ภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือนมี ‘ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น’ โบกมือลาเมืองไทยพร้อมกันถึง 2 แห่งนั้นคือ ‘ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน’ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์และล่าสุดกับ ‘ห้างสรรพสินค้าโตคิว’ สาขาศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ซึ่งปิดตัวไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
ปิดตำนานห้างญี่ปุ่นอายุ 35 ปีซึ่งอยู่คู่กันมาตั้งแต่วันแรกที่ ‘มาบุญครอง’ ซึ่งเป็นชื่อเก่า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เปิดตัวเลยทีเดียว
คำถามที่ตามมาคือ ทำไม 2 ห้างญี่ปุ่นถึงอยู่ไม่ได้ ?
โควิด-19 ฟางเส้นสุดท้าย
ปฎิเสธไม่ได้ว่า “สงครามศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า” ในบ้านเรามีการแข่งขันที่รุนแรงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับ 2 ยักศ์ใหญ่อย่าง ‘เซ็นทรัล’ และ ‘เดอะมอลล์’ ที่ต่างสาดไอเดียเพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาเดิน
จริงอยู่ ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นมีความได้เปรียบได้แง่ของภาพลักษณ์ซึ่งคนไทยนั้นชื่นชอบแดนซามูไรอยู่เป็นทุนเดิม แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สินค้าญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องซื้อเฉพาะในอิเซตันหรือโตคิวอีกแล้ว แต่สามารถเดินไปบินไปซื้อถึงญี่ปุ่นได้เลย
ในขณะที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่ห้างญี่ปุ่นกลับไม่สามารถ ‘ปรับตัว’ ได้ทันต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ทำให้นานวันเข้า จากผลประกอบการที่ได้ ‘กำไร’ กลับพลิกกลับมา ‘ขาดทุน’
ยิ่งมาเกิดวิกฤตโควิด-19 ยิ่งทำให้ฟางเส้นสุดท้ายได้ขาดลง เพราะไม่เพียงแต่ขาดลูกค้าชาวต่างชาติเท่านั้น แต่กับลูกค้าคนไทยเอง กำลังซื้อที่ลดน้อยถอยลงไป จึงทำให้ตัวเลขขาดทุนที่แบกไว้อยู่แล้ว มีเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ยิ่งมีการประเมินว่า ต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีกว่าสถานการณ์จะกลับมาเข้าที่เข้าทาง ‘การถอย’ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับห้างญี่ปุ่น ซึ่งประเมินแล้วว่ายิ่งอยู่ยิ่งเจ็บตัวเสียเปล่าๆ
5 ปีขาดทุนกว่า 600 ล้านบาท
สำหรับ ‘ห้างโตคิว’ นั้นจากการตรวจสอบข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของ ‘บริษัท กรุงเทพ-โตคิว สรรพสินค้า จำกัด’ พบในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งรายได้ และกำไรต่างลดลงทุกปี
รวมๆ แล้ว 5 ปีขาดทุนกว่า 600 ล้านบาท จึงไม่ต้องแปลกใจหาก ‘โตคิว กรุ๊ป’ บริษัทแม่จะตัดสินใจโบกมือลาประเทศไทย เพราะนอกจากตัวเลขที่ขาดทุนแล้ว วันนี้ ‘ธุรกิจห้างสรรพสินค้า’ ยังไม่ใช่ธุรกิจหลักอีกต่อไปแล้ว เพราะขนาดในบ้านเกิดเองยังเหลืออยู่แบบนับนิ้วได้เลย
แต่ที่มากไปกว่านั้นการโบกมือลาในครั้งนี้ยังมีสาเหตุมาจากการที่ ‘ห้างโตคิว’ ไม่ต้องการที่จะลงทุนเพิ่ม
จริงอยู่โตคิวอยู่กับ เอ็ม บี เค มาตั้งแต่วันแรกที่เปิดดำเนินการ แต่วันเวลาที่เปลี่ยนไปธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนตาม ห้างโตคิวก็เช่นกันเพราะในปีที่ผ่านมาซึ่งทั้งคู่เพิ่งต่อสัญญาออกไปอีก 9 ปี หนึ่งในข้อตกลงสำหรับฝั่งห้างโตคิว คือ การที่ต้องใส่เงินเข้าไปอีก ‘หลักร้อยล้าน’ เพื่อทำให้โตคิวสมกับความเป็นห้างญี่ปุ่น
ด้วย เอ็ม บี เค นั้น คาดหวังจะใช้ความเป็นญี่ปุ่นของโตคิวมาสร้าง ‘ความต่าง’ จากศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าที่เรียงรายอยู่ในย่านสยามและราชประสงค์ แต่หากมองเข้าไปในโตคิวจะพบว่า ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ นั้น มีเพียงชั้น 4 ที่เป็นโซนซุปเปอร์มาเก็นเท่านั้น ซึ่งไม่ตอบโจทย์ เอ็ม บี เค ที่ต้องการความเป็นญี่ปุ่นทั้งหมด
ดังนั้น การระบุให้โตคิวต้องเพิ่มทุนเพื่อเป็นการยกเครื่อง ทว่าเมื่อประเมินรายได้สถานการณ์ก็ยังทรุดตัว การใส่เม็ดเงินลงไปเพิ่มคงไม่ใช่เรื่องที่ดีในที่สุด การออกจากประเทศไทย จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้วสำหรับโตคิว
ใครจะเข้ามาแทนที่
คำถามที่ตามมาหลังห้างโตคิวโบมือลาคือ ใครจะเข้าไปอยู่แทนที่เพราะจากข้อมูลพบว่า บริษัท กรุงเทพ-โตคิว สรรพสินค้า จำกัด เป็นผู้เช่าพื้นที่ลำดับที่ 2 ในศูนย์การ ค้าเอ็ม บี เค ด้วยพื้นที่ 12,000.00 ตารางเมตร เป็นรองเพียง บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเช่าพื้นขนาด 14,954.68 ตารางเมตรเท่านั้นเอง
แต่คำถามก็ถูกเฉลยอย่างรวดเร็ว เพราะในเย็นวันที่ห้างโตคิวเปิดดำเนินการเป็นวันสุดท้ายนั้นเอง สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนกลุ่มเล็กๆ ว่า พื้นที่ทั้งหมดมีเจ้าของหมดแล้ว
โดยชั้น 1 นั้นทางเครือสหพัฒน์ขอเหมาทั้งชั้น 3,000 ตารางเมตร เพื่อนำเสื้อผ้าแฟชั่นในเครือมาเปิด ขณะที่ชั้น 2 ตกเป็นของ ‘ดองดิ’ ซุปเปอร์มาเก็ตจากญี่ปุ่นที่เหมาะทั้งชั้นเช่นเดียวกัน โดยถูกระบุว่าจะเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นสาขาแรกที่อยู่ติดรถไฟฟ้าบีทีเอสด้วย ส่วนชั้น 3 มีรายใหญ่ 2 รายที่ขอพื้นที่ และชั้นที่ 4 จะเป็นโซนไอที
โดยการรีโนเวททั้งหมดถูกวางกำหนดให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 ซึ่งต้องจับตาต่อไปว่า เมื่อมี ‘ผู้เช่ารายใหม่’ เข้ามาแทนที่โตคิวแล้ว จะสร้างความ ‘ปัง’ ให้กับ ‘เอ็ม บี เค’ ได้หรือไม่ ?