ผลพวงจากวิกฤติโควิด - 19 ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเรานั้นต้องเปลี่ยนไป หนึ่งในนั้น คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากที่เช้าต้องเดินทางไปที่ออฟฟิศ กลับต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home ซึ่งเกือบทุกบริษัทได้ออกคำสั่งนี้แก่พนักงานเพื่อลดการระบาดของโรค จริงอยู่ที่การทำงานจากที่บ้านช่วยลดระยะเวลาการเดินทางทว่ากลับเพิ่มความยุ่งยากในการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม จุดนี้เองทำให้แพลตฟอร์มการประชุมผ่านทางไกล เริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเวทีแจ้งเกิดให้กับ ‘Zoom’ แอปพลิเคชันอายุ 9 ปีเลยทีเดียว
จุดเริ่มต้นของ Zoom
Zoom ถูกก่อตั้งโดย ‘อีริก หยวน’ วิศวกรซอฟต์แวร์ที่ย้ายตัวเองจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปเติบโตในซิลิคอนวัลเลย์ โดยเริ่มงานที่แรกกับ WebEx ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ VDO Conference ก่อนจะถูกขายและเปลี่ยนชื่อเป็น Cisco WebEx ตัวเขาเองก็ทำงานอยู่ที่เดิม และเติบโตในหน้าที่การงาน วันหนึ่งเขาพบว่า ระบบที่เขาทำนั้นยังไม่ดีพอ และด้วยความเป็นองค์กรใหญ่การจะปรับเปลี่ยน หรือ เสนอไอเดียใหม่ๆ ต้องใช้เวลาและขั้นตอนที่ยุ่งยากมากมายทำให้ตัวเขาอึดอัดและตัดสินใจออกมาตั้งบริษัทของตัวเองที่ชื่อว่า Zoom Video Communications ในปี 2011 กลายเป็นที่มาของ Zoom นั้นเอง
ความแตกต่างของ Zoom
จริงๆ แล้วในตลาดใช่ว่า Zoom จะเป็นเจ้าเดียวที่ทำแพลตฟอร์มการประชุมผ่านทางไกล แต่ Zoom เองก็ต้องเจอคู่แข่งที่ถือเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกไอทีเหมือนกันทั้ง WebEx ของ Cisco อันเป็นถิ่นเดิมของผู้ก่อตั้ง Zoom, Google Hangouts และ Microsoft Teams แต่สิ่งที่ทำให้ Zoom ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้ง ใช้งานง่าย เหมือนกับใช้ FaceTime ใน iPhone โดยเฉพาะการติดตั้งไม่ต้องดาวน์โหลดโปรแกรมให้ยุ่งยาก เพียงคลิกที่ลิงก์และส่งคำเชิญ Zoom ก็จะเริ่มการประชุม หากยังไม่ติดตั้ง Zoom จะแจ้งให้ดาวน์โหลดและติดตั้ง คลิกไม่กี่ครั้งก็เรียบร้อยใช้เวลาไม่นาน เข้าใจง่าย ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็สามารถทำได้เอง
โดยสามารถใช้ได้กับทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล, iPad, iPhone หรือกระทั่งอุปกรณ์ที่ใช้ Android ที่สำคัญเลยคือมีการใช้งานที่ฟรีที่มาพร้อมกับคุณสมบัติที่หลากหลายทั้ง สามารถบันทึกการประชุมได้ และสามารถสตรีมวิดีโอคุณภาพสูงมีลูกเล่นที่สนุกสนาน สามารถเปลี่ยนภาพพื้นหลังได้ เหล่านี้ทำให้ Zoom เป็นที่ถูกอกถูกใจของคนใช้งานทั่วไปจนทุบสถิติ จากข้อมูลพบว่า Zoom ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดใน Apple App Store โดยสามารถทำลายสถิติใน 23 มีนาคม ซึ่งมีการดาวน์โหลด Zoom มากกว่า 2.13 ล้านครั้งทั่วโลกในวันเดียว
ซึ่งหากย้อนกลับไปจะพบว่า ก่อนหน้านี้ Zoom มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกน้อยกว่า 56,000 ครั้งในหนึ่งวัน ซ้ำตัวเลขดาวน์โหลดที่ก้าวกระโดดยังมาพร้อมกับตัวเลขการใช้งานที่ก้าวกระโดด ย้อนกลับไปช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ Zoom มีการใช้งานเฉลี่ย 10 ล้านคนต่อวัน แต่การมาของโควิด-19 ทำให้ตัวเลขการใช้งานเพิ่มขึ้นมาเป็น 200 ล้านคนต่อวันในวันที่ 1 เมษายน ถัดจากนั้น 3 สัปดาห์ตัวเลขการใช้งานได้พุ่งขึ้นเป็น 300 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
‘ความปลอดภัย’ เรื่องที่ยังแก้ไม่ตก
อย่างไรก็ตามแม้โอกาสในครั้งนี้จะทำให้มีตัวเลขการใช้งานที่ก้าวกระโดด แต่มีสิ่งหนึ่งที่กำลังรอให้ Zoom ‘พิสูจน์’ ฝีมืออยู่ นั้นคือปัญหาในด้านความปลอดภัย ระยะหลังๆ นี้ Zoom ถูกผู้ใช้กังขาด้านความปลอดภัยมาตลอดซึ่งมีหลากหลายข้อไล่มาตั้งแต่ Facebook SDK ที่พยายามส่งข้อมูลบางส่วนกลับไปที่ Facebook การไม่เข้ารหัสแบบ End-to-End หรือปัญหาร้ายแรงอย่าง Zoom Bombing ที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่ 3 เข้ามาร่วมประชุมกับเราได้
ข้อกังวลนี้เองทำให้หลายประเทศต่างออกคำสั่งเตือนไม่ให้ใช้งาน Zoom เมื่อต้องประชุมอย่างเป็นทางกางได้แก่ ทางการอินเดีย ไต้หวัน และเยอรมนี ได้ขอให้ข้าราชการหลีกเลี่ยงที่จะใช้งาน Zoom เช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ เช่น Google, Apple, NASA และ Tesla ก็ได้ออกโรงเตือนพนักงานของตัวเองเหมือนกัน
ที่ผ่านมา Zoom ก็ยอมรับว่า มีปัญหาจริงๆ และเร่งแก้ไขอยู่ ยิ่งโดนหลายประเทศส่งคำเตือน Zoom ถึงขนาดประเทศหยุดพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ 90 วัน เพื่อทุ่มเทให้กับการแก้ปัญหาความปลอดภัย ล่าสุดได้ออกมาประกาศว่า เวอร์ชั่น Zoom 5.0 ได้ปรับการปรับปรุงในหลายข้อเช่น อัพเกรดเป็นมาตรฐานการเข้ารหัสแบบใหม่ การตั้งรหัสผ่าน และอนุญาตให้ผู้ตั้งการประชุมรายงานผู้ใช้ได้ เป็นต้น
ต้องติดตามต่อว่า Zoom 5.0 ที่ออกมานี้จะแก้ปัญหาคาใจให้กับผู้ใช้งานได้หรือไม่ ?
บทความในนิตยสาร MarketPlus Magazine Issue 123 April-May 2020