LPN เกี่ยวก้อย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน บูรณาการองค์ความรู้ในทุกกระบวนการออกแบบ กำหนดผลักดันให้เกิดการประหยัดพลังงานในทุกโครงการที่พัฒนา ด้าน พพ. หวังต่อยอดความร่วมมือครั้งนี้สร้างแบบอย่างที่ดีให้ภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกำหนดการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มขึ้น
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน : ทิฆัมพร เปล่งศรีสุข ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานว่า “ในส่วนของ LPN ที่มีภารกิจหลักในการเป็นผู้พัฒนาอาคารชุดพักอาศัยภายใต้แบรนด์ “ลุมพินี” มาตลอด 27 ปี ได้ตระหนักดีว่า บริษัทสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์พลังงานด้วยวิธีต่างๆ จึงได้กำหนดแผนจัดการพลังงานในระยะยาว ทั้งโครงการเก่า และโครงการก่อสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การพัฒนา LPN Green Design ซึ่งเป็นขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยประสานแนวคิดในการพัฒนาโครงการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบริษัทเข้ากับมาตรฐานอาคารเขียวสากล
ส่วนที่สองคือ การพัฒนา LPN Green Construction ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพชีวิตของคนงานก่อสร้าง โดยอ้างอิงจากมาตรฐานสากล ตลอดจนการดำเนินโครงการ Energy Research เพื่อศึกษาวิเคราะห์การใช้พลังงานในโครงการ และนำมาวางแผนจัดการพลังงาน การบำรุงรักษาอุปกรณ์งานระบบ และการรณรงค์เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในโครงการเกิดการมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงานได้อย่างตรงจุดมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหาร “ชุมชนน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย” ของบริษัทในเครือ บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด ทั้งนี้เพื่อการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการการอนุรักษ์พลังงาน นำไปสู่ความอย่างยั่งยืนในที่สุด”
ขณะเดียวกัน ประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (EEP 2015) พ.ศ.2558 - 2579 กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานไว้ตามภาคเศรษฐกิจที่มีการใช้พลังงานมาก ได้แก่ ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และภาคบ้านอยู่อาศัย โดยใช้กลยุทธ์และมาตรการดำเนินงานแบบผสมผสานทั้งมาตรการบังคับใช้ด้วยกฏหมาย มาตรการจูงใจสนับสนุนทางการเงิน และผลักดันให้มีการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code หรือ BEC) กับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรืออาคารดัดแปลง ขนาดพื้นที่มากกว่า 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป โดยจะต้องออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนด ปัจจุบันถูกกำหนดให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ปรับปรุงแก้ไขร่างกฏหมายให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2560 นำร่องใช้กับอาคารขนาดใหญ่พื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไปก่อน และทยอยบังคับใช้กับอาคารพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม. ภายในปี 2562 ดังนั้น พพ. จึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้ดังกล่าว โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมในเรื่องการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 เตรียมความพร้อมบุคลากรผู้ออกแบบอาคาร สถาปนิก วิศวกร เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่อนุญาตการก่อสร้าง รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ให้มีความรู้ความเข้าใจในนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของภาครัฐ
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะแสดงเจตจำนงค์ที่องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน จะร่วมกันส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับภาคเอกชนรายอื่นๆ ได้ดำเนินการต่อไป”
สำหรับก่อนหน้านี้ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน ปี 2559 จาก ประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ในงานมอบฉลากแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน 2559 (BEC Awards 2016) โดยวัตถุประสงค์ของงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญและดำเนินการออกแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคาร BEC (Building Energy Code)โดย LPN ได้ส่ง 3 โครงการ 10 อาคารชุดพักอาศัย ได้แก่ โครงการลุมพินี พาร์ค เพชรเกษม 98 (4 อาคาร) โครงการลุมพินี วิลล์ อ่อนนุช-ลาดกระบัง (4 อาคาร) และโครงการลุมพินี พาร์ค พระราม9-รัชดา (2 อาคาร) เข้าร่วมตรวจประเมินแบบอาคารในโครงการบริหารศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่ง LPN เป็นหนึ่งใน 40 หน่วยงานภาคเอกชนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากการตรวจประเมินดังกล่าว