วิจัยกรุงศรี ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2563 โต -6.4% จากเดิมคาดไว้ที่ -10.3% และคาดปี 2564 อยู่ที่ 3.3%
30 Nov 2020

 

วิจัยกรุงศรี ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2563 เป็น -6.4% จากเดิมคาดไว้ที่ -10.3% และคาดอัตราการเติบโตปี 2564 ที่ 3.3% ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและโอกาส


 

 

การปรับเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 สะท้อนตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2563 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้ การใช้จ่ายของภาครัฐมีการเร่งตัวขึ้นและการส่งออกสินค้าดีกว่าคาด เมื่อมองไปข้างหน้า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 ด้วยปัจจัยหนุนจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า การเร่งใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัวตามวัฏจักรของอุปสงค์ภายนอกประเทศ

 

 

วิจัยกรุงศรีมองเห็นความท้าทายรออยู่ข้างหน้าท่ามกลางปัจจัยลบจากสถานการณ์ในประเทศ ขณะที่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะช้ากว่าปัจจัยขับเคลื่อนอื่น ทำให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากในภาคบริการ ภาวะการว่างงานยังคงส่งผลกระทบต่อรายได้และการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจและสร้างความกังวลในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโต โดยการลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกจะค่อยๆ ฟื้นตัว

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตจากแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคส่งออกและภาคการผลิตของประเทศในระยะปานกลาง
 


 Key revisions:
▪️ คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงมาที่ 4.0 ล้านคนในปี 2564 จาก 6.7 ล้านคน ในปี 2563 จากความกังวลของสถานการณ์แพร่ระบาด การเปิดประเทศด้วยการจับคู่เดินทางที่ล่าช้าออกไป และการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่ยาวนานกว่าที่คาด ท่ามกลางการระบาดรอบ 2 และรอบ 3 ของประเทศสำคัญทั่วโลก แม้มีข่าวดีเกี่ยวกับความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน แต่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่เกิดขึ้นจนถึงไตรมาส 4/2564 ซึ่งเป็นช่วงที่คนทั่วโลกจะได้รับวัคซีนอย่างกว้างขวาง

 

 


▪️ ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนปี 2563 จาก -4.2% เป็น  -1.1% และคาดว่าจะเติบโตที่ 2.5% ในปี 2564 การใช้จ่ายของผู้บริโภคในปี 2563 จะหดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยปัจจัยหนุนจากมาตรการให้เงินช่วยเหลือวงเงินมากกว่า 4 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปี 2563 และมาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทในไตรมาส 4/2563

ทั้งนี้ ในปี 2564 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (งบประมาณพิเศษของรัฐบาลวงเงิน 2 แสนล้านบาท) และกำลังซื้อจากกลุ่มชั้นกลางและกลุ่มที่มีรายได้สูง จะเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคภาคเอกชนเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเติบโตจะถูกจำกัดจากปัจจัยบวกที่หายไปของอุปสงค์ที่อั้นไว้จากช่วงก่อน การสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และผลกระทบจากวิกฤตโควิดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการว่างงานและหนี้
   


▪️ ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของส่งออกปี 2563 จาก -12.5% เป็น -7.5% และประเมินส่งออกในปี 2564 จะเติบโตที่ 4.5% ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวขึ้นในปีนี้และแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องด้วยเหตุผลดังนี้

1) อุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุปกรณ์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการทำงานจากที่บ้าน (work from home)

2) สัญญาณการฟื้นตัวตามวัฏจักรของภาคการผลิตโลกจากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่

ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าการเติบโตของยอดส่งออกโลกจะกระเตื้องขึ้นเป็นบวก 7.2% ในปี 2564 จากคาดการณ์ที่ -9.2% ในปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีโอกาสการเติบโตในระยะปานกลางจากภูมิภาคอาเซียนที่กำลังขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization)  

 
▪️ ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนปี 2563 เป็น -11% และคาดการเติบโตปี 2564 ที่ 3.2% วิจัยกรุงศรีมองเห็นสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคส่งออก โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ที่เด่นชัดของยอดส่งออกและการลงทุนด้านอุปกรณ์ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมได้แตะระดับก่อนวิกฤต ถือเป็นการเปิดทางไปสู่การขยายการลงทุนต่อไป
 
▪️ ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการลงทุนภาครัฐปี 2563 มาที่ 12.5% และคาดว่าจะเติบโตที่ 10.5% ในปี 2564 เพื่อสะท้อนถึงการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล โดยรัฐบาลมีแผนที่จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ขณะที่ความล่าช้าของการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณปี 2563 กลับกลายเป็นปัจจัยบวกสำหรับอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐในปี 2564 เนื่องจากฐานการคำนวณที่ต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

 


 

วิจัยกรุงศรี มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งคาดว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในปี 2564 แม้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ วิจัยกรุงศรี มองว่าผลบวกจากการฟื้นตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจจะถูกจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ การจ้างงานและรายได้ ความเสียหายจากวิกฤตโควิด-19 อาจรุนแรงมากขึ้นจากมาตรการจำกัดการเดินทาง การตอบสนองด้านนโยบายที่ไม่เพียงพอ และความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำ และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลกบ่งชี้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตลอดปี 2564

นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในภาคธุรกิจต่างๆ ทำให้การใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินมีแนวโน้มเป็นแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และอาจมีการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้ ไปจนถึงมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องในลักษณะวงจรขาลง

[อ่าน 1,911]
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Valentine’s Item! สมูทอีคอลแลปส์หลิง-ออม เปิดตัว “Smooth E x Ling-Orm Exclusive Valentine’s Box Set”
LPN มุ่งสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน เดินหน้าสร้าง Carbon Neutrality
SCG ร่วมกับสภาอุตฯ ชวนผู้ประกอบการสัมผัสนวัตกรรม Low Carbon และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม 4.0
ไฮเออร์ ประเทศไทย ยิ้มรับปี 68 กวาดรายได้ปี 67 โต 11,000 ล้านบาท
เอ็ม ดิสทริค จับมือพันธมิตรสร้าง มอบอภิมหาโปรโมชั่น ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีมะเส็งสุดยิ่งใหญ่
ORI โชว์พอร์ต Joint Venture พาร์ทเนอร์แกร่ง ตอกย้ำกว่า 7 ปี - 119 โครงการ - 1.86 แสนล้านบาท
MAGAZINE UPDATE
Owner
DOUBLE D CREATION Co.,Ltd.
เอเวอร์กรีนวิว ทาวเวอร์ ชั้น 4
เลขที่ 22/43 ซอยบางนา-ตราด 56 ถนนบางนา-ตราด
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
Tel : 0-2751-4995-6
Mobile : 062-194-4561
Advertising
ติดต่อโฆษณา และ การตลาด
คุณศุภากร ยาตพงศ์ (บู)
Mobile : 08-1355-3636
Tel : 0-2751-4995-6
E-mail : market-plus@hotmail.com
info@marketplus.in.th
PR News
ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
E-mail : info@marketplus.in.th,
market-plus@hotmail.com,
marketplus@hotmail.co.th
Copyright © 2016 DOUBLE D CREATION Co.,Ltd. All rights Reserved