เนื่องจากปัจจุบัน ‘ขยะ’ ยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉลี่ยแล้วคน 1 คน จะสร้างขยะได้ 1.42 กิโลกรัมต่อวัน ใน 1 เขต มีจุดทิ้งขยะประมาณ 40-50 จุด มีถังขยะรองรับ 3 - 4 ถัง หนึ่งถังมีน้ำหนักราว 70 กิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 14,000 กิโลกรัมหรือ 14 ตันต่อวัน เฉพาะในเขตจตุจักรมีปริมาณขยะกว่า 300 กิโลกรัมต่อวัน และหากรวมในเขตกรุงเทพฯ จะมีปริมาณขยะกว่า 9,000 ตันต่อวัน เทียบเท่าพีระมิดจำนวน 547,500 พีระมิด เลยทีเดียว
การแยกขยะ จึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาขยะล้นเมือง และจะดีไม่น้อยหากขยะเหล่านั้นสามารถนำไปขายและนำรายได้ไปช่วยเหลือสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงทุ่มงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท พัฒนารูปแบบถังขยะให้ดึงดูดความสนใจ ผ่านโครงการ ‘แยก แลก ยิ้ม’ ให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมกับแคมเปญคัดแยกขยะ และนำรายได้ไปช่วยสังคมรอบๆ สถานีบริการน้ำมันต่อไป
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการแยกขยะพอสมควร พยายามรณรงค์หลายรอบ หลายหน่วยงานก็พยายามทำอยู่ เราจึงลุกขึ้นมาช่วยทำด้วย แต่ก่อนการจัดการขยะของแต่ละปั๊มไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นถังรวม แยกไปขายบ้าง บางปั๊มก็ไม่สนใจ ให้รถขยะเก็บไป ไม่มีการจัดการก่อนไปทำลาย เราจึงคิดว่าเราควรจะจัดการกับสิ่งที่คิดว่ารีไซเคิลได้ ขายได้ มาทำประโยชน์ ต่อยอด”
สำหรับการจำหน่ายและนำรายได้ไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมชุมชนในบริเวณโดยรอบสถานีบริการน้ำมัน ปตท. นั้น ทางสถานีบริการแต่ละแห่ง ต้องเป็นผู้ทำการแยกขยะและติดต่อให้ผู้รับซื้อขยะมารับซื้อขยะที่คัดแยกแล้วด้วยตนเอง หลังจากนั้น จึงเก็บรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายขยะไปบริหารจัดการในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไป โดยทาง ปตท. ได้มีตัวอย่างตารางบันทึกรายได้ แจกจ่ายให้กับสถานีบริการน้ำมันทุกแห่ง
“เงินตรงนี้มันไม่มากไม่น้อย แต่อย่างน้อยมันช่วยสร้างเรื่องจิตสำนึกในการทำธุรกิจ เจ้าของปั๊มเอง เขาก็จะได้ในแง่การบริหารจัดการในการแยกขยะ การดูแลสิ่งแวดล้อม สองคือ เขาได้ดูแลชุมชนรอบๆ ซึ่งการช่วยเหลือก็แล้วแต่ เพราะที่ตั้งปั๊มแต่ละที่เป็นสังคมที่หลากหลาย บางที่ก็ตั้งใกล้โรงเรียน ใกล้วัด ใกล้ชุมชน โรงพยาบาล ก็ตามแต่สิ่งที่ชุมชนนั้นๆ ต้องการ”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ปตท. มีการดำเนินธุรกิจผ่านทิศทางเชิงกลยุทธ์ 3 ทิศทาง คือ การพัฒนาให้องค์กรมีความเป็นเลิศในการดำเนินงาน (Profit) การเสริมสร้างความไว้วางใจจากชุมชนและสังคมในการดำเนินงาน (People) และการสร้างนวัตกรรมที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (Planet) คือ เป็น Triple Bottom Line (Profit People Planet) ไม่ใช่แค่ Single Bottom Line (Profit) อีกต่อไป ดังนั้น บทบาทของหน่วยธุรกิจน้ำมันจึงมุ่งเน้นในการสร้าง Brand Image ‘PTT: Pride and Treasure of Thailand’ ด้วยการตอกย้ำการเป็นแบรนด์คนไทย ที่ดูแลคนไทย ทำเพื่อคนไทย อยู่คู่กับคนไทย และให้คนไทยภาคภูมิใจ
“สำหรับโครงการนี้ เปรียบเสมือนการทำการตลาดอย่างรับผิดชอบสังคม ซึ่งเรามองว่านี่ไม่ใช่โครงการ CSR แต่คือ Business Model เราชักชวนผู้บริโภคมาช่วยกันแยกขยะ โดยหวังว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจะรู้สึกดีกลับไปด้วย เพราะได้ร่วมดูแลชุมชน ผมว่ามันเป็นโมเดลของการทำธุรกิจที่เราพยายามทำให้ไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ก่อนคอนเซปต์ ปตท. คือ Life Station แต่ตอนนี้เราพยายามทำให้เป็น Station for Life คือ ตัวสถานีบริการที่ทำธุรกิจน่าจะมีหน้าที่ดูแลสังคมรอบๆ ตัวเอง ควบคู่ไปด้วยกับการทำธุรกิจ และโครงการนี้มันดีที่จะสามารถดึงส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน” อรรถพล กล่าวเพิ่มเติม
ด้วยความที่ ปตท. มีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 40% ดังนั้น โครงการนี้จึงมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ให้ได้มีโอกาสสัมผัสกับโครงการดีๆ ในส่วนของลูกค้าที่ไม่เคยเข้ามาใช้บริการ ก็สามารถร่วมกิจกรรมด้วยการนำขยะเข้าทำการคัดแยกทิ้งในถังที่สถานีบริการจัดไว้ให้ นอกจากนี้ ยังชวนกลุ่มคนรุ่นใหม่ร่วมสนุกผ่าน เกม ‘แยก แลก ยิ้ม’ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเชิญชวนและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมกันมอบรอยยิ้มให้ชุมชน บนเว็บไซต์ www.แยกแลกยิ้ม.com/game อีกด้วย
ทั้งนี้ การติดตั้งถังคัดแยกขยะ 1 ชุด ประกอบด้วยถังขยะจำนวน 3 ใบ ขนาดใบละ 95 ลิตร แยกออกเป็น 3 สี เพื่อแยกขยะ 3 ประเภท คือ สีน้ำเงิน สำหรับทิ้งขยะประเภทขวดแก้วและกระป๋อง สีเขียว สำหรับทิ้งขยะประเภทขวดพลาสติก และ สีส้ม สำหรับทิ้งขยะทั่วไป พร้อมป้ายประชาสัมพันธ์ตามรูปแบบที่ ปตท. กำหนด โดยปัจจุบันทาง ปตท. ได้กระจายถังขยะให้ครอบคลุมสถานีน้ำมันทั่วประเทศ 1,400 สาขา รวมทั้งสิ้นกว่า 2,500 ชุด โดยคาดว่าใน 1 ปี แต่ละสถานีบริการจะมีรายได้จากการขายขยะเฉลี่ยปีละ 15,000 บาทต่อสาขา หรือรวมแล้วประมาณ 21 ล้านบาทต่อปี
“โครงการนี้ จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการสร้างให้ประชาชนและสถานีน้ำมัน ปตท. มีจิตสำนึกในการบริหารจัดการขยะ การดูแลสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือดูแลสังคมชุมชนร่วมกันตลอดไป” อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย