายได้ ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานโดยเป็นแบบพาร์ทไทม์มากขึ้น หรืออาจจะจ้างงานในอัตราค่าแรงขั้นต่ำและให้แรงจูงใจด้วยการนับเวลาทำงานเป็นชั่วโมง ฉะนั้น ปัจจัยสำคัญของการจ้างงานที่จะต้องพิจารณา คือ แรงงานเหล่านี้ทำงานด้วยจำนวนชั่วโมงที่ลดลงหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อเม็ดเงินที่เป็นรายได้ของแรงงานและส่งผลต่อเนื่องถึงกำลังซื้อ รวมทั้งผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ ถึงความสามารถของการบริโภคต่อไปในที่สุด" สมประวิณ กล่าว
การส่งออกของไทยหดตัว 3%ในครึ่งปีแรก โดยมีสัดส่วนถึง 87% ของภาคการส่งออกทั้งหมด อุตสาหกรรมที่ตกต่ำมากที่สุดคืออุเหมืองแร่ (-28.3%) ส่วนอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตในแดนบวก คือ ภาคการเกษตร (+3.7%) ผลิตภัณฑ์ยางพาราและพลาสติก (+5.6%) อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่โลหะ (+9.2%) โลหะ (+29.9%)