ภาควิชารังสีวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท Lunit Inc. และ บริษัท เจ. เอฟ. แอดวาน เมด จำกัด เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) สำหรับงานรังสีวินิจฉัยกับเครื่องมือแพทย์ เพื่อยกระดับการแพทย์ของไทยให้สามารถวินิจฉัยรอยโรค ช่วยประเมินคัดกรองผู้ป่วย และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาในอนาคตได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ประหยัดเวลารวมทั้งลดการสูญเสีย ลดขั้นตอนการทำงานของแพทย์ และสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับสาธารณสุขของประเทศอย่างแท้จริง
สู่ผู้นำด้าน AI Center
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า
“โรงพยาบาลศิริราช มีนโยบายในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งเทคโนโลยีที่เรากำลังให้ความสนใจอย่างมาก คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาให้ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของทีมแพทย์ โดยมุ่งช่วยวินิจฉัย และตรวจประเมินคัดกรองผู้ป่วย ทำให้นำมาสู่ความร่วมมือวิจัยและพัฒนาต่อยอด เพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชเป็นผู้นำในด้าน AI Center ที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย สามารถอ่านผลภาพของผู้ป่วยและรายการผลทางการแพทย์ เพื่อใช้วินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น ผลการเอกซเรย์ทรวงอก
ทั้งนี้ในช่วงโควิด-19โรคเกี่ยวกับปอดอักเสบ โรควัณโรค หรือการตรวจเอกซเรย์เต้านม มะเร็งเต้านม AI เทคโนโลยีสามารถช่วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยหารอยโรค และคัดกรองผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว และลดภาระงานของแพทย์ได้เป็นอย่างมาก และในอนาคตข้างหน้าโรงพยาบาลศิริราช มีโครงการร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน ในการสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อสามารถแชร์ผลภาพการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของผู้ป่วยร่วมกัน เพื่อยกระดับสาธารณสุขของไทย และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)”
'ลมใต้ปีก' พลังจากเอกชน
การมุ่งเป็นผู้นำด้าน AI Center ของโรงพยาบาลศิริราชนั้นมีพลังผนึกจากภาคเอกชนเป็น ‘ลมใต้ปีก’ ที่สำคัญที่จะช่วยให้ศิริราชบินสูง บินไกลสู่เป้าหมาย นั่นคือการผสานพลังผนึกจาก บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท Lunit Inc. และบริษัท เจ. เอฟ. แอดวาน เมด จำกัด เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) สำหรับงานรังสีวินิจฉัย กับเครื่องมือแพทย์
ทั้งนี้ ซึโตมุ วาตะนาเบ้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า
“ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการนำระบบซอฟต์แวร์อัจฉริยะ เทคโนโลยี AI เชื่อมต่อกับระบบจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช โดยบริษัทฯ ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ FUJIFILM AI ‘REiLI’ Solution ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเหลือแพทย์ และเจ้าหน้าที่เทคนิคแพทย์ให้มี Workflow ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ฟูจิฟิล์มยังได้ร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญอย่างบริษัท Lunit Inc. บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ AI ปัญญาประดิษฐ์โซลูชั่น ชื่อดังในประเทศเกาหลี และบริษัท เจ. เอฟ. แอดวาน เมด จำกัดบริษัทตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ของฟูจิฟิล์ม เพื่อช่วยให้ความรู้ในการบูรณาการและให้บริการดูแลซอฟต์แวร์ AI รวมทั้งระบบจัดเก็บข้อมูล และประมวลผล PACs system ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช และทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อม และช่วยให้กระบวนการทำงานและการติดต่อกับคนไข้ทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นตลอด 24 ชม.”
ด้วยพันธกิจของฟูจิฟิล์มที่ไม่เคยหยุดยั้งในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ และการดูแลรักษาสุขภาพของมวลมนุษย์ ภายใต้แนวคิด ‘NEVER STOP innovating for a healthier world’ เราจะไม่หยุดสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสุขภาวะของโลกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงของการระบาดโควิด-19 ทางฟูจิฟิล์มได้เตรียมเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ระบบ (ดิจิทัล Digital Portable X-Ray, FDR Nano) ที่ใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีการประมวลผลแบบ AI-CAD นำไปช่วยแพทย์วิเคราะห์หาร่องรอยของโรค โดยเฉพาะโรคโควิด-19 เป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ส่งผลต่อปอดโดยตรงตัวเครื่องจะแสดงตำแหน่งที่พบความผิดปกติด้วยจุด Detection แสดงผลผ่านหน้าจอทันทีส่งข้อมูลและผลภาพให้แพทย์สามารถวินิจฉัยเห็นความผิดปกติ หรือร่องรอยของโรค ให้แม่นยำและรวดเร็วขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาผู้ป่วย และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา
พร้อมกันนี้ ฟูจิฟิล์มมีแผนพัฒนาเทคโนโลยี AI ใช้งานร่วมกับเครื่องมือทางการแพทย์ในเครื่องตรวจเต้านม (Mammography) ซึ่ง AI สามารถตรวจแสดงตำแหน่งที่พบความผิดปกติ และเป็นเครื่องมือช่วยวินิจฉัยให้แพทย์สามารถพบความผิดปกติของรอยโรคได้ เพิ่มประสิทธิภาพของงานและลดการทำงานของแพทย์ได้ นอกจากนี้ ทางฟูจิฟิล์มยังได้พัฒนาเทคโนโลยี AI กับเครื่องมือแพทย์อื่นๆ อาทิ กล้องส่องตรวจระบบทางเดินอาหาร(Endoscopy) เครื่องอัลตราซาวด์ และอื่นๆ ของฟูจิฟิล์ม เพื่อช่วยยกระดับการรักษาผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย ดั่งนิยามของฟูจิฟิล์ม ‘Healthcare Total Imaging Solution’
มุ่งยกระดับระบบสาธารณสุขไทย
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ประสิทธิ์ กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา เพื่อยกระดับการรักษาและการบริการสำหรับยุค New Normal โดยการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ เพื่อลดภาระของแพทย์และการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยได้อย่างสะดวกรวดเร็วว่า
“ศิริราชได้เริ่มใช้ AI มาปีเศษแล้ว ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่มีความรวดเร็วทันสมัยถูกต้องและแม่นยำ อีกทั้ง ยังสามารถยกระดับการบริการทางสาธารณสุขได้ และ ใช้ในการเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ในการทำวิจัยได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน”
ขณะที่การทำงานของนักรังสีแพทย์ที่มีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากกว่านักรังสีแพทย์ที่ให้บริการได้นั้น เมื่อมี AI เข้ามาช่วยก็ทำให้พบสิ่งที่ผิดปกติและสามารถดูผลได้ทันทีหลังจากการตรวจไม่เกินสิบวินาที ส่วนในกรณีที่นำมาตรวจเพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับโควิด-19 AI ก็จะสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีโอกาสที่จะเป็นโควิด-19 มากหรือน้อย สำหรับเด็กรุ่นใหม่ก็อยากให้เข้าใจว่า AI จะช่วยอะไรเราได้บ้าง เพื่อเสริมจุดอ่อนจากการทำงานของมนุษย์ เพราะ AI ไม่มีความผิดพลาด ถ้าเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับ AI ได้ก็จะทำให้ AI สามารถทำงานได้ดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
นี่จึงเป็นการผสมผสานความเชี่ยวชาญระหว่างเคสที่ศิริราชสะสมไว้เป็นจำนวนมาก บวกกับนักรังสีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้าง Deep Learning ให้กับAI เพราะการทำรังสีวินิจฉัย เช่น เมมโมแกรมนั้นไม่ยุ่งยาก แต่ความยุ่งยากอยู่ที่การอ่านผล ดังนั้น ถ้าจะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติก็จะต้องสามารถเชื่อมโยงภาพและการแปลผลภาพกับทางศิริราช เพราะการจะหานักรังสีแพทย์เก่งๆ มาช่วยกันอ่านผลสองคนนั้นยากมาก จากปัญหาของจำนวนนักรังสีแพทย์ที่ไม่เพียงพอกับปริมาณงานที่เข้ามาในระบบ ทั้งนี้ ในการแปลผลบางกรณีที่ไม่แน่ใจ เดิมเราอาจต้องใช้นักรังสีแพทย์ถึงสองคน เพื่อวินิจฉัยร่วมกันแต่เมื่อมี AI ก็ใช้นักรังสีแพทย์วินิจฉัยร่วมกับ AI เพื่อความแม่นยำได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อดีที่สามารถกระจาย AI ออกไปทั่วประเทศ เพื่อช่วยผู้เชี่ยวชาญที่น้อยกว่าให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มากกว่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในองค์รวมกับผู้ป่วยด้วย
ตัวอย่างในทางปฏิบัติที่ใช้ AI เป็นครั้งแรกแล้วประสบความสำเร็จ เช่น โรคทางสมอง โดยเฉพาะปัญหาของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านสาธารณสุขและเมื่อเรามีรถเคลื่อนที่เพื่อช่วยคนไข้ (Mobile Stroke) ระหว่างนี้ เราใช้นักรังสีแพทย์กับ AI เพื่อการรักษาคู่ขนานกัน ซึ่งจากการรักษาเกี่ยวกับ Stroke ทำให้แพทย์สามารถเห็นหรือหยิบข้อมูลได้ก่อนที่คนไข้จะมาถึงโรงพยาบาล ทำให้ประหยัดเวลา นอกจากนี้ ด้วยข้อมูลที่ศิริราชมีแบบทั้งกระบวนการและมีจำนวนมากสะสมไปเรื่อยๆทำให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น อ่านผลได้เร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 1-2 ชม. พร้อมทั้งทำให้เราสามารถดำเนินการได้ตลอดทั้งการวินิจฉัยจนถึงการรักษาซึ่งเมื่อมีข้อมูลก็ทำให้เลือกวิธีการรักษา วินิจฉัยที่เฉพาะทางลึกลงไปได้เรื่อยๆ
สู่เป้าหมาย 'สถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน'
เป้าหมายของการเป็น AI Center ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นั้นคือ เป็นหนึ่งในหลายๆเส้นทางสู่เป้าหมาย ‘สถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน’ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ประสิทธิ์ กล่าวถึงเส้นทางในส่วนนี้ว่า
“ในการนำ AI มาช่วยวินิจฉัยโรค เราจำเป็นต้องมีเคสมากๆ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคยิ่งมีเคสมากเท่าไรก็ยิ่งครอบคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น สำหรับเคส ศิริราชมีมากเพียงพอและมีเพิ่มเติมในระบบอย่างต่อเนื่อง เมื่อนำ AI ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมล้ำสมัยย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขของไทย แม้ในขณะนี้ ปัญหาที่พบและถือเป็นความท้าทายก็คือ ข้อมูลจากฝ่ายโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งไม่ตรงกับระบบของเรา ดังนั้น ก็ต้องเป็นโจทย์ต่อไปว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ระบบส่งข้อมูลระหว่างกันได้ เพื่อการทำงานร่วมกัน ขณะเดียวกัน ศิริราชก็พยายามพัฒนาศักยภาพ โดยการพิจารณาคู่ขนานไปด้วยว่า เรื่องใดประเทศไทยยังขาดแคลน เช่น รังสีแพทย์ที่อ่านผลเมโมแกรมพยาธิแพทย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการใช้ AI มีที่ศิริราชถือเป็นที่แรกและจุดเริ่มต้น สิ่งที่เราร่วมพัฒนากับบริษัทเอกชนก็จะกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะออกสู่สังคมอีกรอบ โดยทั้งภาครัฐ และเอกชนก็สามารถเข้ามาใช้ซอฟต์แวร์ที่ร่วมกันพัฒนาได้ ซึ่งการพัฒนาการใช้ AI นั้นถือว่าสอดคล้องกับนโยบายหลักของคณะแพทยศาตร์ ศิริราพยาบาลในฐานะ ‘สถาบันทางการแพทย์ของแผ่นดิน’ ศิริราชเป็นผู้ชี้นำสังคม และสร้างสุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ”