การกลับมาทวงบัลลังก์เจ้าตลาดอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตั้งแต่ปี 2557 สารพัดปัญหารุมเร้าประเทศไทย เศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทต่าง ๆ ล้วนได้รับผลกระทบ แม้แต่ “ซูโม่” ยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ก็ยังแทบเสียหลัก แต่ด้วยหัวใจนักสู้ ไม่ท้อถอย วันนี้ โออิชิ กรุ๊ป จึงสามารถฝ่าวิกฤต กลับมาครองตำแหน่งผู้นำตลาดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นได้อีกครั้งอย่างสง่างาม
โออิชิ กรุ๊ป งัดหมัดเด็ด ชูกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน มาพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการสร้างความแตกต่าง ได้แก่ 1. Product Innovation - ชู “นวัตกรรม” นำทุกภาคส่วน ทั้งการผลิต ผลิตภัณฑ์ และการตลาด เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการให้โดดเด่น 2. Brand Engagement – เสริมความแข็งแกร่งให้แบรนด์อย่างต่อเนื่องพร้อมดึงผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมการตลาดอันหลากหลาย 3. Distribution Excellence – ใช้การ Synergy และ Collaboration กับเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย และตลาดต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการจัดทัพใหม่ สร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างทีมเวิร์คที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการรวมเอามืออาชีพมาร่วมกันแก้สถานการณ์ จนพลิกฟื้นให้โออิชิกลับมาเป็นแชมป์อย่างองอาจอีกครั้ง
ความสำเร็จในวันนี้ แบรนด์ลีดเดอร์อย่าง ‘โออิชิ’ สามารถพิสูจน์ให้เห็นจากการเติบโตในทุก ๆ ด้าน ทั้งยอดขาย กำไร ส่วนแบ่งการตลาด และภาพลักษณ์แบรนด์ มารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยว่า “ผลประกอบการของโออิชิ กรุ๊ป ประจำปีงบประมาณ 2559 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 ก.ย. 59) ถือว่าเกินความคาดหมายที่เราตั้งไว้ โดยมีรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 10,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจอาหารจำนวน 4,906 ล้านบาท การเติบโตถือว่าทรงตัวจากปีที่ผ่านมา (-0.4%) ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มมีรายได้จำนวน 5,493 ล้านบาท เติบโต 17% เนื่องจากการเปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ การสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดในช่วงซัมเมอร์ที่โดนใจผู้บริโภค และธุรกิจรับจ้างผลิตเครื่องดื่ม (OEM) สำหรับกำไรสุทธิรวม บริษัทได้ ผลกำไรสุทธิรวม 887 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 90% จากปีก่อน แบ่งเป็นผลกำไรสุทธิจากธุรกิจอาหาร 88 ล้านบาท เติบโต 183% เนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการปรับกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกที่ช่วยผลักดันยอดขายและผลกำไรให้สูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มมีกำไรสุทธิ 799 ล้านบาท เติบโต 83% เนื่องจากการบริหารกำลังการผลิตและการบริหารงบประมาณการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นแคมเปญที่น่าสนใจกับผู้บริโภค”
จากเป้าหมายอันท้าทาย สู่วิสัยทัศน์ 2020 ทำให้โออิชิต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร-จัดการในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมทำกิจกรรมการตลาด โดยยึดหลักการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง โดดเด่น และมีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน ภายใต้แนวคิดหลัก คือ (1) Premium Mass Market Lead Innovation นำตลาดด้วยนวัตกรรม เพื่อครองผู้นำตลาดแมสพรีเมี่ยม (2) Uncompromised Japanese Quality and Taste มอบคุณภาพของสินค้าและบริการด้วยมาตรฐานระดับญี่ปุ่น (3) Mindful Pleasure เป็นแบรนด์ที่ช่างคิด สร้างสรรค์ สนุกสนาน
ด้าน ธุรกิจอาหาร กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร (Restaurant) ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สำหรับแผนการดำเนินงานของธุรกิจในปี 2560 เพื่อรองรับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น และความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายและเฉพาะเจาะจงขึ้น “โออิชิ” จึงปรับยุทธศาสตร์ พร้อมดำเนินธุรกิจเชิงรุก โดยเริ่มต้นจากแบรนด์ “ชาบูชิ” กับภาพลักษณ์ใหม่ “Shabushi and So Much More” ภายใต้แนวคิดที่ว่า ชาบู ซูชิ และอีกมากมาย...ล้นสายพาน! ด้วยการพัฒนาเมนูใหม่สารพัดหลายสิบเมนู นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะปรับภาพลักษณ์ให้กับ โออิชิ บุฟเฟต์ (OISHI Buffet), นิกุยะ (NIKUYA By OISHI), คาคาชิ (KAKASHI By OISHI) ให้ดูมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น พร้อมพัฒนาและสร้างสรรค์สินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเจาะโลเคชั่นใหม่ ๆ ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น และล่าสุด เตรียมพบกับ “นิยามใหม่ของร้านอาหารญี่ปุ่น” แห่งแรกในประเทศไทย พร้อมส่งมอบประสบการณ์เหนือชั้นผ่านสุดยอดทีเด็ด! “โออิชิ อีทเทอเรียม” สัมผัสรสชาติที่พาคุณเดินทางสู่ญี่ปุ่น เร็วๆ นี้”
สำหรับ กลุ่มธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat “RTE”) นั้น มารุต บูรณะเศรษฐกุล กล่าวเสริมว่า “สำหรับแผนการตลาดในปี 2560 นี้ ทางหน่วยงานพัฒนาธุรกิจอาหารยังคงเน้นเรื่องการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบสินค้า เมนู และรวมถึงรสชาติที่ยังคงพิถีพิถันในการปรุงรสชาติให้อร่อยถูกปากคนไทย รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานใหม่ๆ ที่โดดเด่นทั้งรูปแบบ คุณลักษณะผลิตภัณฑ์ และการบรรจุหีบห่อ เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนั้นทางหน่วยงานพัฒนาธุรกิจอาหารยังเตรียมแผนในเรื่องการขยายตลาดและช่องทางการขายในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ชีวิตที่เร่งรีบในยุคปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น”
ขณะที่ ธุรกิจเครื่องดื่ม เจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “หน้าที่ของผู้นำตลาดต้องมีการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้ตลาดมีการเติบโต เรามองเห็นว่าตัว Penetration มันคงที่มานาน จึงต้องขยายการดื่มออกไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นซึ่งต้องการดื่มอะไรที่แปลกใหม่ จึงเป็นที่มาของการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ‘โออิชิ องุ่นเคียวโฮ’ ซึ่งสามารถสร้างทั้งกระแสและเพิ่มยอดขายให้โออิชิขนาด 380 มล. ได้ถึง 32.6 % (YTD Oct 2016) ขึ้นแท่นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดแห่งปีจากการสำรวจของ Neilson การหันมานำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ กลายเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยขยายฐานการดื่มไปสู่กลุ่มคนดื่มใหม่ๆ และในปีที่ผ่านมาเรายังจัดแคมเปญโปรโมชั่นที่สร้างสรรค์ โดยเล็งเห็นพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ชอบทำอะไรสนุกสนาน และมีแบบอย่างเป็นศิลปินที่ชื่นชอบ เราจึงดึงศิลปินขวัญใจวัยรุ่นมาเป็นแม็กเน็ตในการจัดแคมเปญโปรโมชั่นต่างๆ ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นแบรนด์ของคนรุ่นใหม่ อาทิ แคมเปญ “รหัสโออิชิ กองทัพแมว เนโกะทองคำ” และล่าสุดกับแคมเปญ “โออิชิ ทริปสุดโอ โกเจแปน” ตอนฟินหิมะกระจาย กับ 12 เจ้าชายในฝัน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค”
“นอกจากนี้ อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของโออิชิกรีนที คือ ความสำเร็จในการบุกตลาดต่างประเทศ โออิชิครองแชมป์เจ้าตลาดอันดับ 1 ที่ลาวและกัมพูชา รวมทั้งล่าสุดขึ้นแท่นแบรนด์อันดับ 1 ของตลาดชาเขียวในประเทศมาเลเซีย ด้วยกลยุทธ์ Effective Communication และการ Collaboration ระหว่างบริษัทกลุ่มพันธมิตรในเครือ F&N ในด้านการผลิตและการกระจายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เจษฎากร โคชส์ กล่าวปิดท้าย
ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จที่เกิดจากทีมเวิร์คที่แข็งแกร่ง กลยุทธ์ที่เหนือชั้น โออิชิ กรุ๊ปจึงสามารถผ่านพ้นวิกฤต และก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแบรนด์ชั้นนำของประเทศไทย ครองใจผู้บริโภค และครองความเป็นแชมป์ในสังเวียนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มญี่ปุ่นได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน