ขณะที่สังคมยุคเทคโนโลยีดิจิดัล ขับเคลื่อนข้อมูล ข่าวสารตลอดจนความรู้ต่างๆ มากมายมหาศาล เข้าสู่ทุกประตูบ้านผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตคนในปัจจุบัน นั่นหมายถึงโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ที่กว้างไกลและไร้ขอบเขตมากขึ้น แต่....ในอีกหลายมุมบนโลกใบนี้ พบว่ายังมีกลุ่มคนจำนวนมากที่ขาดโอกาสและหนทางในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน สถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่ง “ห้องสมุด” ที่เป็นคลังความรู้ที่จำเป็นด้านการศึกษา นั่นคือ กลุ่มผู้อพยพลี้ภัย และผู้พลัดถิ่น รวมไปถึงเขตผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ และชุมชนยากไร้ที่กระจายอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน
เจเรมี ลาชาล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการองค์กรห้องสมุดไร้พรมแดน (Libraries Without Borders – LWB) จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อกำจัดความไม่เท่าเทียมด้านการเรียนรู้และการเข้าถึงสารสนเทศ ด้วยการก้าวข้ามนิยามดั้งเดิมของห้องสมุดและการขยายกรอบที่ห้องสมุดจะเข้าไปมีบทบาทและสร้างนวัตกรรมที่ชื่อว่า Ideas Box เพื่อนำห้องสมุดไปในทุกหนทุกแห่งบนโลก เพื่อมอบโอกาสการเรียนรู้และการเข้าถึงสารสนเทศ เพื่อฟื้นฟูศักดิ์ศรีและสร้างชีวิตใหม่อีกครั้งให้กับพวกเขา จนได้รับรางวัล Google Impact Challenge เมื่อปี 2015 และเพิ่งได้รับรางวัล WISE Awards ประจำปี 2016 จากองค์กรสุดยอดนวัตกรรมโลกด้านการศึกษา (World Innovation Summit for Education) ซึ่งล่าสุดเขาได้นำแนวคิดเรื่อง Ideas Box มาจุดประกายความคิดให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และห้องสมุด ในงานประชุมสหปาฐกถาประจำปี TK Forum 2017 “Better Library and Learning Space: Trends and Ideas” ของอุทยานการเรียนรู้ TK park ที่ผ่านมา
Ideas Box หรือ กล่องความคิด คือ ห้องสมุดเคลื่อนที่ขนาดจิ๋ว เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2014 โดยใช้หีบเหล็กเพียง 2 ใบ ซึ่งเคลื่อนที่และติดตั้งง่ายแม้กระทั่งในสถานการณ์ที่ยากลำบากและท้าทายที่สุดบนพื้นที่ 100 ตารางเมตร ถูกอัดแน่นด้วยลักษณะการใช้งานมากมาย ทั้งการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา 4 เครื่อง แท็บเล็ตจอสัมผัสกว่า 15 เครื่อง เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 50 เครื่อง หนังสือ 300 เล่ม และเครื่องมือการเรียนรู้อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยหน่วยเรียนรู้ด้านการสร้างภาพยนตร์ เกมและวิดีโอเกม ของเล่น หุ่นกระบอก และห้องฝึกซ้อมละคร
Ideas Box บรรจุเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและระบบแบตเตอรี่ เพื่อให้สร้างพลังงานใช้เองได้ 100% เนื้อหาการเรียนรู้ถูกปรับตามภาษาของผู้ใช้บริการ ความต้องการ และวัฒนธรรมของภาคีในชุมชน ดังนั้น แม้ว่ากล่องแต่ละใบจะมีรูปแบบโครงสร้างตามมาตรฐานเดียวกัน แต่ในแต่ละโครงการก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แปรผันตามบริบทและวัตถุประสงค์ Ideas Box เพียงกล่องเดียวให้บริการและมีความพร้อมด้านวัสดุเทียบเท่ากับห้องสมุดขนาดเล็กแห่งหนึ่งของเมือง ที่รองรับผู้ใช้บริการได้ราว 5,000 คน
ทุกวันนี้ มีการดำเนินการโครงการ Ideas Box กว่า 30 โครงการในพื้นที่ปริมณฑลและชนบทห่างไกลของประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งในชุมชนรายได้น้อยของนครปารีส มาร์แซย์ และกาเลส์ ในประเทศฝรั่งเศส เมืองดีทรอยต์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งโครงการการศึกษาข้างทางสำหรับเด็กในสาธารณรัฐเซเนกัล
แนวความคิดในการสร้าง Ideas Box เริ่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กรุงปอร์โตแปรงซ์ ประเทศเฮติ ซึ่งเป็นพิบัติภัยร้ายแรงที่สุดแห่งหนึ่ง ทำให้ผู้คนกว่า 1.5 ล้านคนต้องมาอาศัยตามท้องถนนและศูนย์พักพิงชั่วคราว ท่ามกลางความช่วยเหลือจากประชาคมนานาชาติที่มุ่งไปที่เรื่องความจำเป็นด้านความอยู่รอด แต่เจเรมี กลับเห็นว่าการศึกษาและวัฒนธรรมก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รวมทั้งช่วยลดความแปลกแยกและความสิ้นหวังของผู้คนอีกด้วย จึงเป็นห้องสมุด 20 แห่งในศูนย์พักพิงในขณะนั้น ซึ่งโครงการนี้ทำให้เขาตระหนักเป็นครั้งแรกถึงความสำคัญของการเข้าถึงสารสนเทศในสถานการณ์วิกฤติ
ต่อมา ได้เริ่มดำนินการในค่ายผู้ลี้ภัยชาวคองโก ในสาธารณรัฐบุรุนดี และเร็วๆ นี้ก็ดำเนินการในค่ายผู้ลี้ภัยสาหรับชาวซีเรีย ที่ตั้งอยู่ในประเทศจอร์แดน เลบานอน อิรัก และตุรกี รวมทั้งระหว่างเส้นทางลี้ภัยไปยังยุโรป เช่น ประเทศกรีซ อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส
ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นกว่า 65 ล้านคนทั่วโลก โดยราว 28 ล้านคนเป็นเด็ก เฉลี่ยแล้วบุคคลหนึ่งประสบภาวะลี้ภัยเป็นระยะเวลา 17 ปี ในขณะที่ความช่วยเหลือด้านการศึกษาคิดแล้วมีเพียง 2% เท่านั้น
จากการเก็บข้อมูลการดำเนินการ พบว่า นักเรียนที่เข้าชั้นเรียนภาษาฝรั่งเศสและคณิตศาสตร์ในโครงการ Ideas Box มีพัฒนาการด้านวิชาการดีกว่านักเรียนที่เข้าชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไปถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ครูที่เข้าร่วมโครงการระบุว่า ทัศนคติของนักเรียนของพวกเขาเปลี่ยนไป คือมีชีวิตชีวา มีแรงจูงใจและมีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นที่มีความบอบช้ำทางจิตใจ ก็ได้รับการเสริมสร้างพลังสร้างสรรค์ พวกเขามารวมตัวกันนับพันคนที่ Ideas Box เพื่อสร้างสัมพันธ์กับโลกและสร้างชีวิตใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ LWB ยังเตรียมขยายไปสู่กลุ่มชุมชนต่างๆ ทั่วโลก เพราะเชื่อว่า ห้องสมุดพลิกขีวิตให้คนได้ โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้เริ่มเปิดตัว Ideas Box ในย่านชุมชนผู้มีรายได้น้อยในประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา และได้ร่วมกับสมาพันธ์ห้องสมุดรัฐแห่งประเทศออสเตรเลีย ในการเข้าถึงชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิมอันห่างไกลและไม่เคยเข้าถึงห้องสมุดได้มาก่อนอีกด้วย LWB จึงตั้งเป้าหมายสร้าง Ideas Box ขึ้นมากกว่า 1,000 กล่องภายในปี 2022
ทุกวันนี้ LWB มีขอบข่ายการทำงานอยู่ใน 20 ประเทศกระจายอยู่ในทวีปยุโรป แอฟริกา ละตินอเมริกา และออสเตรเลีย มีอาสาสมัครทั่วโลกกว่า 500 คน ดำเนินกิจกรรมกระจายหนังสือไปยังผู้ขาดโอกาสและมีผู้ได้รับประโยชน์ถึงกว่า 5 ล้านคน
“LWB เชื่อว่าห้องสมุดไม่ได้เป็นแหล่งทรัพยากรหนังสือแบบสามัญอีกต่อไป สิ่งสาคัญของห้องสมุดแห่งศตวรรษที่ 21 คือเป็นสถานที่สำหรับการเข้าถึงสารสนเทศและการศึกษาที่เปี่ยมคุณภาพ และเป็นพื้นที่สาหรับการสร้างความรู้ การก่อร่างสร้างชุมชนและการสร้างนวัตกรรมทางสังคม ห้องสมุดเป็นสถานที่ซึ่งผู้คนมาพบปะกันเพื่อเสกสรรอนาคตและสร้างทางออกสำหรับความท้าทายที่พวกเขาเผชิญ”
ขณะเดียวกัน เลส วัตสัน ที่ปรึกษาด้านห้องสมุดและพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ อีกหนึ่งวิทยากรพิเศษ TK Forum 2017 กล่าวถึงห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 ว่า เทคโนโลยีกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเข้าถึงสารสนเทศ ที่สำคัญอีกประการคือการแบ่งพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ ห้องสมุดแนวคิดใหม่จะต้องมีพื้นที่ที่มีชีวิตชีวามีสีสันมีความคึกคัก สร้างความมีส่วนร่วม เน้นการใช้พื้นที่เปิดโล่งเพื่อสร้างจินตนาการ อาจมีเพียงบางส่วนเท่านั้นซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัวสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เช่นเดียวกับ ร็อบ เบราซีลส์ ที่ให้ทัศนะว่า ห้องสมุดต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับยุคที่ทันสมัย ห้องสมุดควรส่งเสริมการพัฒนาสติปัญญา พร้อมๆ กับการเป็นสถานที่ที่ให้แรงบันดาลใจกับทุกคน
ดังนั้น ห้องสมุดจะปิดตัวอยู่หลังกำแพงไม่ได้แล้ว ห้องสมุดต้องอยู่ทุกหนทุกแห่งที่สังคมต้องการ