ภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล ผู้อำนวยการฝ่ายไร่ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
กลุ่ม KTIS มุ่งสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับลูกหลานเกษตรกร ด้วยโครงการ “ปั้นทายาทชาวไร่อ้อยสู่เถ้าแก่น้อย” ลดปัญหาคนรุ่นใหม่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการทำงานเป็นพนักงานบริษัทในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ย้ำอาชีพชาวไร่อ้อยสร้างรายได้ที่ดีได้ เพราะความต้องการอ้อยยังมีสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอุตสาหกรรมน้ำตาล เอทานอล โรงไฟฟ้า เยื่อกระดาษ บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย หลอดชานอ้อย และธุรกิจแห่งอนาคตอย่างชีวเคมี ชี้คนรุ่นใหม่เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เร็วและนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มทั้งผลผลิตต่อไร่และคุณภาพอ้อยได้ ทำงานน้อยลงแต่มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น พร้อมสอนวิธีการลงบัญชีรับ-จ่าย และการบริหารเงิน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล ผู้อำนวยการฝ่ายไร่ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS ได้ริเริ่มโครงการ “ปั้นทายาทชาวไร่อ้อยสู่เถ้าแก่น้อย” ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัททำงานร่วมกับเกษตรกรชาวไร่ เพื่อพัฒนาส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ให้กับบุตรหลานชาวไร่อ้อย ผ่านกระบวนการอบรมและเรียนรู้ร่วมกันในหลายหัวข้อ เช่น การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การนำเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร โดยเน้นองค์ความรู้ที่จะพัฒนาทั้งปริมาณและคุณภาพของอ้อยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่มีเป้าหมายในการเข้ามาสานต่ออาชีพชาวไร่อ้อยจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ช่วยลดปัญหาทายาทชาวไร่ที่เข้าไปหางานทำในเมือง เป็นพนักงานบริษัท แต่เมื่อเกิดปัญหา เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้บริษัทต่างๆ ลดคนงาน เลิกจ้าง หรือปิดกิจการ แล้วไม่มีงานรองรับ
“เราเชื่อว่าการทำไร่อ้อยเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงชีพเกษตรกรชาวไร่ได้อย่างมั่นคง เพราะความต้องการอ้อยยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะในอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย แต่อ้อยซึ่งเป็นพืชพลังงานยังเป็นที่ต้องการของโรงงานเอทานอลและโรงไฟฟ้าด้วยนอกจากนี้อ้อยยังสามารถนำไปทำเยื่อกระดาษบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อยหลอดชานอ้อยและเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในสายธุรกิจอุตสาหกรรมชีวเคมีด้วย ซึ่งหากทำไร่อย่างถูกวิธี มีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็จะสามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้น แถมยังเหนื่อยน้อยลง และเมื่อมีรายได้ที่ดีขึ้นแล้ว เราก็ยังสอนวิธีการเก็บออมเงิน โดยการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายและให้ความรู้เรื่องการบริหารเงิน ทำให้เกษตรกรมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืนด้วย” ภูมิรัฐ กล่าว
ผู้อำนวยการฝ่ายไร่ กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ทำต่อเนื่องมา 4-5 ปีแล้ว โดยการให้ความรู้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ครอบคลุมกระบวนการสร้างอ้อยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกพันธุ์อ้อย การปลูกอ้อยอย่างถูกวิธี การให้น้ำและสารอาหารกับอ้อย ไปจนถึงการตัดอ้อยสด โดยจะเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการเกษตร ที่จะช่วยให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น โดยจะมีชาวไร่อ้อยที่มีประสบการณ์หรือที่เรียกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ มาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับลูกหลานด้วย พร้อมกับเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไปพร้อมกัน
“ชาวไร่รุ่นพ่อแม่กับรุ่นลูกหลานนี้เป็นคนละเจเนอเรชั่นกัน ย่อมมีวิธีคิดวิธีการทำงานต่างกัน โดยรุ่นลูกหลานจะสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆได้เร็ว แต่ในช่วงต้นอาจจะต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าที่รุ่นพ่อแม่เคยทำ ตรงนี้ต้องเรียนรู้ร่วมกัน ว่าช่วงแรกลงทุนสูงขึ้นหน่อย แต่ในระยะถัดไปจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า กำไรมากกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งหากทั้งสองรุ่นเข้าใจกัน การพัฒนาก็ทำได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย” นายภูมิรัฐกล่าว