สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ติดอาวุธผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงวิกฤติโควิด-19 ด้วยการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น 'กะรัต' เพื่อเป็นช่องทางให้คำปรึกษาและข้อมูลเชิงลึกผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อ สนับสนุนและเยียวยาผู้ประกอบการช่วงวิกฤติโควิด-19 พร้อมจับมือกับ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (CCI) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
เปิดตัวโครงการอบรมบ่มเพาะเพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ รับสมัคร 15 - 26 พ.ค.นี้ 400 คน
ดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยถึงการติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการฯ ว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต่างก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด -19 ขณะที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยถือได้ว่าเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ อีกทั้งไทยยังเป็นผู้ส่งออกพลอยสีอันดับ 3 ของโลก ดังนั้น เพื่อปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมและธุรกิจ ประกอบกับสถาบันฯ มีนโยบายสร้างองค์ความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับให้ครอบคลุมทุกมิติกับผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระดับสากล
สำหรับการติดอาวุธล่าสุดเป็นการพัฒนาโมบายล์แอฟพลิเคชั่น 'กะรัต' (Carat Application) ผ่านระบบ IOS และ Android เพื่อให้คำปรึกษาและข้อมูลเชิงลึกด้านอัญมณีและเครื่องประดับครบวงจรได้ทุกที่ทุกเวลา เหมาะสำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงผู้ที่สนใจ โดยสถาบันฯ ได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งด้านการตรวจสอบอัญมณี การตรวจสอบโลหะมีค่า ด้านการตลาด นักออกแบบ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น บทวิเคราะห์การนำเข้า/ส่งออก และให้บริการคำปรึกษาด้านเทคนิคนอกสถานที่ เพื่อให้คำปรึกษาด้านเทคนิคโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่ต้องการความช่วยเหลือ และเพื่อเร่งสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ รองรับมาตรการเร่งด่วนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ อีกทั้งมีแผนจะเปิดให้บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายการประกอบธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับและการบริหารจัดการ อีกด้วยในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีโครงการติดอาวุธเพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งดวงกมลกล่าวเพิ่มเติมว่า
"ล่าสุด สถาบันฯ ได้ดำเนิน โครงการอบรมบ่มเพาะเพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ โดยร่วมมือกับวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (CCI) โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ดำเนินธุรกิจไม่ถึง 3 ปีหรือผู้ที่สนใจเข้ามาดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ได้พบทางรอดธุรกิจในยุควิกฤติโควิดจากกูรูตัวจริงของวงการ โครงการนี้จะเป็นการอบรมออนไลน์ ซึ่งผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ฟรีระหว่างวันที่ 15 - 26 พฤษภาคม 2563 รับจำนวนจำกัด 400 คน"
โครงการนี้เป็นประโยชน์จริงๆ สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมา การจัดการอบรม ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หรือไม่ทางสถาบันฯ ก็จะต้องออกไปจัดที่ต่างจังหวัด แต่เนื่องจากปัจจุบันเราสามารถที่จะจัดการอบรมผ่านออนไลน์ได้ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก ไม่ต้องเดินทาง ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหม่ ผู้ประกอบการรายเก่า ที่คิดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนผู้สนใจเข้ามารับการอบรม เพื่อจะได้ก้าวข้ามปัญหา ซึ่งการอบรมครั้งนี้ จะมีการมอบวุฒิบัตรกับผู้เข้ารับการอบรมด้วย
ผศ.ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ รักษาการคณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (CCI) กล่าวว่า
"ความร่วมมือในโครงการดังกล่าว CCI เป็นผู้จัดทำเนื้อหาสาระบนออนไลน์ทั้งหมด รวมทั้งบนเวิร์คช็อปและเว็บบินาร์ (Webinar) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถถกประเด็นต่างๆ ได้ผ่านออนไลน์ พร้อมกันนี้ ก็จะมีการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการในโครงการบ่มเพาะฯ ผ่านแอปฯ กะรัตอีกด้วย ทั้งนี้ เนื้อหาของการอบรมเกี่ยวข้องกับสถานการณ์เครื่องประดับในยุคโควิทพบมุมมองธุรกิจ เทรนด์ นวัตกรรมในอนาคตฝั่งซีกโลกตะวันตกและตะวันออก, การดำเนินธุรกิจและการจัดการธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19, การลงทุนและสิ่งที่ผู้ประกอบการควรรู้ในการค้ายุคดิจิทัล, หลักการตลาดและรูปแบบทางเลือกสำหรับยุคดิจิทัล สำหรับการเรียนการสอนในเบื้องต้นที่รับมา 400 คนนั้นจะมีการคัดเลือกให้เหลือ 200 คน เพื่อหา Business Model Canvas โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งจะมีการทบทวน Business Model Canvas อย่างเข้มข้นอีกครั้งให้เหลือ120 คนและคัดเลือกรอบสุดท้ายเพียง 10 คนในที่สุด"
อนึ่ง การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง Q1/2563 มีมูลค่า 5,442.28 ล้านเหรียญสหรัญ เพิ่มขึ้น 71.85% แต่ถ้าหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 1,563 ล้านดอลลาร์ ลดลง 20.18% เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามไปกว่า 210 ประเทศทั่วโลก