การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เดินหน้าสำรวจข้อมูลประชากรที่แท้จริง ในชุมชนคลองเตยหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจร่วมกับชุมชนถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง เพิ่มช่องทางให้แก่ผู้อยู่อาศัยภายในชุมชนคลองเตย ได้มีโอกาสที่จะแจ้งความต้องการภายในครัวเรือนเพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ของชุมชนได้อย่างเต็มที่ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ความต้องการ และทางเลือกที่อยู่อาศัยในอนาคต เพื่อเป็นแนวทางในการเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community)
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่า “กทท. อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลประชากรในชุมชนคลองเตย เพื่อนำผลมาพิจารณาประกอบการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) โดยเบื้องต้นต้องทราบถึงจำนวนประชากรและจำนวนครัวเรือนที่แท้จริง รวมถึงสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตย และรับฟังความต้องการความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคนในชุมชนคลองเตย
กทท. ได้จัดจ้างที่ปรึกษาโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการสำรวจความต้องการของชุมชนตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยระยะเวลาดำเนินการดังกล่าว ได้มีการประชุมและพิจารณาร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด ซึ่ง กทท. ได้มีข้อเสนอ 3 ทางเลือกซึ่งมีมูลค่าที่เท่าเทียมกัน ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 ให้ชุมชนเข้ามาอาศัยอยู่บนอาคารทรงสูงภายใต้ โครงการ Smart Community โดยมีขนาดพื้นที่ 33 ตารางเมตรพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางที่ครบครัน, ทางเลือกที่ 2 มอบที่ดินเปล่าขนาด 19.5 ตารางวาบริเวณพื้นที่หนองจอก, ทางเลือกที่ 3 มอบเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ตัดสินใจข้อเสนอที่มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของครอบครัวมากที่สุด
จากการลงพื้นที่สำรวจประชากรภายในชุมชนจากมหาวิทยาลัยมหิดลเบื้องต้น ประมาณกว่า 3,000 ครัวเรือน จากจำนวนคาดการณ์ทั้งหมด 13,000 ครัวเรือน พบว่าชุมชนเลือกย้ายขึ้นอาคารทรงสูงมากที่สุดถึง 64% รองลงมาเลือกรับเงินเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต 20% และ 5% เลือกที่ดินเปล่าบริเวณหนองจอก นอกจากนี้ ยังมีชุมชนที่ยังไม่ตัดสินใจที่จะเลือกอีกประมาณ 11% ทั้งนี้ทางชุมชนคลองเตยได้มีการยื่นข้อเสนอเพื่อขอบริหารจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยเองในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากเดิมซึ่งทาง กทท. อยู่ในขั้นตอนกระบวนการพิจารณาถึงระเบียบและอำนาจหน้าที่ของ กทท. ตามข้อเสนอดังกล่าว”
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) บนพื้นที่ 58 ไร่ จะก่อสร้างเป็นอาคารที่พักอาศัยทรงสูง 12 อาคาร จำนวน 25 ชั้นรวมประมาณ 6,048 ยูนิต พร้อมด้วย อาคารส่วนกลางเพื่อรองรับอาคารสำนักงาน หน่วยงานราชการ สถานบริการสาธารณสุข องค์กรหรือมูลนิธิภายในชุมชน อาคารที่จอดรถ พื้นที่ตลาด พร้อมทั้งพื้นที่ สำหรับโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กและพื้นที่สีเขียวเพื่ออำนวยความสะดวกในแก่ประชาชนภายในโครงการ