ยุคนี้การกล่าวว่า 'ปลาใหญ่กินปลาเล็ก' อาจเห็นภาพไม่ชัดเจนเท่ากับ 'ปลาเร็วกินปลาช้า' โดยเฉพาะในวันนี้ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งกว่ายุคไหนๆ
ยิ่งการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครทันตั้งตัว ได้เข้ามาส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และธุรกิจอย่างมหาศาลคำว่า ‘ปลาเร็ว’ จึงเหมาะสมที่สุดที่จะถูกนำมาใช้ในวันนี้ และหากจะถามว่า หนึ่งใน ‘ปลาเร็ว’ ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างรวดเร็ว หนึ่งในคำตอบนั้นต้องมี ‘ฟู้ดแพชชั่น’ อย่างแน่นอน
“โปรเจกต์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นการนำโปรเจกต์เดิมที่เราตั้งใจจะทำอยู่แล้วในช่วง 3-5 ปีนับต่อจากนี้ แต่การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เรานำโปรเจกต์ที่วางแผนไว้มาทำให้เร็วขึ้น ”
ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าว ซึ่งคำกล่าวดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยืนยันถึงความเป็นปลาเร็วของ ‘ฟู้ดแพชชั่น’ ได้เป็นอย่างดี
ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด
หยุดวางไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว
‘ฟู้ดแพชชั่น’ ทำธุรกิจร้านอาหารมานานกว่า 33 ปี ปัจจุบันมีแบรนด์ร้านอาหารที่อยู่ในเครือทั้งสิ้น 6 แบรนด์ ได้แก่ บาร์บีคิวพลาซ่า, ฌานา, จุ่มแซ่บฮัท, สเปซ คิว, เรดซัน และโภชา
ด้วยความที่เป็นธุรกิจร้านอาหารทำให้ที่ผ่านมารายได้หลักของฟู้ดแพชชั่นจึงมาจาก ‘การนั่งรับประทานในร้าน’ ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตลอดจนกระทั่งเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ฟู้ดแพชชั่นจำต้องปิดร้านอาหารในเครือชั่วคราวเพื่อป้องกันโรคระบาด
แน่นอนว่าเมื่อปิดร้านปัญหาที่ตามมาคือ ‘รายได้’ ที่เคยเป็นเส้นเลือดหลักหายวับไปกับตาจุดนี้เองทำให้ฟู้ดแพชชั่นรู้ดีว่า การฝากความหวังไปกับช่องทางเดียวไม่ใช่วิธีที่ดีอีกต่อไปแล้วนี่คือจังหวะที่ทำให้ฟู้ดแพชชั่นต้องสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับตนเอง
Change for Chance !!
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จนเราต้องปิดร้านอาหาร คือ เราไม่ควรนำไข่ไปฝากไว้ในตะกร้าแค่ใบเดียว เราต้องกระจายความเสี่ยง”
บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างโอกาสทางการตลาดกลุ่มธุรกิจอาหาร ฟู้ดแพชชั่น กล่าวจุดนี้เองจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฟู้ดแพชชั่นต้อง ‘ขยับตัวอย่างรวดเร็ว’ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
เปลี่ยน ‘สำนักงานใหญ่’ เป็น ‘ครัวกลาง’
ที่ผ่านมาการเติบโตของช่องทาง ‘Delivery’ ทำให้ร้านอาหารต่างบุกช่องทางนี้กันอย่างคึกคัก แต่สำหรับฟู้ดแพชชั่นเพิ่งเริ่มตั้งไข่กับ ‘Delivery’ในช่วงปลายปี 2562 นี้เองก็ต้องมาเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ที่เร่งให้ไข่ใบนั้นฟักออกมาเป็น ‘ตัว’ เร็วขึ้น
ฟู้ดแพชชั่นตัดสินใจเปลี่ยน ‘สำนักงานใหญ่’ ให้กลายเป็น ‘ครัวกลาง’ เพื่อจำหน่ายอาหารสำหรับ ‘Delivery’ โดยเฉพาะ ซึ่งในครั้งนั้นประกอบด้วย 4 แบรนด์ในเครือ: บาร์บีคิวพลาซ่า, ฌานา,โภชา และสเปซคิว 14 เมนูที่เข้าร่วมรายการบริการจัดส่งตรงจากครัวกลางเฉพาะกิจ โดยมีทั้งเมนูที่ถูกออกแบบขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะ ไม่มีจำหน่ายในช่องทางอื่น เมนูตามคอนเซปต์ของแต่ละแบรนด์ อีกทั้งยังสะดวกและรับประทานง่ายได้คุณค่า รสชาติอร่อยเสมือนรับประทานที่ร้าน
ตัวอย่างเช่น ‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ มีเมนู ข้าวไข่ข้นหมูบาร์บีก้อน, ‘ฌานา’ ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านอาหารสุขภาพด้วยวัตถุดิบปลอดสารจากเพื่อนเกษตรกรถึงเพื่อนคนเมือง กับทางเลือกของเมนูสุขภาพ จัดสรรเมนูพิเศษแบบ เฮลธ์ตี้ชาบู ผักปลอดสาร น้ำจิ้มแจ่วรสเด็ดได้จัดเช็ตชุดชาบูหมูของฉัน ซุปแซ่บสมุนไพรและช่อผักสำหรับลูกค้าตั้งแต่ 1-4 คน ‘สเปซคิว’ ซึ่งแบรนด์ร้านอาหารสไตล์ปิ้งย่าง และชาบูแนวใหม่ได้จัด 3 เมนูใหม่ได้แก่ ข้าวหน้าเนื้อคั่วซีอิ๊วไข่ออนเซน, ข้าวหน้าหมูโทโร่ย่างซอสต้นหอมญี่ปุ่น ไข่ออนเซน และ ข้าวหน้าพรีเมียมเบคอนผัดพริกเกลือ ไข่ออนเซน และสุดท้ายโภชา สุดยอดสารพัดซุปแบบครบหมู่ครบเซ็ตเพื่อชีวิตคนเมืองได้จัดเมนู เช่น ข้าวต้มหมูเด้งบะเต็ง ข้าวต้มปลาดูโอ้ ชุดแจ่วฮ้อนหมูรวมมิตร เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ต้องปิดร้านชั่วคราว ‘ฟู้ดแพชชั่น’ ได้ทดลองช่องทางการขายรูปแบบใหม่ นั่นคือการ ‘ไลฟ์สด’ ผ่าน Facebook โดยสินค้าที่นำมาไลฟ์สดนั้น มีทั้งวัตถุดิบเช่น เนื้อหมู ตลอดจนน้ำจิ้ม อีกด้วย
บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร ฟู้ดแพชชั่น
ขยับจาก ‘ปิ้งย่าง’ สู่ ‘ชาบู’
ถัดมาไม่นานนัก ‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ ได้ประกาศขยับตัวเองจากการเป็น‘ปิ้งย่าง’ สู่ ‘ชาบู’ ด้วยเห็นว่า ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดต้มประเภทชาบูนั้นเป็นอีกตลาดที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นหากสามารถที่จะพัฒนาเมนูของบาร์บีคิวพลาซ่าให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในตลาดนี้ได้ด้วย นอกจากจะช่วยเพิ่มลูกเล่นความหลากหลายของเมนูได้ครอบคลุมทั้งประเภท ปิ้งย่าง และต้มให้กับแบรนด์แล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบาร์บีคิวพลาซ่าอีกทางด้วย
“ที่สำคัญ การเพิ่มเมนูประเภทต้มเข้ามาในไลน์ผลิตภัณฑ์ของบาร์บีคิวพลาซ่าครั้งนี้ เป็นเสมือนก้าวสำคัญของการประกาศเปิดตัวเซ็กเมนต์ใหม่ของบาร์บีคิวพลาซ่าในประเภท Gon Pot หรือ อาหารประเภทต้มในหม้อเป็นครั้งแรก โดยมีการเลือกใช้เมนูประเภทต้ม จากแบรนด์จุ่มแซ่บฮัทสำหรับการเปิดตัวครั้งแรก เนื่องจากเป็นเมนูที่หลายคนชื่นชอบ น้ำจิ้มอร่อย และแบรนด์ก็เป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วสามารถเปิดตัวได้ทันที” บุณย์ญานุช กล่าว
สำหรับเมนูประเภทต้มที่บาร์บีคิวพลาซ่าได้นำมาเปิดตัวในครั้งแรกภายใต้ชื่อชุด ‘ก้อนจุ่มแซ่บ’ ประกอบด้วยเมนู 4 ประเภท ได้แก่ ชุดก้อนจุ่มแซ่บหมู, ชุดก้อนจุ่มแซ่บเนื้อ, ชุดก้อนจุ่มแซ่บปาร์ตี้หมู, ชุดก้อนจุ่มแซ่บปาร์ตี้เนื้อ ซึ่งจะจำหน่ายเฉพาะสำหรับบริการผ่านช่องทางเดลิเวอรี่เท่านั้น
บุณย์ญานุช ย้ำกับการขยับตัวในครั้งนี้ว่า หากเมนูประเภทนี้ได้รับการตอบรับดี ในอนาคตจะมีโอกาสได้เห็นเมนูในตลาดต้มที่พัฒนาขึ้นใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของตลาดประเภทต้มนี้บวกกับความชื่นชอบในแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่าของลูกค้าจะสามารถช่วยให้แบรนด์เพิ่มสัดส่วนรายได้จากการจำหน่าย Delivery ได้ถึง 20% ภายในปี 2563
พา ‘พี่ก้อน’ ออกนอกร้าน ดันรายได้ Non-Food Restaurant
หนึ่งในความตั้งใจที่ผ่านมาของบาร์บีคิวพลาซ่า คือการพา ‘บาร์บีกอน’ แบรนด์คาแรกเตอร์ที่แข็งแกร่งในกลุ่มฐานลูกค้าออกไปโลดแล่นอยู่นอกร้าน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เห็นไปแล้วบ้างผ่านการผนึกพลังกับแบรนด์ต่างๆ มาแล้ว
แต่ครั้งนี้สิ่งที่ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ คือ บาร์บีคิวพลาซ่า ‘จริงจัง’ มากขึ้นกับการผลักดันให้ ‘พี่ก้อน’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่หารายได้เข้ามาให้กับร้าน โดยบาร์บีคิวพลาซ่าได้มองเห็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับแบรนด์ได้อีกช่องทาง นั่นก็คือ การรุกธุรกิจประเภท Non-Food Restaurant ด้วยการขาย License ‘บาร์บีกอน’
ทว่าในครั้งนี้ได้มีการยกระดับการขาย License ด้วยสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม นอกเหนือจากแค่การนำบาร์บีกอนไปใช้ โดยจะให้พื้นที่สื่อของบาร์บีคิวพลาซ่าทั้งในร้านและออนไลน์ เพื่อการโปรโมทสินค้าของแบรนด์ที่เข้าซื้อ License รวมถึงการให้คำแนะนำด้านการตลาด เพื่อเพิ่มศักยภาพของการใช้ License บาร์บีกอนให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
“การทำเช่นนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับบาร์บีคิวพลาซ่าอย่างจริงจัง และจับต้องได้ในระยะยาว” บุณย์ญานุช กล่าวถึงการรุกใช้ ‘บาร์บีกอน’ อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น
แบรนด์แรกที่เข้ามาซื้อไลเซนซ์ของบาร์บีกอนคือ ‘วีว่าพลัส’ เจลลี่ผสมวิตามินพร้อมดื่มเพื่อสุขภาพแบรนด์น้องใหม่มาแรงโดยได้นำบาร์บีกอนไปร่วมในกิจกรรมสื่อสาร เพื่อส่งเสริมการขายต่างๆ ของแบรนด์ ได้แก่ การนำไปใช้ในงานบิลบอร์ดโฆษณาขนาดใหญ่บนถนนสุขุมวิท นำไปใช้ในการโปรโมทในโซเชียลมีเดียของแบรนด์วีว่าพลัส ตามจุดจำหน่ายวีว่าพลัสที่ 7-11 ทั่วประเทศ และนำไปใช้ในงานส่งเสริมด้านข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ
บาร์บีคิวพลาซ่าคาดหวังว่า การขาย License ของบาร์บีกอนจะสร้างรายได้ 10 ล้านบาทภายในปี 2563
ยกเครื่อง CRM ผนึกพลัง 5 แบรนด์ในเครือ
ขณะเดียวกัน ในแง่ของ CRM นั้นทาง ‘ฟู้ดแพชชั่น’ ได้ตัดสินใจยกเครื่องครั้งใหญ่ โดยปรับโฉม LINE Official Account โฉมใหม่ในชื่อ GON Gang LINE Official Account ในลุคและสีสันใหม่ ซึ่งเป็นการพัฒนาและต่อยอดมาจาก Gon and the Gang บัญชีเดิม
การปรับโฉมครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับผนึกพลังเกมกลยุทธ์ด้าน CRM ของทุกแบรนด์ในเครือเข้าด้วยกัน ได้แก่ บาร์บีคิวพลาซ่า, ฌานา, จุ่มแซ่บฮัท, สเปซ คิว และ โภชาที่จะช่วยให้สมาชิกและลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการหรือข้อมูลที่ต้องการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ผ่านการรวมบริการสำคัญทั้ง 4 ด้านที่นำมาไว้ด้วยกัน แบบ One Stop Solution ที่จะปรากฏบนเมนูที่หน้าจอของ GON Gang LINE Official Account ได้แก่
“การปรับโฉมใหม่ของ GON Gang LINE Official Account ในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ใหม่ทางการตลาด และการปรับกลยุทธ์ธุรกิจของฟู้ดแพชชั่นผ่านกลยุทธ์ CRM บนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อรองรับการเติบโตและพฤติกรรมของผู้บริโภคในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า สมาชิกและลูกค้าจะได้พบกับการสร้างสรรค์กิจกรรมการตลาดรูปแบบใหม่ที่จะยกระดับประสบการณ์และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับธุรกิจร้านอาหารอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”มีการประเมินว่า การปรับโฉม GON Gang LINE Official Account ครั้งนี้จะช่วยเพิ่มเครือข่ายลูกค้าได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ประมาณ 1.1 ล้านคน ได้ถึง 2 ล้านคนภายในสิ้นปี 2563
ครั้งแรกกับโมเดล ‘Subscription’ ในวงการร้านอาหารของไทย
หนึ่งในโมเดลธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจจากธุรกิจต่างๆ คือโมเดล Subscription ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยอาจจะคุ้นชินกับบริการสตรีมมิ่งต่างๆแต่สำหรับธุรกิจร้านอาหารแน่นอนว่ายังไม่มีใครทำ
ทว่า ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารมากกว่า 33 ปีของฟู้ดแพชชั่น ทำให้มองเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจแนวใหม่ ดังนั้น เมื่อฟู้ดแพชชั่นขยับมาทำโมเดล Subscription จึงปักหมุดกลายเป็นครั้งแรกของวงการธุรกิจร้านอาหาร!!
ฟู้ดแพชชั่น ตั้งชื่อบริการนี้ว่า GONGANGFLIX เป็นแพ็กเกจเหมาจ่ายรายเดือนๆ ละ 600 บาท ระบบจะตัดเงินอัตโนมัติเท่าๆ กันทุกเดือนนาน 6 รอบชำระเงิน ทุกๆ เดือนสมาชิกจะได้รับ e-Voucher จากทาง GON Gang LINE Official Account ด้วยมูลค่าที่ได้รับแบ่งเป็น
GONGANGFLIX สามารถใช้ได้กับทั้ง 4 แบรนด์ในเครือฟู้ดแพชชั่น ทุกเมนู ทุกสาขา เฉพาะรับประทานที่ร้านและซื้อกลับบ้านนอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ส่วนลดค่าจัดส่งอาหาร Gon Gang Delivery สมาชิกสามารถยกเลิกแพ็กเกจ ได้ก่อนหักค่าสมาชิกในเดือนถัดไป โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ เบื้องต้นเปิดรับแค่ 1,000 คนเท่านั้น
แน่นอนว่า ข้อดีของการทำโมเดลแบบ Subscription คือ ทำให้ฟู้ดแพชชั่นมีรายได้ที่เป็นเงินสดเข้ามาทุกเดือน แต่ความท้าทายคือ การที่แบรนด์จะรักษาสมาชิกในระยะยาวเอาไว้ให้ได้ ซึ่งบางรายมีบริการเพียงชนิดเดียว ซึ่งอาจทำให้ลูกค้านั้นรู้สึกเบื่อ แต่ฟู้ดแพชชั่นได้อุดช่องวาง ด้วยความหลากหลายของ 4 แบรนด์ในเครือไปเรียบร้อยแล้ว
ครั้งแรกกับการทำ ‘แฟรนไชส์’ ในไทย
อย่างที่บอกไปว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ฟู้ดแพชชั่นต้องเร่ง Diversify ธุรกิจของตัวเอง โดยหนึ่งในธุรกิจที่ ‘ฟู้ดแพชชั่น’ สนใจคือ ‘แฟรนไชส์’ แต่ที่ผ่านมา โมเดลแฟรนไชส์ของฟู้ดแพชชั่นอยู่ในต่างประเทศ โดยเป็นการผลักดันผ่านร้านบาร์บีคิวพลาซ่า 29 สาขา และเรดซัน 1 สาขา ซึ่งตั้งอยู่ใน มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และกัมพูชา แต่ในเมืองไทยยังไม่มีโมเดล ‘แฟรนไชส์’ อย่างเป็นทางการ
ล่าสุด ฟู้ดแพชชั่นได้ขยับมาทำธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏว่า แฟรนไชส์ดังกล่าวไม่ได้เป็นแบรนด์ที่มีอยู่แล้วในมือ แต่กลับทำแบรนด์ใหม่ขึ้น โดยตั้งชื่อว่า ‘แฟรนไชส์หมูทอดกอดคอ’
“นอกเหนือจากการเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์การสร้างความหลากหลายของการดำเนินธุรกิจแล้ว ความตั้งใจของการสร้างแฟรนไชส์ หมูทอดกอดคอ คือ การเป็นหนึ่งในทางออกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้กลับมาลืมตาอ้าปาก ดำรงชีวิตได้ ตามปกติ ซึ่งจะทำให้วงจรแห่งความสุขและธุรกิจที่ยั่งยืนอันเป็นหัวใจหลักของฟู้ดแพชชั่นกลับมาเกิดขึ้นได้อีกครั้ง” ชาตยา กล่าว
สาเหตุที่ต้องเป็น ‘หมูทอด’ เนื่องจากเป็นเมนูที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ขณะเดียวกันก็มีที่มาจากการพัฒนาจุดแข็งที่ฟู้ดแพชชั่นมี นั่นคือ ‘วัตถุดิบหมู’ ที่มีข้อดีทั้งคุณภาพของเนื้อหมูและมีปริมาณมากพอในการจำหน่าย
อยากช่วยให้คนไทยลืมตาอ้าปาก
‘แฟรนไชส์หมูทอดกอดคอ’ พัฒนาภายใต้คอนเซปต์ ‘คืนทุนเร็วทีมงานเชื่อถือได้ ไม่ทอดทิ้ง’ โดยมีทีมงานมืออาชีพกอดคอเคียงข้างให้คำปรึกษาและดูแลทุกขั้นตอน สมกับชื่อแบรนด์ ด้วยเงินทุนเริ่มต้นเพียง 11,900 บาท ด้วยเป้าหมายยอดขายต่อหนึ่งร้านกว่า 6 หมื่นบาทต่อเดือน ด้วยความตั้งใจที่อยากช่วยให้คนไทยสามารถลืมตาอ้าปากได้ในช่วงหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สิ่งที่แตกต่างจากการเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ คือ Passion จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เป็นต้นทุนในการสมัครแฟรนไชส์ ได้แก่ การยกเว้นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) การยกเว้นค่าสิทธิหรือการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายรายเดือน (Royalty Fee) การยกเว้นค่าการตลาด (MarketingFee/ Advertising Fee) และยกเว้นค่าฝึกอบรม
ที่ผ่านมาได้มีการทดลองเปิดให้บริการแฟรนไชส์หมูทอดกอดคอ ไปแล้วในสถานีบริการน้ำมัน PT จำนวน 5 แห่งโดยเปิดรับสมัครผู้ซื้อแฟรนไชส์จากพนักงานและเครือญาติของพนักงานฟู้ดแพชชั่นและสถานีบริการน้ำมัน PT ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สร้างรายได้ให้ทุกร้านได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังได้เรียนรู้ข้อมูลที่สามารถนำมาซึ่งการพัฒนาปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้สามารถตอบโจทย์แฟรนไชส์ซีให้ได้มากที่สุด
ขณะเดียวกัน จากการทดลองของฟู้ดแพชชั่นระบุว่า หากมีลูกค้าเดินผ่านทำเลที่ตั้งร้านอย่างน้อยวันละ 634 คน จะมีลูกค้าประมาณ 34 คน สร้างรายได้วันละประมาณ 2,000 บาท เมื่อหักต้นทุนแล้วจะเหลือเป็นกำไรขั้นต้นราว 40% และสามารถคืนทุนได้ภายใน 4 เดือน
ทั้งนี้ หมูทอดกอดคอ มี 4 เมนูที่พัฒนาขึ้นมา ได้แก่ หมูสับทอดพริกสด หมูสับทอดกระเทียม หมูสามชั้นทอดกระเทียม และไก่ทอดกระเทียม ขายในราคาเริ่มต้น 25 บาท เมื่อรวมกับข้าวเหนียวจะเป็น 30 บาท นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาน้ำจิ้มที่เพื่อใช้ด้วยกันทั้งแจ่วปลาร้าและน้ำจิ้มแจ่วอีกด้วย
3 โมเดล ‘หมูทอดกอดคอ’
สำหรับโมเดลแฟรนไชส์หมูทอดกอดคอมีให้เลือก 3 รูปแบบ คือ
แถมรับฟรี วัตถุดิบ พร้อมเปิดร้าน ส่งฟรี ถึงที่ตั้ง
ชาตยา ยืนยันว่า “ราคาส่วนลดนั้นจะพยายามขยายระยะเวลาให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ขณะเดียวกัน ฟู้ดแพชชั่นรู้ดีว่า ความท้าทายที่สุดสำหรับการขยายธุรกิจแบบแฟรนไชส์คือ ‘ทำเล’ และ ‘เงินทุน’ ดังนั้น ฟู้ดแพชชั่นจึงปิดช่องโหว่นี้ ด้วยการจับมือกับ 6 พันธมิตร แบ่งเป็น
‘แนวหน้า’ สนับสนุนด้าน ‘ทำเล’ และ ‘ค่าเช่า’ ประกอบด้วย
‘แนวหลัง’ สนับสนุน ‘เงินทุน’ และ ‘ประชาสัมพันธ์’ ประกอบด้วย
เบื้องต้นภายในสิ้นปี 2563 ฟู้ดแพชชั่นวางเป้าหมายขยาย ‘แฟรนไชส์หมูทอดกอดคอ’ ทั้งสิ้น 100 สาขา ด้วยกัน
ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงแค่ ‘น้ำจิ้ม’ เท่านั้น !! ในไตรมาส 4 ยังมีโปรเจกต์อีกมากมายที่ ‘ฟู้ดแพชชั่น’ พร้อมเผยโฉมอีกหลายโปรเจกต์ จับตาดูไว้ให้ดี เพราะ ‘ปลาเร็ว’ ตัวนี้จะว่ายน้ำเร็วกว่าที่เคยแน่นอน ด้วย Moonshot Change with Speed
บทความจากนิตยสาร MarketPlus Issue 128 October 2020