บี.กริม ผู้สนับสนุนหลักขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน มากว่า 7 ปี ล่าสุดได้สนับสนุนการเปิดศูนย์การเรียนรู้ “ส.เสือ วิทยา” (Tiger Learning Center) ณ โรงเรียนอนุบาลคลองลาน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติคลองลาน แหล่งที่อยู่อาศัยหลักของเสือโคร่ง และเขตพื้นที่หลักในการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทย
สำหรับศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือ วิทยา เป็นพื้นที่การเรียนรู้ขนาดใหญ่ จัดแสดงเรื่องราวการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับเสือโคร่งและสัตว์ป่าสำหรับเด็กนักเรียน และผู้สนใจทั่วไป มีการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรด้านงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงบูรณาการเนื้อหาการอนุรักษ์สัตว์ป่าเข้าไปกับวิชาต่างๆ ตามเป้าหมายเพื่อสร้างเป็นศูนย์ต้นแบบในการปลูกจิตสำนึกให้เด็ก และเยาวชน ตลอดจนบุคคลในพื้นที่ในการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่าโดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 2 และโรงเรียนอนุบาลคลองลาน สนับสนุนพื้นที่จัดตั้งศูนย์ดังกล่าว
บี.กริม เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ รวมถึงการปกป้องพิทักษ์ผืนป่าโดยให้การสนับสนุน WWF ประเทศไทยและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินงานในหลากหลายด้านเพื่อฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนกิจกรรมการฝึกอบรมลาดตระเวนให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า, การสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการปฏิบัติงานลาดตระเวน, การช่วยฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ตลอดจนสนับสนุนการรณรงค์อนุรักษ์สัตว์ป่าในโรงเรียน ชุมชน และค่ายเยาวชน
ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง WWF ประเทศไทย กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือ วิทยา เปรียบเสมือนศูนย์ตั้งต้นในการเรียนรู้เรื่องสัตว์ป่า สร้างให้เด็กเกิดความรู้สึกผูกพันกับสัตว์ป่า และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ ซึ่งอนาคตมีแผนเปิดศูนย์เรียนรู้ ส.เสือวิทยา ในพื้นที่ใกล้เขตอุทยานแม่วงก์ เพิ่มเติม รวมถึงขยายไปยังพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง
ดร.รุ้งนภา กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดปัจจุบันประเทศไทย มีจำนวนเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ ประมาณ 130-160 ตัว พบได้หนาแน่นมากที่สุดบริเวณผืนป่าตะวันตก ครอบคลุมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลานโดยมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งบ่งบอกว่าแนวทางการอนุรักษ์ที่ผ่านมาเดินมาถูกทาง อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายยังคงต้องเข้มข้นในการดำเนินงาน เนื่องจากการลักลอบล่าสัตว์ป่ายังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ด้านนายธวัชชัย เพชระบูรณิน ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กิจกรรมที่กรมอุทยานฯ เน้น คือ การปลูกจิตสำนึกให้กับชาวบ้านในชุมชนที่อาศัยอยู่รอบเขตอุทยานแห่งชาติ เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่า อย่างไรก็ตาม ด้วยความจำกัดด้านเวลาที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ทำให้การเข้าไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทางกรมจึงปรับแผนหันมาให้ความสำคัญกับการปลูกจิตสำนึกเด็ก และเยาวชน ผ่านการเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ โดยตรงกับโรงเรียนซึ่งพบว่าได้ผลอย่างมาก
“เมื่อเด็กเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ก็จะกลายเป็นกระบอกเสียง สื่อสารไปยังพ่อแม่ ผู้ปกครอง ทำให้ชุมมชนในพื้นที่หันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตสัตว์ป่ามากขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้งานอนุรักษ์ และฟื้นฟูจำนวนสัตว์ป่า ประสบความสำเร็จ” นายธวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย