ปี 2563 เป็นปีที่มีอะไรหลายอย่าง ซึ่งคาดไม่ถึงหรือไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเกิดโรคระบาดแบบทั่วโลก ของไวรัส COVID-19 การเกิดวิกฤตน้ำมันที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในกลุ่มโอเปคพลัส (ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซียที่ไม่สามารถตกลงเรื่องปริมาณการผลิตน้ำมัน) และผลกระทบต่อเนื่อง คือ ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวอย่างที่ไม่เคยเกิดขั้นรุนแรงแบบนี้มาก่อน จนหลายตลาดใช้มาตรการ Circuit Breaker (ปิดพักการซื้อขาย 30 นาที เมื่อดัชนีติดลบ 10%) รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ใช้ 2 ครั้งและล่าสุดวันที่ 19 มี.ค. 63 ได้ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ โดยดัชนีติดลบครั้งแรก จาก -10% เป็น -8% หยุดซื้อขาย 30 นาที)
'Black Swan' เป็นสิ่งที่ผู้เขียนนึกขึ้นมาในทันที!!
ชีวิตทางธุรกิจและการดำเนินชีวิตตามปกติที่ผ่านมาเราเชื่อมั่นมากในเรื่อง 'การคาดทำนายอนาคต' ด้วยความรู้ซึ่งเรามี เช่น การวิเคราะห์ทัศนภาพ (Scenario Analysis) การพยากรณ์ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ (วิเคราะห์ด้วยสมการถดถอยทั้งเส้นตรงและพหุคูณ) หรือการพยากรณ์ (Forecasting) จากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ทางเศรษฐศาสตร์ การเมือง และการเงินปัจจุบันอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีและดิจิทัล เป็นต้น
แต่ความไม่แน่นอนก็มีหลายอย่างที่เราคาดการณ์ไม่ได้ หรือ ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น
การอธิบายถึงเรื่องและสิ่งที่อุบัติขึ้นและปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิด Nassim Nicholas Taleb เคยเป็นอดีตเทรดเดอร์ ปัจจุบันสอนอยู่ที่ Tandon School of Engineering มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ได้สร้างการอธิบายเรื่องดังกล่าวเรียกว่า Black Swan (ซึ่งแต่เดิมโลกตะวันตกเชื่อว่า มีแต่ 'หงส์สีขาว' แต่เมื่อค้นพบทวีปออสเตรเลียจึงได้พบ 'หงส์สีดำ' - 'การไม่รู้ทำให้เชื่อว่าไม่มี')
อะไรคือ Black Swan?
ปกติ Black Swan จะมีองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกัน คือ
ตัวอย่างการเกิดของ Black Swan เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ วิกฤต Brexit หงส์ดำตัวต่อมาคือ COVID-19 (เกิดที่อู่ฮั่น ประเทศจีน หลังจากนั้นก็มีการแพร่ระบาดระดับโลก)
การเกิด Black Swan ที่ผ่านมา (ด้านซ้ายของรูป) ส่วนด้านดีๆ ที่คาดการณ์ได้ White Swan (รูปด้านขวา)
ที่มา:*https://www.zerohedge.com/sites/default/files/images/user92183/imageroot/2015/11/SGSwanChart.png
ประเทศไทยกับ Black Swan
ผู้เขียนจำลองแนวคิดเกี่ยวกับ Black Swan ของประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คาดการณ์ไม่ได้ ผลกระทบมหาศาลและภายหลังเราสามารถรวบรวมข้อมูลและเรื่องราวอธิบายได้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะแรก “วิกฤตชาติ” ได้ทดลองทำเส้นการเดินทางของเวลา (Timeline) สำหรับความเป็นมาของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือ
การเกิด Black Swan ที่ผ่านมาของอาณาจักรไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โดยสรุป เราจะพบว่า อาณาจักรหรือชาติเราจะล่มสลายในทุกๆ ประมาณ 200 ปี ถ้ากรุงเทพฯ นับจากพ.ศ. 2325-2539 ที่แบ่งแยกการเมืองรุนแรงและมีรัฐประหารประเทศเศรษฐกิจล่มจมประมาณ 200 ปี (214 ปี)
ลักษณะที่สอง “วิกฤตการเงิน” เป็นวิกฤตในยุคปัจจุบัน เช่นในปี 2521 วิกฤตค่าเงินบาท (ซึ่งเกิดมาจากวิกฤตของตลาดหุ้นไทย ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ไม่ได้รับความเชื่อมั่น เงินบาทไหลออกจากระบบ ทำให้สภาพคล่องของระบบเสียหาย ภาคการผลิตจริง และภาคการเงินล้มลง)
ต่อมา ในปี 2523 ไทยขาดดุลการค้าประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท และพยายามที่จะให้ค่าเงินบาท ลอยตัวตั้งแต่ปลายปี 2521 เพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนไว้ไม่ให้เกิน 21 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ทุนรักษาระดับฯ พยายามขายเงินดอลลาร์ออกเพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ แต่สุดท้ายก็รักษาไว้ไม่ได้ รัฐบาลได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ตามโครงการเงินกู้ Stand-by รวม 5 ครั้งด้วยกัน ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,431 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยเข้าโครงการ Stand-by ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2521 จำนวนเงิน 45.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครั้งที่ 2-4 ต่อมาเป็นช่วงที่ไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2524 -2529 ประเทศไทยได้เข้าโครงการ Stand-by 3 ครั้ง จำนวนเงินทั้งหมด 1,486 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนครั้งที่ 5 ล่าสุด คือ สิงหาคม 2540 ไทยได้รับความช่วยเหลือจาก IMF เป็นวงเงินทั้งสิ้น 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลการเข้าโครงการ IMF สรุปจากธนาคารแห่งประเทศไทย)
ต่อมาในปี 2549 คนไทยในระบอบประชาธิปไตยแบ่งสี จนกระทั่งมีรัฐประหาร เศรษฐกิจตกต่ำพังพาบยาว และปี 2557 เกิดรัฐประหารครั้งที่ 2 ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง
จนกระทั่ง 12 มี.ค. 2563 ด้วยปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว บวกกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก (เริ่มจากระบาดจากเมืองอู่ฮั่น) และการตกลงกันไม่ได้ของการประชุมน้ำมันกลุ่มโอเปคพลัส (ระหว่างระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย) ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ช่วงบ่ายร่วง 125.05 จุด หรือ -10% มาอยู่ที่ระดับ 1,124.84 จุด จนต้องใช้ Circuit Breaker ครั้งแรกของปี 2563 (ปิดทำการเป็นเวลา 30 นาที) แล้วเปิดใหม่ และปิดตลาดเวลา 16.30 น ด้วยดัชนี 1,114.91 จุด ลดลงไปถึง 134.98 จุด(-10.80%)
Circuit Breaker ครั้งที่ 2 วันที่ 13 มี.ค. 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เปิดตลาดที่ 1,114.91 จุด ก่อนจะปรับลดลง 111.52 จุด หรือลดลง 10% มาอยู่จุดต่ำสุดที่ 1,003.39 จุด ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว 30 นาทีตามเกณฑ์ (ตั้งแต่เวลา 09:59 ถึง 10:29 น.) (หากจะนับการใช้ Circuit Breaker ปี 2563 เป็นครั้งที่ 4-5 ของประเทศไทย!!)
การวิเคราะห์ปรากฏการณ์ Black Swan อยู่ประมาณ ทุก 9-12 ปี (ยกเว้นครั้งล่าสุด เพียง 7 ปี) ก็อนุโลมว่า โดยเฉลี่ยประมาณทุก 10 ปีเราจะล่มจมจนเห็นรูปแบบตามรูปที่ 3
การเกิด Black Swan ในวิกฤตทางการเงินของประเทศไทย
ลักษณะที่สาม 'วิกฤตจากธรรมชาติ (รวมอุทกภัย โรคระบาด)' เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันทำให้การเดินทางและสิ่งต่างๆ รวดเร็วขึ้น วิกฤตธรรมชาติก็ไม่ต่างกันเราเกิดสึนามิ (ปี 2547) น้ำท่วมใหญ่ประเทศ (ปี 2554) และ COVID-19 (ปี 2562-63) จนถึงขณะนี้การระบาดเพิ่มมากขึ้น จนต้องมีมาตรการปิดสถานที่เสี่ยงทั้งสถาบันการศึกษา ห้างสรรพสินค้า (ยกเว้นด้านขายอาหาร) สนามมวย สถานบันเทิง พับบาร์ อาบอบนวด ฯลฯ
ปัจจุบัน Black Swan จะเกิดประมาณ 9 ปีครั้ง ซึ่งเราจะพบว่า วิกฤตเริ่มเกิดเร็วขึ้น แทนที่จะเป็นทุกๆ 10 ปี กลับมาเร็วขึ้นอยู่ประมาณ 8-9 ปี (เดิมผู้เขียนเคยคาดการณ์แต่ก่อนนี้ประมาณทุก 50 ปี)
Black Swan ในวิกฤตธรรมชาติของประเทศไทย
วิธีการที่เป็นไปได้ ซึ่งพอรับมือกับ Black Swan
Nassim Nicholas Taleb ได้เสนอไว้อยู่ 2 แนวทางคือ
การรับมือกับวิกฤต เราอาจไม่ได้เตรียมการ ระบบเตือนภัยที่อาจไม่ทันการณ์ แต่หากเราศึกษา Black Swan ของประเทศไทยตามการวิเคราะห์ข้างต้น เราก็ยังมีเส้นเวลาพอที่จะบ่งชี้ช่วงเวลาของ Black Swan ในอนาคตได้
นี่จึงทำให้นึกถึง 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี' ... 'ประเทศไทย 4.0' ฯลฯ ซึ่งถ้าให้ได้ผลคงต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่ เปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ การรับมือแบบใหม่ที่จะต้องคิด ผู้เขียนส่งสัญญาณว่าเป็นคำถามที่ท้าทายมากของประเทศไทยในปี 2571 - 2572 หรือ ปี 2573 อาจไม่ใช่อีก 20 ปีข้างหน้าครับ
ผู้เขียน : ดร.ดนัย เทียนพุฒ
ที่ปรึกษาธุรกิจและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ