ในยุคที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายต้องยอมรับว่าผลพวงหนึ่งที่ทุกคนต้องประสบพบเจอและต้องยอมรับนั่นคือ พฤติกรรมในการใช้ชีวิตของทุกคนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น การกิน การอยู่ และการดำเนินชีวิต หรือที่เราพูดถึงสถานการณ์ยามนี้ด้วยคำยอดฮิตติดปากว่า “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนทำงานแล้ว คนในทุกๆ สาขาอาชีพ ล้วนต้องปรับตัวเพื่อให้วิถีทางในการทำงานตอบรับ และสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงอาชีพนักประชาสัมพันธ์ ซึ่ง ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด กูรูด้านที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ ได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
ภาพรวมของธุรกิจที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
วงการประชาสัมพันธ์ถือว่าเป็นวงการที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยจาก ช่วงการแพร่ระบาดแต่กระนั้น หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ยังเดินหน้าในการสื่อสารต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเรื่อง มาตรการขององค์กรในการให้ความช่วยเหลือผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรต่างๆ หรือการสื่อสารเรื่อง ผลกระทบที่ได้รับก็ตามแต่ การสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสังคม ยังคงจำเป็นต่อทุกสถานการณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะที่มีความเปราะบางสูงอย่างนี้ ดังนั้น ความต้องการคำปรึกษาประชาสัมพันธ์จึง ยังมีความสำคัญ แต่ว่าจะในสเกลที่เล็กลง
นักประชาสัมพันธ์จะต้องปรับตัวอย่างไรในยุค New Normal
สมัยก่อนถ้าเรามองดูพีอาร์ในยุคก่อนก็จะพบว่า มีนักประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชน มีผู้รับข่าวสาร พอโลกดิจิตอลมา สื่อดั้งเดิม (Conventional Media) ก็ยังคงอยู่ แต่ขณะเดียวกันจะมีการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ ๆ มากมาย สื่อภาคประชาชนก็ดี หรือว่าสื่อดั้งเดิม เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ที่อพยพจากแพลตฟอร์มเดิมสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น แต่สิ่งที่ยังคงสำคัญตลอดและต่อเนื่องคือการจัดการเนื้อหา ไม่ว่าการสื่อสารจะเป็นช่องทางใด สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเนื้อหา ยุคนี้พอคนสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์มากขึ้น คนมีส่วนร่วมกับการบริโภคข่าวสารมากขึ้นซึ่งต่างจากเดิม อาจจะมีข่าวเรื่องของมาตรการเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เดิมคนอาจสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่ตอนนี้มันกระทบกับทุกคนเลยคนบริโภคข่าวสารก็จะมีจำนวนมากขึ้น การบริหารจัดการเนื้อหาให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้รับจึงมีความสำคัญเหมือนเดิม เพียงแต่รูปแบบจะต้องเร้าใจมากขึ้น ดึงดูดคนมากขึ้น เข้าใจง่ายมากขึ้น และเป็นทางการน้อยลงแบบนี้เป็นต้น
เทคนิคพร้อมแนวทางที่จำเป็นสำหรับแนวทางพีอาร์
การสื่อสารในภาวะที่การสื่อสารหลั่งไหลมาจากทุกภาคส่วน แหล่งข่าว องค์กรต่างๆ รวมถึงการตีความของภาคประชาสังคมจนกระทั่งยากจะแยกแยะ สิ่งใด ถูกต้อง ที่มามาจากแหล่งใด เชื่อถือได้เพียงใด ทำให้ การสื่อสารที่ "ชัดเจน" เปิดช่องให้มีการตีความน้อยที่สุด มีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือได้ จึงสำคัญกว่า ภาวะใดๆ การสื่อสารแบบ "ทำเรื่องยากให้ง่าย" "จัดลำดับความสำคัญของเนื้อหา" สำคัญที่สุด มาก่อนเพื่อน หรือเรียกว่า "เอาใจความบรรทัดที่ 9 มาไว้เป็นบรรทัดแรก" เพราะส่วนใหญ่คนอ่านแค่ 8 บรรทัด แต่ใจความสำคัญมักอยู่บรรทัดที่ 9 และ 10 หรือ นอกจากนี้ การสื่อสารด้วย กราฟฟิก สื่อสารด้วยภาพ แผนภาพ ที่ง่ายต่อความเข้าใจ และถูกจริต คนไทยจะถูกนำมาใช้มากขึ้น รวมถึงการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ ทีไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไปมาจะได้รับการยอมรับมากขึ้น ในฐานะที่เป็น New Normal
ทิศทางของธุรกิจด้านการสื่อสารและงานประชาสัมพันธ์หลังโควิด-19
หลังจากที่สถานการณ์ถูกควบคุมเอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง จนทุกคนสามารถจะกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบเป็นปกติ กิจกรรมต่างๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นสำหรับภาคเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างมโหฬารและมีจำนวนมาก จนงานด้านการตลาด งานด้านสื่อสารการประชาสัมพันธ์จะมีจำนวนมาก การวางแผนสำหรับอนาคตอันใกล้สำหรับการแย่งพื้นที่ข่าวกันอย่างดุเดือด จะทำให้บริษัทด้านประชาสัมพันธ์ที่ยังคงเหลือรอดและแข็งแรงเพียงพอมีแต้มต่อในการเดินหน้าต่อไป
หากใครเป็นนักประชาสัมพันธ์ ยามนี้คงต้องถามตัวเองว่าพร้อมไหม?? กับการปรับตัว ปรับใจ กับการทำงานในรูปแบบใหม่ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว