กรมหม่อนไหมเดินหน้าสานนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” จับมือจุลไหมไทยแก้ปัญหาผลผลิตรังไหมเชิงอุตสาหกรรมขาดตลาด พร้อมหนุนระบบเกษตรพันธสัญญา “น่านโมเดล”เป็นต้นแบบขยายพื้นที่ปลูก-สร้างเกษตรกรรายใหม่เพิ่ม 1,000ราย แก้ปัญหาผลผลิตรังไหมขาดตลาด
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าวภายหลังเยี่ยมชมและศึกษาดูงานบริษัท จุลไหมไทย จำกัดว่า ที่ผ่านมากรมหม่อนไหมและบริษัทจุลไหมไทย ได้หารือร่วมกันในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการผลิตไหมอุตสาหกรรมโดยการขยายพื้นที่และเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งบริษัท จุลไหมไทยมีความต้องการรังไหมจำนวน 5,000 ตัน แต่ปัจจุบันเกษตรกรสามารถผลิตได้ จำนวน 2,000 ตันเท่านั้น
ดังนั้น แนวทางในกาแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องเร่งสร้างเกษตรกรรายใหม่ให้เข้าสู่ระบบการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้สูงและสม่ำเสมอตลอดปี รวมทั้งมีตลาดรับซื้อที่แน่นอนและเป็นธรรม ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนเกษตรกรรายใหม่ 1,000 ราย โดยมีกิจกรรมส่งเสริมการฝึกอบรม สนับสนุนปัจจัยการผลิต และสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกร
นอกจากแนวทางความร่วมมือดังกล่าวแล้วยังมีแผนนำน่านโมเดลเป็นต้นแบบการเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในระบบเกษตรพันธสัญญาที่ประสบความสำเร็จในจังหวัดน่านนำมาเป็นต้นแบบในการส่งเสริมให้การผลิตไหมเหลืองอุตสาหกรรมแปลงใหญ่หม่อนไหมอ.ลานสัก จ.อุทัยธานี อีกด้วย โดยมีแผนที่จะอบรมให้ความรู้ในเรื่องการผลิตไหมอุตสาหกรรมครบวงจรทั้งแก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหม การพัฒนาเครื่องสาวไหมเด่นชัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสาวไหม งานส่งเสริมผู้ทอผ้าไหม Market Place ในการขายผ้าไหมออนไลน์ การแก้ไขปัญหาไหมลักลอบ ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการศึกษาดูงานบริษัท จุลไหมไทย จำกัดในครั้งนี้ คณะผู้บริหารกรมหม่อนไหมได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเส้นไหม ตั้งแต่จุดรับซื้อรังไหมที่มีคัดเกรดรังไหม เพื่อตีราคาตามคุณภาพของรังไหม คลังเก็บรังไหม การสาวเส้นไหม การควบตีเกลียวเส้นไหม การตรวจสอบคุณภาพ การฟอกย้อมสี จนถึงการบรรจุเส้นไหมที่พร้อมจำหน่ายโดยเป็นกระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานในการผลิต ตลอดจนการนำงานวิจัยมาใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์ไหมที่เกษตรกรเลี้ยงง่าย เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย และให้ผลผลิตสูง