บมจ.ทิพยประกันภัย ปลื้มผลงานปี 2562 กำไรสุทธิกว่า 1,863 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21% และกำไรสุทธิต่อหุ้น 3.11 บาท ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับรวมเฉียด 2.2 หมื่นล้านบาท ด้านเอ็มดี "ดร.สมพร สืบถวิลกุล" ประกาศเดินหน้ายึดกลยุทธ์เชิงรุกเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า หวังขยายฐานรายย่อย พร้อมบุก ตลาดต่างประเทศ
ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ว่า บริษัทฯมีผลการดำเนินงานขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิรวม 1,863.19 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 3.11 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,531.16 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.55 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 332.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 21.68%
โดยเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 21,846.25 ล้านบาท เทียบกับจำนวน 20,521.83 ล้านบาท ในปี 2561 คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวมเพิ่มขึ้น 1,324.42 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.45% ประกอบด้วย เบี้ยประกันอัคคีภัย 1,792.51 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 422.61 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรถยนต์ 4,138.90 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด 15,492.23 ล้านบาท
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ดร.สมพร กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ปรับนโยบายและเน้นกลยุทธ์ในเชิงรุกเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน หรือไลฟ์สไตล์ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและคำนึงถึงความสะดวกรวดเร็วเป็นหลัก ดังนั้นบริษัทฯ จึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้วยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น
“ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ทิพยประกันภัย ได้วางรากฐาน ด้วยการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรองรับนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการในทุกช่องทาง ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าและนโยบายหลักที่จะก้าวเป็นผู้นำด้าน Digital Insurance ” ดร.สมพร กล่าว
ล่าสุด ทิพยประกันภัย ได้ร่วมกับบริษัท เวลธิเทคฟิน จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันผลิตภัณฑ์ทางการเงินบนมือถือ “WEALTHI” หรือเวลธ์ติ พัฒนาผลิตภัณฑ์ไมโครอินชัวร์รันส์ ขายกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ (PA) ราคาประหยัดเพียงปีละ 100 บาท คุ้มครองทุนประกัน 1 แสนบาท รวมถึงการขายพรบ.รถยนต์ ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงการประกันภัย พร้อมขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน บริษัทฯได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการมากขึ้นด้วย อาทิ การออกผลิตภัณฑ์กรมธรรม์ประกันภัยโรคร้ายแรงจาก PM 2.5 ที่ให้ความคุ้มครองโรคร้ายที่อาจเกิดจาก PM 2.5 หรือจากสาเหตุอื่นๆพร้อมชดเชยง่ายๆแบบ เจอปุ๊บจ่ายปั๊บ และกรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโควิด-19 ด้วยเบี้ยประกันภัยในอัตราพิเศษ ซึ่งจะสามารถคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย รวมถึงชดเชยให้แก่ทายาทในกรณีที่เสียชีวิต เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างความอุ่นใจให้แก่ลูกค้า
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2563 นั้น ดร.สมพร กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการขยายตัวไว้สูงกว่าภาพรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยที่ส่วนใหญ่ประกาศอัตราการเติบโตไว้ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) หรือทั้งอุตสาหกรรมน่าจะขยายตัวประมาณ 2-3% โดย บมจ.ทิพยประกันภัยยังคงเน้นกลยุทธ์เชิงรุกตามแผนที่ได้วางไว้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้บริษัทฯ จะเดินหน้าขยายธุรกิจในต่างประเทศ ด้วยการมองหารูปแบบการลงทุนแนวใหม่ โดยจะพิจารณาแผนการรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศเข้ามา หลังจากปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก A.M.best สถาบันจัด เรตติ้งของสหรัฐฯ ในระดับ A-(Excellent) ทำให้ความน่าเชื่อถือ ทางด้านศักยภาพในการรับประกันภัย (Capacity) เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นบริษัทประกันวินาศภัยที่มีการประกันภัยต่อ แบบสัญญา (Treaty Reinsurance) รายใหญ่ที่สุดในไทย
“ทิพยประกันภัย ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวเป็นผู้นำธุรกิจประกันวินาศภัย โดยยึดหลักธรรมาภิบาล สร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า ให้ได้รับการชดเชยสินไหมที่รวดเร็วและเป็นธรรม รวมถึงการจัด ทีมจิตอาสา ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนทั่วไปที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น การส่งทีม TIP Smart Assist และหน่วยหนุมานทิพยจิตอาสา ลงพื้นที่ช่วยเหลือเหตุการณ์คนร้ายกราดยิง ที่ จ.นครราชสีมา และเหตุเพลิงไหม้ ที่ชุมชนคลองขวาง ย่านพระราม 3 เป็นต้น ตามสโลแกนของบริษัทฯที่ว่า “ทิพยประกันภัย ห่วงใยทุกชีวิตในสังคม” ดร.สมพร กล่าว