เอไอเอสตอกย้ำความมุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาด้านการศึกษา และร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง จับมือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดศูนย์การเรียนรู้ด้านดิจิทัล “AIS PLAYGROUND @ PSU” เป็น Co-Create Space แห่งแรกในภาคใต้ เพื่อรองรับการใช้งานร่วมกันทั้ง อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยและพันธมิตรในระบบนิเวศน์ด้านนวัตกรรมดิจิทัลของเอไอเอสและมหาวิยาลัย สำหรับใช้เป็นแหล่งบ่มเพาะไอเดีย คิดค้นผลงานวิจัยและนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การสร้างคุณประโยชน์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมในอนาคต หลังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วทุกภูมิภาคและพันธมิตรชั้นนำด้านเทคโนโลยี เปิด AIS PLAYGROUND ภายในมหาวิทยาลัยมาแล้ว 2 แห่ง ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
นายอราคิน รักษ์จิตตาโภคหัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม เอไอเอส กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถือเป็นอีกหนึ่งสถาบันที่มีศักยภาพสูง มีการเรียนการสอนครบถ้วนทั้งสายวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปศาสตร์ อีกทั้งคณาจารย์ยังมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนางานวิจัย และมีความเข้าใจปัญหาเฉพาะด้านที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้เกิดงานวิจัยที่ลงลึก รู้จริง และสามารถนำมาแก้ไขปัญหาให้บรรลุผลได้เป็นที่ประจักษ์จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ดังนั้น เอไอเอส ซึ่งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Infrastructure) และสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ พัฒนา และสร้างโอกาสใหม่ๆ จากเทคโนโลยีดิจิทัล จึงสานต่อความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไปอีกขั้น
โดยเปิด “AIS PLAYGROUND @ PSU” ให้เป็นพื้นที่ให้นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีได้เข้ามาทดลองสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับเอไอเอส ไม่ว่าจะเป็น 5G, NB-IoT, XR, AI และ Robot ฯลฯ ซึ่งสามารถเข้ามาทดลอง ทดสอบ นวัตกรรมต้นแบบบนเครือข่ายและสภาพแวดล้อมจริงได้เลย ทั้งบนเทคโนโลยีเครือข่าย AIS 5G, AIS NEXT G, AIS Fibre และ AIS SUPER WiFi เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและสอดคล้องกับบริบทและอัตลักษณ์ของภูมิภาค หลังได้ร่วมกันศึกษา ทดลอง ทดสอบ 5G Use Case ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 5G Remote Control Vehicle การบังคับรถไร้คนขับข้ามภูมิภาค, นวัตกรรม Mobile Surveillance รถตรวจตราและรักษาความปลอดภัย และนวัตกรรม V2V การสื่อสารระหว่างรถต่อรถ ผ่าน 5G ที่ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีและทำให้คนไทยเห็นประโยชน์ของการนำ 5G ไปประยุกต์ใช้
นอกจากนี้ ภายใน AIS PLAYGROUND @ PSU ยังมีบริการในโซนอื่นๆ อีก เช่น Co-Working Space โดยเอไอเอส เป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา พร้อมจัด Showcase และกิจกรรมต่างๆ จากเทคโนโลยีสุดล้ำ เช่น 5G, Robot, AR, 3D Printer ฯลฯ ที่จะสลับหมุนเวียนมาให้ผู้ที่สนใจได้สัมผัสประสบการณ์จริงและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยเชื่อมั่นใจว่า AIS PLAYGROUND @ PSU จะเป็นอีกหนึ่งแหล่งโอเอซิสแห่งปัญญาของภาคใต้ และทำให้มหาวิทยาสงขลานครินทร์ก้าวสู่ SMART University ตามที่มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นไว้ได้อย่างแน่นอน”
ผศ.ดร.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการ Transform ในหลายด้านโดยได้ดำเนินโครงการ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในเรื่อง IoT, Big Data, และระบบปัญญาประดิษฐ์มาอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้นักศึกษาได้ทดลองและคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม และประเทศ ภายใต้ชื่อ Smart City Model in Campus เพื่อสร้างรูปแบบการทำงานที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 วันนี้ เราจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สานต่อความร่วมมือกับเอไอเอส เปิดศูนย์ AIS PLAYGROUND @ PSU พื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรม และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการประยุกต์ใช้งาน 5G กับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากเอไอเอส ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และเพิ่มศักยภาพของคณาจารย์และนักศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ตลอดจนเป็นการเตรียม Ecosystem ของการพัฒนาเทคโนโลยีให้พร้อมรองรับเทคโนโลยี 5G สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลอย่างแท้จริง”
สำหรับ AIS PLAYGROUND @ PSU ตั้งอยู่บริเวณอาคารศูนย์การเรียนรู้ (LRC) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดให้นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรในมหาวิทยาลัย เข้าใช้บริการฟรี ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 19:00 น.โดยสามารถสมัครสมาชิกได้ฟรีที่ AIS PLAYGROUND @ PSU ซึ่งจะสามารถใช้ Facilities ต่างๆ ได้ อาทิ VR, AIS NB-IoT Devkit และ AIS NB-IoT Shield, 3D Printer, Co-Working Space, ชุดอุปกรณ์ Conference Call, โทรศัพท์มือถือ และ Tablet สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเชื่อมต่อ APIs ของ AIS และอุปกรณ์อื่นๆ