นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า “วิกฤตการณ์โควิด19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม ธนาคารได้เห็นการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเริ่มเห็นขนาดของปัญหาและลูกค้าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สิ่งที่ต้องทำวันนั้น คือ ทำอย่างไรให้ขวัญและกำลังใจของคนในองค์กรเข้มแข็งที่สุด กระทั่งองค์กรแข็งแรงและนิ่งได้ จากนั้นจึงนำมาสู่การดูแลลูกค้าอย่างเร่งด่วน เพื่อลดภาระของลูกค้าให้มากที่สุด ผ่านมาตรการพักชำระหนี้มากกว่าหลายแสนราย รวมถึงการให้สินเชื่อเพื่อเป็นการเยียวยาลูกค้า โดยเป็นการทำงานคู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยดูแลคนไม่ให้ตกงาน เพราะธุรกิจของลูกค้าเมื่อโควิดหายไป ลูกค้าจะกลับมาได้ ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมเป็นเสาหลักของสังคมที่จะช่วยลูกค้าเท่าที่จะมีโอกาสได้นั้น”
ทั้งนี้ ธนาคารเชื่อว่า วิกฤตโควิด19 ยังไม่จบ และกว่าเศรษฐกิจจะกลับแข็งแรงแบบที่เคยเป็นมา คงต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น ธนาคารจึงใช้ห้วงเวลาดังกล่าวมาเป็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรและเปลี่ยนแปลงตัวเองผ่านยุทธศาสตร์ “SCB New Normal” ซึ่งจากรากฐานที่แข็งแรงจากการทำ Digital Transformation ทำให้ธนาคารมีขีดความสามารถในการเป็นองค์กรที่มีความตัวเบา และสามารถกำหนดรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) การปรับต้นทุนการให้บริการ แนวทางการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Engagement) การให้บริการกับลูกค้าในทุกๆ เซ็กเมนต์ และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ การสร้างคุณค่าใหม่ (Core Value) โดยมีความเข้าใจ หรือ Empathy เป็นแกนหลัก เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นและสำเร็จ และที่สำคัญ คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรและวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ (New Way of Work) ที่มีความคล่องตัว รวดเร็ว ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (SCB work from anywhere) กล้าที่จะลองผิดลองถูกเพื่อนำผลไปปรับปรุงและพัฒนาจนได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาองค์กรให้สามารถฝ่าคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังโหมกระหน่ำจากทุกทิศทางได้
ท่ามกลางภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น ธนาคารตระหนักและให้ความสำคัญต่อบทบาทหน้าที่ที่มีต่อลูกค้าและสังคม ด้วยการมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าในทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (SME) เพื่อบรรเทาปัญหาและความเดือดร้อนในส่วนที่ธนาคารสามารถทำได้อย่างเต็มความสามารถโดยมาตรการช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อ การพักหนี้ หรือการลดดอกเบี้ย เป็นการช่วยเหลือในระยะสั้น (short-term solution) ที่ช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าผ่านช่วงเวลายากลำบาก
นอกจากนั้น ธนาคารยังได้คิด long-term solution โดยการผนึกความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมาผสานเข้ากับวิถีองค์กรรูปแบบใหม่เพื่อช่วยเหลือลูกค้า สังคมและประเทศชาติ โดยพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาในเวลาเพียง 3 เดือนภายใต้ชื่อ “Robinhood” (โรบินฮู้ด) แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทยโดยไม่เก็บค่าจีพี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องเจอเมื่อนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งค่าจีพีนับเป็น Pain Point หลักของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กในปัจจุบัน
นายอาทิตย์ กล่าวว่า “ธนาคารหวังว่า Robinhood จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงเชนร้านอาหารต่างๆ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าและคนขับ เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป โดยมีภารกิจแรก คือ การเป็นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย มุ่งมั่นตั้งใจให้เป็นช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่หักค่าจีพีสำหรับร้านอาหารรายย่อย สมัครฟรี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เจ้าของร้านได้เงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ ตั้งเป้าพร้อมเปิดให้บริการปลายเดือนกรกฎาคม 2563”
“แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ภายใต้ชื่อ “Robinhood” จะดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบการลงทุนต่อปีประมาณหนึ่งร้อยล้านบาท จากความต้องการช่วยเหลือคนไทยให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน Robinhood จึงไม่ใช่เพียงแค่แพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างคนกับร้านค้า แต่เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมเศรษฐกิจ เป็นแพลตฟอร์มที่สื่อถึงการช่วยเหลือกัน การแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกัน ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก คือ จุดแข็งที่ทำให้คนไทย สังคมไทย และประเทศไทยสามารถรอดพ้นทุกวิกฤตที่เผชิญได้” นายอาทิตย์ กล่าวสรุป