กระทรวงเกษตรฯอินแทรนด์ หนุน อ.ส.ค.จับมือ SCGP ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัย และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับนมไทย-เดนมาร์ค พร้อมเปิดตัวใช้หลอดกระดาษแทนการใช้หลอดพลาสติกนำร่องในผลิตภัณฑ์นม “ไทย-เดนมาร์ค แลคโตสฟรี”เป็นแบรนด์แรก คาดออกสู่ตลาดต้นปี 2564 วางเป้าช่วยลดการใช้หลอดพลาสติก 7 ล้านหลอด ลดปริมาณขยะพลาสติก 2.5 ตันต่อปี
น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)ได้ตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อมและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นเมื่อเร็วๆนี้จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับนมไทย-เดนมาร์ค ระหว่าง อ.ส.ค.กับบริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด และบริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการใช้หลอดกระดาษในบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คให้มีประสิทธิภาพมุ่งลดการใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมนม และเป็นผู้นำการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแผน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ.2561-2573
รวมทั้งได้มีการเปิดตัวใช้หลอดกระดาษเพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลกโดยนำร่องใช้กับผลิตภัณฑ์นม“ไทย-เดนมาร์คแลคโตสฟรี"นับเป็นแบรนด์แรกที่เลือกใช้หลอดกระดาษจากผู้ผลิตภายในประเทศโดยคาดการณ์ว่าพร้อมออกสู่ตลาดในไตรมาสแรก ของปี พ.ศ.2564 จะช่วยลดการใช้หลอดพลาสติก 7,000,000 หลอด ลดปริมาณขยะพลาสติก 2.5 ตันต่อปี โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมนมในประเทศต่อไป
รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจโภชนาการที่ดีและสนใจดูแลสุขภาพ ทำให้การบริโภคนมได้รับความนิยมมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังมีการรณรงค์ให้ผู้บริโภคดื่มนม จาก 18 ลิตร ต่อคน ต่อปี เพิ่มเป็น 25 ลิตร ต่อคน ต่อปี ภายในปี พ.ศ.2569
โดยกระทรวงเกษตรฯ และอ.ส.ค.ได้ตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อมและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และจะร่วมมือกันขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ จึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาการใช้หลอดกระดาษสำหรับบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค แทนการใช้หลอดพลาสติก เป็นการส่งเสริมและตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมมากขึ้น
ดังนั้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้หลายวิธีทั้งทางตรง และทางอ้อมซึ่งการนำสิ่งอื่นมาใช้ทดแทนก็เป็นอีกหนึ่ง วิธีที่จะช่วยให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น การใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก การใช้ผลิตภัณฑ์จากกระดาษที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติมาใช้ทดแทน เป็นต้น
ด้านนายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า
อ.ส.ค. เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีพันธกิจในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค ได้ร่วมกับบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยเฟสท์ ใน SCGP พัฒนาหลอดกระดาษรวมถึงบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เพื่อลดปริมาณขยะภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการพัฒนาหลอดกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมและยกระดับสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน บรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยเฟสท์ ใน SCGP ได้พัฒนาหลอดกระดาษเฟสท์ โดยตัวหลอดผลิตจากกระดาษสำหรับสัมผัสอาหาร ภายใต้มาตรฐานกระบวนการผลิตระดับสากล ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP-EU Standard สามารถย่อยสลายได้ภายใน 90 วัน ใช้นวัตกรรมการผลิตที่ทำให้หลอดโค้งงอมีปลายตัดสะดวกสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย มีความแข็งแรงสามารถเจาะกล่องนมได้และใช้ดื่มนมได้จนหมดกล่อง
ขณะที่ นางวิมล จันทร์เทียร ผู้อำนวยการแบรนด์บรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยเฟสท์ ใน SCGP กล่าวว่า SCGP มีความมุ่งมั่นคิดค้นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทุกระดับ มากกว่า 59 รายการ ที่ผลิตจากกระดาษสำหรับสัมผัสอาหารได้โดยตรง สะอาด ปลอดภัย ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล เพื่อตอบสนองการใช้งานที่แตกต่างทั้งในกลุ่ม Food Service และ Process Food ซึ่ง เฟสท์ ยังนำเสนอหลอดกระดาษอีก 4 รายการ ให้ อ.ส.ค. พิจารณาใช้งานที่ร้าน Milk Land ได้แก่ หลอดกระดาษเฟสท์ 6 มม. สำหรับเครื่องดื่มเย็น หลอดกระดาษเฟสท์ 8 มม. และ 10 มม. สำหรับเครื่องดื่มปั่น และหลอดกระดาษเฟสท์ 12 มม. สำหรับชานมไข่มุก และบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี Green Carton ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้กระดาษในการผลิตได้ถึง 20% แต่ยังคงคุณสมบัติกล่องที่แข็งแรง
โดยปัจจุบันได้นำมาใช้สำหรับการขนส่งนม UHT ตราไทยเดนมาร์ค Kid D และนมโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์แบบรวมหน่วย หรือ Multi Pack ซึ่งผลิตจากนวัตกรรมกระดาษลูกฟูกลอนเล็ก ที่มีความแข็งแรง รองรับงานพิมพ์คุณภาพสูง เหมาะสำหรับบรรจุสินค้าที่ต้องการความสวยงามนับว่าเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ตามหลัก Circular Economy