เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวในปัจจุบัน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และความต้องการของผู้บริโภคจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นตัวสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีต้องการขยายการลงทุนมากยิ่งขึ้น
ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ทำการตอบโจทย์ลูกค้าเอสเอ็มอีรายอุตสาหกรรม ผุดกลยุทธ์ Industry Solution ด้วยโซลูชั่นทางการเงินครบถ้วนทุกความต้องการ นำร่องเจาะกลุ่มลูกค้า 5 อุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินการไปแล้วคือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภาครัฐ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ และธุรกิจค้าปลีกส่ง ด้วยข้อเสนอที่แตกต่างให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม
วิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกับลูกค้าจากหลายอุตสาหกรรม ธนาคารพบว่าการให้บริการทางการเงินในรูปแบบสินเชื่อและผลิตภัณฑ์เดี่ยวๆ แบบเดิมนั้น อาจไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ธนาคารจึงได้ทำการศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะการดำเนินธุรกิจของลูกค้าตลอดทั้งกระบวนการแล้วพบว่าแต่ละธุรกิจมีความต้องการแตกต่างกัน ความเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง ทำให้ธนาคารสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งสะดวก และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน”
สำหรับการเลือกพัฒนาโซลูชั่นจากแต่ละอุตสาหกรรมนั้น ทางธนาคารได้พิจารณาจากศักยภาพทางธุรกิจที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม และตรงความต้องการที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจสามารถเติบโตและขยายไปสู่ตลาดโลกได้ในอนาคต
“เราเชื่อว่า Industry Solution จะสามารถตอบโจทย์ให้กับเอสเอ็มอีได้อย่างตรงจุด สามารถอนุมัติวงเงินสินเชื่อได้รวดเร็วมากขึ้น และต่อยอดไปยัง Value Chain ของลูกค้าเพื่อเสริมศักยภาพ Network ของลูกค้าให้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงสร้างโอกาสในการทำ Business Matching ให้กับลูกค้าได้อีกด้วย โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายโซลูชั่นในอนาคต คือ ธุรกิจท่องเที่ยว สุขภาพ และปั๊มน้ำมัน” วิพล กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ในปี 2559 ธนาคารฯ ตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างเติบโตประมาณ 4-6% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับปี 2558 ที่ผ่านมา โดยมียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 3.6 แสนล้านบาท ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา มียอดสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 24,000 ล้านบาท พร้อมมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเอสเอ็มอีมากขึ้น
นอกจากนี้ วิพล ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ว่า “ในปีนี้การส่งออกคาดว่าน่าจะหดตัว 2.1% ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มลดลง เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน เนื่องจากความแตกต่างของนโยบายการเงินโลก เศรษฐกิจโลกค่อนข้างหดตัว ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนในประเทศไทย ในส่วนของรายได้ครัวเรือนยังมีทิศทางซบเซาจากภัยแล้งและการถูกลดชั่วโมงการทำงานลง ดังนั้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงยังอยู่ในระดับสูง”
ด้านปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น รถไฟฟ้า และมอเตอร์เวย์ รวมไปถึงมาตรการของรัฐที่สนับสนุนกำลังซื้อครัวเรือน เช่น ช่วยเหลือเกษตรกร และการกระตุ้นการท่องเที่ยว ในส่วนของการท่องเที่ยวยังคงเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปที่ระดับ 37 บาท ต่อ USD ยังมีส่วนช่วยในการส่งออก และอีกหนึ่งปัจจัยคือมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
FYI ไทยพาณิชย์ เผยธุรกิจ SMEs ดาวรุ่งปี 2559 ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภาครัฐ, ธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง, ธุรกิจรับงานก่อสร้างและติดตั้งงานโครงข่ายโทรคมนาคม 4G, ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ตามแหล่งท่องเที่ยว, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์, ธุรกิจ e-Commerce/Digital Technology และธุรกิจ Start-Up&IDE |