อิเกีย เปิดตัวคอลเล็คชั่นพิเศษ “LOKALT/ลูคอลต์” จากการร่วมงานกับดีไซเนอร์และธุรกิจเพื่อสังคมในท้องถิ่นจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย จอร์แดน และอินเดีย ถ่ายทอดงานดีไซน์ร่วมสมัยผสมผสานงานหัตถกรรมท้องถิ่น ออกแบบเป็นของใช้ในบ้านที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และงานฝีมือพื้นบ้าน พร้อมส่งเสริมอาชีพให้แก่ช่างฝีมือท้องถิ่นในแต่ละประเทศ คอลเล็คชั่นพิเศษ LOKALT/ลูคอลต์ เริ่มวางจำหน่ายที่อิเกีย บางนา ในวันที่ 3 มิถุนายน 2564 และทางออนไลน์ IKEA.co.th ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป*
ดีไซเนอร์ท้องถิ่นของคอลเล็คชั่น LOKALT/ลูคอลต์ ประกอบด้วย ดูโอนักออกแบบชาวไทย พลอยพรรณ ธีรชัย - เดชา อรรจนานันท์ ผู้ก่อตั้ง THINKK Studio จากกรุงเทพฯ, ทันยา ฮัดแดด (Tania Haddad) จากกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน และ อคานชา เดโอ (Akanksha Deo) นักออกแบบประจำอิเกียในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย โดยมีองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม รับหน้าที่ในการผลิตผลงานให้กับคอลเล็คชั่น LOKALT/ลูคอลต์ ได้แก่ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จากประเทศไทย, Jordan River Foundation จากจอร์แดน, Industree และ Diamond กลุ่มช่างทอพรมหญิงท้องถิ่นในอินเดีย สร้างสรรค์คอลเล็คชั่นพิเศษจากงานทำมือ โดยช่างฝีมือที่มีทักษะ และช่วยส่งเสริมอาชีพให้ผู้คนในภูมิภาคที่มีความต้องการประกอบวิชาชีพมากที่สุด
อิเกียทำงานร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อสังคมทั่วโลกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ผ่านโครงการริเริ่มของ IKEA Social Entrepreneur โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การใช้ชีวิตประจำวันดีขึ้น สร้างอาชีพระยะยาวให้กับผู้หญิง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ลี้ภัย ผ่านการทำงานร่วมกับนักออกแบบท้องถิ่น และองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมในการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมสมัยใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประเพณีและวิถีชีวิตของแต่ละประเทศ ภายใต้โครงการนี้ อิเกียได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับช่างฝีมือตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันมีการสร้างงานกว่า 30,000 ตำแหน่งให้กับช่างฝีมือและธุรกิจในชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งการเดินทางครั้งนี้จะยังคงดำเนินต่อไป
มาเรีย โอไบรอัน (Maria O’Brian) ผู้นำฝ่ายสร้างสรรค์ประจำอิเกียสวีเดน และหัวหน้าทีมดีไซเนอร์ ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจของคอลเล็คชั่น LOKALT/ลูคอลต์ ว่า “เรามองหานักออกแบบที่มีมุมมองทันสมัย เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่างานหัตถกรรมไม่จำเป็นต้องดูเป็นแบบดั้งเดิมหรือล้าสมัยเสมอไป แต่สามารถใช้งานดีไซน์และเทคนิคใหม่ๆ เพื่อนำมรดกทางวัฒนธรรมก้าวไปสู่อนาคตและผลิตเป็นของใช้ในบ้านคนรุ่นใหม่ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานได้จริง โดยเรามีโอกาสได้ทำงานกับทีมนักออกแบบรุ่นใหม่จากประเทศนั้นๆ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถสื่อสารได้โดยตรงกับทีมช่างฝีมือท้องถิ่น และอิเกียยังได้เรียนรู้งานหัตถกรรมและวัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ อีกด้วย”
นักออกแบบรุ่นใหม่จาก 3 เมือง ได้แก่
กรุงเทพฯ ประเทศไทย
อิเกียได้ร่วมงานกับสองนักออกแบบจาก THINKK Studio โดยพลอยพรรณ ธีรชัย และ เดชา อรรจนานันท์ ผ่านความร่วมมือกับทีมช่างฝีมืองานเครื่องปั้นดินเผาจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมและเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของอิเกีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 สร้างงานให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือของประเทศไทย สำหรับคอลเล็คชั่น LOKALT/ลูคอลต์ สองนักออกแบบได้นำเสนอชุดหัตถกรรมไทยและการจัดโต๊ะอาหารแบบไทยๆ ที่จะทานอาหารร่วมกัน โดยเพิ่มความทันสมัยและฟังก์ชั่นการใช้งานเข้าไป
เดชา อรรจนานันท์ และ พลอยพรรณ ธีรชัย เล่าถึงการทำงานในครั้งนี้ว่า “อิเกียได้จัดเวิร์คช็อปขึ้นที่ดอยตุง เพื่อให้ดีไซเนอร์ทั้งหมดได้พูดคุยกันเป็นครั้งแรกก่อนแยกย้ายกันไปทำงาน สำหรับขั้นตอนการทำงานของเรา เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด การเยี่ยมชมโรงงานและนำมาผสมผสานเข้ากับงานออกแบบของเรา ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมงานกับอิเกีย และดอยตุงฯ อย่างใกล้ชิดในทุกกระบวนการ เราหวังว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นจะทำให้ผู้ที่นำมันกลับบ้านรู้สึกถึงภูมิปัญญางานฝีมือของไทย THINKK Studio มักจะผสมผสานการออกแบบไทยร่วมสมัยเข้ากับงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิม สำหรับคอลเล็คชั่นนี้จะสะท้อนถึงงานทำมือ หรือ craftmanship ไว้โดยการประทับรอยนิ้วมือไว้บนพื้นผิวของ จาน ชาม แจกัน และยังสะท้อนให้เห็นถึงประเพณี ธรรมเนียมความนอบน้อมในการมอบสิ่งของให้ผู้อาวุโสโดยการใช้ทั้งสองมือส่งมอบสิ่งของต่างๆ เราจึงได้เพิ่มด้ามจับ 2 ข้างไว้บนชามเซรามิกของ LOKALT/ลูคอลต์
กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน
ทันยา ฮัดแดด (Tania Haddad) แฟชั่นดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Tania George ผู้ถ่ายทอดเสน่ห์ของกรุงอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดนผ่านงานปักลายเส้นเป็นรูปตึกรามบ้านช่อง มุมเมืองต่างๆ ที่คุ้นตา สอดแทรกไว้ด้วยธรรมเนียมของการเล่นว่าวในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ผลิตโดยช่างฝีมือจากศูนย์ Al Karmeh Center ดำเนินการภายใต้มูลนิธิ Jordan River องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาชีพให้กับหญิงชาวจอร์แดนรวมถึงหญิงผู้ลี้ภัย
กรุงเดลี ประเทศอินเดีย
อคานชา เดโอ (Akanksha Deo) นักออกแบบชาวอินเดียของอิเกีย ประจำกรุงเดลีได้นำเสนอไอเท็มที่น่าสนใจอย่างโคมไฟสานจากใยกล้วย ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากจากโรงงาน ผ่านความร่วมมือกับกิจการเพื่อสังคมของอินเดียอย่าง Industree เปิดโอกาสให้ผู้หญิงในชนบทหาเลี้ยงชีพด้วยทักษะด้านงานฝีมือ รวมถึงปลอกหมอนอิงและพรมที่ทอโดยกลุ่มแรงงานช่างทอหญิงจาก Diamond ซึ่งเธอได้นำเอารูปทรงที่สื่อถึงความเป็นอินเดียมาถ่ายทอดในรูปแบบร่วมสมัย ผ่านผืนพรมทอมือจากผ้าวูล 100% ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืน หมุนเวียนได้ และมีความทนทาน