กสิกรไทยยืนแถวหน้าธนาคารแห่งความยั่งยืนระดับสากล ทำคะแนนด้านความยั่งยืน (S&P Global ESG Score ) เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และอยู่ในประเภท Sliver Class กลุ่มอุตสาหกรรมธนาคาร จากการประกาศรางวัลความยั่งยืน S&P Global Sustainability Award ตอกย้ำยุทธศาสตร์ธนาคารแห่งความยั่งยืนที่พร้อมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารเดียวในประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกอยู่ในดัชนี DJSI 5 ปีติดต่อกัน ล่าสุดในรายงาน The Sustainability Year Book ประจำปี 2564 จัดทำโดย S&P Global บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้ประเมินผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าดัชนี DJSI ในเชิงลึก และมอบรางวัลด้านความยั่งยืน S&P Global Sustainability Award ให้แก่ธนาคารกสิกรไทย ด้วยคะแนน S&P Global ESG Score สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มธนาคารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ในประเภท Sliver Class กลุ่มอุตสาหกรรมธนาคาร
รางวัลดังกล่าวตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารกสิกรไทยในการดำเนินธุรกิจตามหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) ด้วยการคำนึงถึงการรักษาสมดุลทั้ง มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หล่อหลอมอยู่ในทุกกระบวนการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมจนเป็นกรีน ดีเอ็นเอ ขององค์กร ที่ได้มาตรฐานสากล ได้แก่
ด้านเศรษฐกิจ ธนาคารดำเนินธุรกิจที่ผสานความสามารถของบุคลากร เทคโนโลยี และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมธรรมาภิบาลที่ดี ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินและกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และการลงทุนที่คำนึงถึงหลัก ESG เป็นพื้นฐาน เพื่อเป้าหมาย การสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน
ด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกพนักงาน ลดใช้พลาสติก ลดการใช้พลังงาน แยกขยะเพื่อการจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งบทบาทของธนาคารในการสนับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ลดการสร้างมลภาวะทั้งในรูปแบบการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้พลังงาน ตามเป้าหมายของธนาคาร คือ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์
ด้านสังคม ธนาคารมีการดูแลทรัพยากรบุคคลของธนาคารให้ได้มาตรฐาน ด้วยสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี จัดหาระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองการใช้งานในยุค นิว นอร์มอล ควบคู่กับการจัดกิจกรรมสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน และสังคม อาทิ โครงการให้ความรู้ทางการเงินและทักษะทางอาชีพแห่งอนาคตแก่เยาวชนผ่านโครงการ AFTERKLASS เป้าหมายของธนาคาร คือ การที่ธนาคารเป็นองค์กรธุรกิจที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
นางสาวขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ธนาคารจะส่งมอบคุณค่าที่มากกว่าผลกำไร แต่เป็นการสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน ดำเนินกิจการโดยมองไกลไปถึงอนาคตข้างหน้าเพื่อคนในรุ่นต่อไป พร้อมให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนรอบด้าน จึงจะทำให้ธนาคารดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนระยะยาว และสร้างการการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภาพรวมอย่างมีความหมาย