นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3 ปี 2563 ทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ กลับมาบางส่วน หลังผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง อย่างไรก็ดี ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 อย่างมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ส่วนการใช้จ่ายของภาคเอกชนมีสัญญาณอ่อนแอต่อเนื่องท่ามกลางความเปราะบางของรายได้และภาวะการมีงานทำซึ่งลดทอนผลบวกจากมาตรการกระตุ้นของทางการขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มหดตัวลงตลอดช่วงครึ่งหลังของปี
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน (รวมถึง TFRS 9) ซึ่งมีผลต่อการจัดประเภทรายการใหม่ การวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงิน การตั้งด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงิน และการบัญชีป้องกันความเสี่ยง รวมทั้งได้แสดงรายการในงบการเงินตามข้อกำหนดในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งงบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินบางรายการไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับปีก่อน
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2563 จำนวน 16,229 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3 ปี 2563 จำนวน 6,679 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 16,229 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 13,695 ล้านบาท หรือ 45.77% ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารและบริษัทย่อยใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 17,692 ล้านบาท หรือ 70.24% โดยการคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทำให้ยังคงต้องมีการติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 5,301 ล้านบาท หรือ 6.87% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อรวมทั้งการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อด้วยวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตาม TFRS 9 ประกอบกับการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลง และการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากเงินรับฝาก เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ลดลง ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.34%
นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 8,085 ล้านบาท หรือ 19.41% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อลดลงจากการเปลี่ยนไปแสดงเป็นรายได้ดอกเบี้ย และรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ลดลงจำนวน 1,829 ล้านบาท หรือ 3.55% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายกิจกรรมทางการตลาด ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจัดการหนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.87%
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 ปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 6,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 4,504 ล้านบาท หรือ 207.01% เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 173 ล้านบาท หรือ 0.64% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อ และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากเงินรับฝาก ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.17% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 4,593 ล้านบาท หรือ 32.60% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของเงินลงทุน ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 651 ล้านบาท หรือ 4.12% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของประมาณการค่าใช้จ่ายพนักงาน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 44.75% นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) ลดลงจำนวน 9,377 ล้านบาท หรือ 46.44% หลัก ๆ เกิดจากในไตรมาสก่อนได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) ในระดับที่สูง จากการประเมินและเตรียมความพร้อมตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ
ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,545,648 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 251,759 ล้านบาท หรือ 7.64% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 3.95% โดยธนาคารได้มีการติดตามให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งควบคุมดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ขณะที่สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65% อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 161.12% โดยสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 อยู่ที่ 18.45% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.74%