คำถามที่ธุรกิจอยากทราบมากที่สุดคือ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 จะคลี่คลายลงเมื่อไร ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนสู่ New Normal ณ ขณะนี้ จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่หรือการก้าวสู่ Next Normal อย่างไรที่สำคัญผู้ประกอบการจะสามารถตั้งรับและปรับโมเดลธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างไร
จากงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ“Next Normal รู้ก่อน รุกก่อน”โดย Bangkokbanksme ด้านข่าวสารความรู้เพื่อ SMEs ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เชิญวิทยากรจาก 3 วงการ 3 Generations มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ประเมินสถานการณ์แบบวิเคราะห์ เจาะลึกให้รู้ทัน รู้ก่อน พร้อมรุกธุรกิจเดินหน้าต่อไปภายใต้กระแสโลกที่เปลี่ยนเร็วด้วยการตลาดแบบตรงเป้า เข้าใจผู้บริโภค การพัฒนาช่องทางการค้าออนไลน์ที่ทันสมัย ขยายสู่ตลาดโลก การจัดการ Supply chain แบบมืออาชีพ และ New Business Model ที่ผู้ประกอบการต้องรู้เพื่ออยู่รอด
การตลาด Worldwide จากมุมมอง Generation Y
สำหรับ คุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร The Standard ตัวแทนมุมมองของคน Gen Y ที่แม้จะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกของชีวิต แต่เขากลับมองว่านี่คือความตื่นเต้น และเป็นโอกาส
“ส่วนตัวไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการเจอวิกฤติเศรษฐกิจและการแก้ปัญหามาก่อน แต่ก็ปลุกอารมณ์ฮึดสู้ได้ดีนะ เรามักได้ยินว่าทุกวิกฤติคือโอกาส จึงได้มีการประเมินว่าภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ ธุรกิจของเราจะมีโอกาสอย่างไรบ้างและจะปิดกั้นไม่ให้วิกฤติที่เกิดขึ้นส่งผลลบต่อธุรกิจได้อย่างไร”
เรื่องแรกที่นครินทร์ทำ คือ ตรวจสอบสภาพคล่องและกระแสเงินสดของบริษัทในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ “Cash is King” มีความสำคัญมากจากไม่เคยมีความรู้เรื่องการเงินและทำบัญชี ตอนนี้ถึงกับเชี่ยวชาญ รวมทั้งการปลุกคนในองค์กรให้รวมพลังทำงานแบบไม่มีวันหยุด ยืดหยุ่นการทำงานเป็น Work From Anywhere ที่ออฟฟิศ The Standard จึงเป็นแค่พื้นที่พบปะ ทำกิจกรรมร่วมกันเท่านั้น
ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ย่อมมีหลายธุรกิจที่ต้องล้มหายจากไป ผู้ประกอบการรายเล็กจะไปก่อน ดังนั้นการตลาดจึงมุ่งเป้าไปที่รายใหญ่ โดยจับสัญญาณได้ว่า ช่วงการระบาดของโควิด 19 ผู้คนต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน รวดเร็ว ขณะเดียวกันแบรนด์ต่างๆ ที่ยังมีกำลัง ก็มีความต้องการสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้นเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ งบประมาณด้านประชาสัมพันธ์ของธุรกิจขนาดใหญ่ จึงถือเป็น “โอกาส” สำหรับ The Standard ซึ่งเมื่อนับจากช่วงการระบาดของโควิด 19 รายรับของ The Standard เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติด้วยซ้ำ
“ผมมองว่านี่คือพลังของการปรับตัว และการสร้างโอกาสในช่วงวิกฤติ”
นครินทร์ กล่าวว่า ภายใต้ตัวเร่งของโควิด 19 ทำให้ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์เปิดโอกาสทางธุรกิจให้ทุกคน แต่กลยุทธ์ SMEs ถัดจากนี้ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน 'Philip Kotler' ปรมาจารย์
ด้านการตลาดที่มีชื่อเสียงของโลกกล่าวไว้ว่า ตอนนี้ Mass Marketing จบแล้ว จากนี้จะเป็น Very much Targeted Marketing เป็นโลกที่ใครๆ จะเลือกอะไรก็ได้ผ่านการซื้อขายออนไลน์ทำให้ไม่สามารถแบ่งตลาดเป็น Generation ได้อีกต่อไป ทุก Gen มีความเชื่อมโยงกัน กลุ่มเป้าหมายจึงโฟกัสที่ “Lifestyle” ไม่แบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยอายุ รายได้ ภูมิศาสตร์ แต่แบ่งแยกโดยคนที่มีความสนใจตรงกัน มี Lifestyle เหมือนกันเท่านั้น
นี่คือการตลาด SMEs ยุคต่อไปต้องทบทวนว่า กลุ่มเป้าหมายเป็นใครมีความสอดคล้องกับสินค้าหรือไม่ และถ้ายังไม่ใช่ ต้องรีบปรับให้เร็ว ที่สำคัญ คนทุกวันนี้สนใจแค่ปัจจุบันตรงหน้าเท่านั้น ทำให้ต้อง monitor ความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าตลอดเวลาด้วย
“SMEs ไม่มีกำลังมากพอสำหรับการตลาดแบบเหวี่ยงแห ต้อง focus กลุ่มเป้าหมายให้ชัด ปรับสินค้า บริการให้สอดคล้องกับ Lifestyle กลุ่มเป้าหมายสร้างความแตกต่างของสินค้า แต่ยังต้องรักษาตัวตนของสินค้าไว้ให้ได้”
นครินทร์ กล่าวอีกว่า ข้อดีของ SMEs คือ เล็กสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าธุรกิจขนาดใหญ่และหากสำรวจตลาดบ่อยๆ จะพบว่าบางช่วงมีสัญญาณบางอย่างที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค เกิดเป็นความต้องการใหม่ๆ จึงต้องศึกษาตลาดเท่าทันความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเร็วกว่าเสมอ
“ในทางกลับกันความเล็กก็เป็นจุดอ่อนของ SMEs ยากมากที่จะสร้างเทรนด์ใหม่ๆ ขึ้นมาเอง เพราะไม่มีเงินลงทุนมากพอจึงต้องเกาะติดกับเทรนด์ที่เกิดขึ้นอะไรมาใหม่ต้องเปลี่ยนให้ทันเปลี่ยนให้เร็ว อย่ารอให้ทำทันที เพราะถ้าไม่รีบทำ คนอื่นทำก่อน คุณจะถูกทิ้งให้อยู่ในลำดับท้ายๆ”
อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจมากในปัจจุบันคือ ธุรกิจแบบ B2B ที่มีมูลค่ามหาศาล ยกตัวอย่างเช่น Supply chain ในอุตสาหกรรมอาหาร ที่กว่าจะเป็นอาหารแต่ละจาน เครื่องดื่มแต่ละแก้ว มี Supply chain ที่รองรับหลากหลายกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ
ดังนั้น ธุรกิจยุคใหม่อย่ามองแค่ปลายทาง ต้องมองตลอด Supply chain ว่า ณ ขณะหนึ่งเกิดช่องว่างอะไรขึ้นบ้างและสามารถใช้ช่องว่างเหล่านั้นแสวงหาโอกาสได้อย่างไร
ฝ่าวิกฤติโควิด เปิดโอกาสค้าออนไลน์ มุมมอง Generation X
คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO ตลาด ดอท คอม ผู้เชี่ยวชาญด้าน E-Commerce แถวหน้าของเมืองไทย ปัจจุบันลงทุนในธุรกิจ Startup กว่า 26 บริษัทแทบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับออนไลน์และ E-Commerce ช่วงโควิด 19 และการ Lockdown ประเทศที่ผ่านมา ธุรกิจออนไลน์ทุกภาคส่วนที่เขาลงทุนเติบโตสวนกระแส คุณภาวุธจึงเป็นอีกคนที่สามารถบอกเราได้ว่า การเฟ้นหาโอกาสในช่วงวิกฤติโควิด ธุรกิจควรจะรับมือและปรับตัวอย่างไร
“เราโชคดีที่ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน อาทิ ระบบชำระเงินที่ดี การทำธุรกรรมทางการเงินจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนไทย มีระบบ Logistics Network ที่เข้มแข็ง ช่วง Lockdown เราซื้อสินค้าง่าย ด้วยช่องทางออนไลน์ จ่ายง่ายด้วยธุรกรรมการเงินออนไลน์ แถมยังจัดส่งง่าย สะดวกด้วยบริษัทตัวแทนจัดส่งที่แข่งขันด้านบริการ โครงสร้างพื้นฐานพรั่งพร้อม ทำให้วันนี้ต้องสำรวจตัวเองว่า ธุรกิจมีความพร้อมและสามารถเติบโตในช่องทางออนไลน์ได้หรือไม่ ผมเรียกว่า Online First ถ้าธุรกิจหรือสินค้าคุณไม่อยู่ในออนไลน์ คุณพลาดแน่นอน”
ภาวุธ กล่าวว่า หลังโควิด 19 SMEs ในกลุ่มผู้ผลิตเป็นกลุ่มที่ต้องเจอกับต้นทุนสินค้าจากต่างประเทศที่ต่ำกว่า ที่กำลังตีตลาดในประเทศไทยด้วยช่องทางออนไลน์ ขณะเดียวกัน SMEs ด้านนำเข้าสินค้าประเภทซื้อมาขายไปต้องรีบปรับตัวเพราะการขนส่งระหว่างประเทศที่สะดวกใช้เวลาน้อยลงกว่าในอดีต ผู้บริโภคสามารถสั่งสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงจากช่องทางออนไลน์ ทำให้ช่องว่างที่ Trader เคยใช้เป็นโอกาสกลับแคบลง จนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อีกต่อไป
ปัจจุบัน E-Commerce ทำให้การขายสินค้าไร้พรมแดน SMEs ควรใช้โอกาสนี้เปิดตลาดในต่างประเทศ โดยการขายสินค้าไปต่างประเทศนั้นทำได้ง่าย ยกตัวอย่างกรณีการใช้ Online Platform ที่สามารถขายสินค้าได้ทั่วโลกอย่าง eBay และ Amazon ปัจจุบันมีสาขาในประเทศไทย ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าออกสู่ตลาดโลกได้อย่างง่ายดาย แถมไม่มีกำแพงด้านภาษาเหมือนในอดีต เนื่องจากทุกวันนี้มีเครื่องมือในการแปลภาษามากมายขึ้นอยู่ที่จะนำมาใช้หรือไม่
เทรนด์ที่น่าจับตาขณะนี้คือ การค้าออนไลน์แบบ B2B ที่มีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท (การค้าออนไลน์ในประเทศไทยมีมูลค่ารวม 3 ล้านล้านบาท) เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสูงสุด SMEs ควรหันไปเปิดตลาดนี้ให้มากขึ้น โดยใช้ช่องทางออนไลน์
ยกตัวอย่าง มาร์เก็ตเพลสแบบ B2B เช่น AliExpress หรือในประเทศไทยก็มีมาร์เก็ตเพลสขายออนไลน์แบบ B2B ได้ทั่วโลกคือ Thaitrade.com ผู้ประกอบการสามารถโพสต์ขายสินค้า เปิดตลาดใหม่ฉีกไปจากตลาดเดิมๆ เพื่อกระจายช่องทางจำหน่ายและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีความต้องการสินค้าไทยสูงมาก ถ้าผู้ผลิตไทยสามารถซัพพลายสินค้าให้ได้จะเป็นโอกาสอย่างยิ่ง
ภาวุธ กล่าวอีกว่า การระบาดของโควิด 19 ธุรกิจต่างได้รับผลกระทบ แต่หากมองให้เป็นโอกาส กลับเป็นช่วงเวลาที่ดีในการ ‘ซื้อกิจการ’ ทางลัดที่ธุรกิจไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ส่วนธุรกิจที่กำลังมีปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจ ‘การรวมกิจการ’ หรือ ‘ระดมทุน’ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องลุยเดี่ยว
“โควิด 19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ธุรกิจต้อง Re-Skill และสร้าง Skill ใหม่ เพื่อสร้างโอกาสครั้งใหม่ กระนั้นการทำธุรกิจสิ่งแรกคือ คุณต้องรัก สนุกกับสิ่งที่ทำ แค่นั้นยังไม่พอจะต้องแตกต่างด้วย ถ้าไม่แตกต่างย่อมไม่เติบโต ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ชาวบ้านเขาไม่ทำดูและสนุกกับมัน”
เทรนด์การค้าโลก และ Supply chain จากมุมมอง Baby boomer
คุณวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติโควิด 19 ในปัจจุบันเป็น Global Issue ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบ ทั้งขยายผลกระทบเป็นวงกว้าง ยิ่งไปกว่านั้นยังเห็นผลไม่ชัดเจนนักว่าจะลุกลามไปนานแค่ไหน แต่มีแนวโน้มว่า ผลกระทบจากโควิดระลอกนี้จะอยู่กับเราไปจนถึงปี 2565 หรืออีก 2 ปี กว่าทุกอย่างจะคลี่คลายดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจของไทยก็คงต้องใช้เวลาอีก 2 ปี จึงจะสามารถกลับมาอยู่จุดเดิมได้
ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ผลกระทบหนักสุดคือธุรกิจขนาดใหญ่ แต่รอบนี้จะกลับกันผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เริ่มจากผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง จนไปสู่ธุรกิจรายใหญ่ตามลำดับ โดยเรื่องนี้ทางธนาคารมีการปรับกระบวนการคิด การทำงานให้กระชับ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างราบรื่นและทันท่วงที อาทิ กรณี Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ความช่วยเหลือ SMEs ธนาคารกรุงเทพมีการประชุม วางแผน และจัดการทุกอย่างรวดเร็วมาก เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ถึงมือ SMEs รวดเร็วที่สุด
คุณวีระศักดิ์ กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงันและยังมีข้อมูลระบุอีกว่าทำให้คนทั่วโลกกว่า 400 ล้านคนตกงาน นั่นหมายถึงคนทั่วโลกก็จะมีรายได้ลดลง ด้วยเหตุนี้จึงต้องกลับมามองว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้และรับมืออย่างไร
“ลำดับแรกคือ ใจเปิด คิดอยู่ในกรอบเดิมๆ ไม่ได้โลกกำลังเปลี่ยน Globalization เกิดการทวนกระแส ทุกประเทศเน้นการดูแลตัวเองพึ่งพาธุรกิจภายในประเทศมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายใน ดังนั้นสิ่งที่ SMEs ต้องปรับ คือ Learn How to Learn ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันทำได้ง่าย เรียนออนไลน์ก็ได้”
ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจคนเดียวยุคนี้อยู่ยากมาก “Partnership” จึงสำคัญ และท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้ ผู้ประกอบการควรรวมกลุ่ม Supply chain ทั้งหมดเป็น Cluster เพื่อให้ต้นทุนต่ำลง เพราะโควิดทำให้คนทั่วโลกรายได้ลดลง การใช้จ่ายจะคำนึงเหตุผลความจำเป็นมากขึ้น สินค้าจึงต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า สินค้าต้องดี ราคาไม่แพง เรื่องนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องรวมตัวกันทั้ง Supply chain สนับสนุนซึ่งกันและกัน จะทำให้อยู่รอดไปพร้อมๆ กันได้
สำหรับคนที่กำลังมองหา New Business Model ในขณะนี้จะต้องดูว่าธุรกิจนั้นอยู่ในกระแสหรือไม่ พร้อมสำหรับการแข่งขันหรือไม่ ธุรกิจที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในทุกวันนี้ มีสูตรความสำเร็จที่อยากแนะนำให้ใช้คือ การยึดหลัก ‘2L 2ต.’
2L คือ Light ธุรกิจต้องเบาคล่องตัว และ Liquid ธุรกิจต้องลื่นไหล มีสภาพคล่องที่ดี
2ต คือ ‘ต่าง’ สินค้า บริการแตกต่างจากทั่วไปหรือไม่ ถ้าไม่ก็ต้องสู้กันในสงครามราคาที่รุนแรง ส่วนอีก ต. คือ ‘ต่ำ’ ต้นทุนต้องต่ำ เมื่อมีต้นทุนที่ต่ำก็สามารถขายในราคาที่เหมาะสมได้ เพราะฉะนั้น SMEs จะต้องยึดหลัก 2L 2ต จากนั้นค่อย Re-Learn เพื่อที่จะ Re-Skill ตัวเองใหม่เรียนรู้จากรอบๆ ตัว เรียนรู้จากผู้คนจากเหตุการณ์ และเรียนรู้จากโลกออนไลน์
“สุดท้ายคือ ต้อง Speed ธุรกิจวัดกันที่ความเร็ว คิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว ลงมือทำเร็ว ถ้ายึดหลักทั้งหมดนี้ไว้ได้ ธุรกิจคุณก็จะสามารถไปต่อได้อย่างราบรื่นไม่ว่าจะวิกฤติครั้งใดก็ตาม”
ติดตามสัมมนา “Next Normal รู้ก่อน รุกก่อน”
ย้อนหลังได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=l2qS5b51ZkQ