สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงต้องจับตามองโดยเฉพาะรายงานยอดผู้ติดเชื้อ 10 จังหวัด สูงสุดซึ่งกรุงเทพมหานคร ยังเป็นอันดับ 1 ด้วยยอดผู้ติดเชื้อใหม่ 1,356ราย ยอดสะสม 41,573 ราย (กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564) ในขณะที่ภาครัฐกำลังเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน พร้อมกับให้ความสำคัญในการรณรงค์ สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือ
แน่นอนว่า เมื่อจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลพร้อมทั้งทีมแพทย์และพยาบาลมีจำนวนอยู่เท่าเดิม ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเร่งหาทางรับมือ รวมทั้งทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อผ่านพ้นวิกฤติโรคอุบัติใหม่ในครั้งนี้ไปด้วยกัน
พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ หรือ 'คุณหมอเปเปอร์' ที่ปรึกษาระดับกระทรวง หรือโดยตำแหน่งคือนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง สาธารณสุข (สธ.) เผยถึงที่มาของการวางแผนรับมือสถานการณ์ผู้ป่วยโดยการสร้างโรงพยาบาลบุษราคัมซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี พื้นที่มากกว่า 100,000 ตารางเมตร รองรับผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
“แนวคิดคือเราต้องรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลุ่มที่มีอาการปานกลางหรือกลุ่มสีเหลืองให้ได้ เพื่อทำการรักษาไม่ให้เปลี่ยนเป็นผู้ป่วยวิกฤตหรือกลุ่มสีแดง ซึ่งจำนวนโรงพยาบาลที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้น เราจึงต้องสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นและสู้ไปด้วยกัน”
โรงพยาบาลบุษราคัมได้ถูกสร้างขึ้นที่ อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 ก่อนเป็นแห่งแรก ด้วยจำนวน 1,083 เตียงในเวลาเพียง 7 วัน และ ฮอลล์ 1 ถูกสร้างถอดแบบ (mirror) ตามออกมาด้วยจำนวน 1,078 เตียงภายใน 5 วัน ซึ่งแบ่งเป็นหอป่วยหญิงและชายแยกกัน โดยทั้งสองแห่งมีห้องความดันลบ (Negative pressure room) และออกซิเจนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ที่ผ่านการวางระบบใหม่ทั้งหมด ด้วยการต่อท่อออกซิเจนเข้ามาจากด้านหลังฮอลล์มาถึงเตียงผู้ป่วย โดยในฮออล์แบ่งเป็น 4 โซน และ 1 ใน 4 มีออกซิเจนให้ทุกเตียงพร้อม
ที่สำคัญทุกรายละเอียดไม่ได้ถูกมองข้าม แม้แต่ห้องอาบน้ำยังถูกสร้างขึ้นใหม่ด้านหลังฮออล์ จำนวน 100 ห้อง แบ่งชายหญิง พร้อมวางระบบกำจัดน้ำเสียตามมาตรฐาน ซึ่งน้ำที่ใช้แล้วจากโรงพยาบาลบุษราคัมจะไหลไปจุดศูนย์กลางพร้อมทั้งผ่านระบบบำบัด ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางด้วยบ่อบำบัดขนาดใหญ่ พร้อมทั้งระบบกำจัดขยะ
ทั้งหมดนี้คือการบูรณาการจากทีมงานกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย และหน่วยงานเอกชนที่พร้อมใจกันเป็นหนึ่งเดียว
ก้าวแรกสู่ดิจิทัลวางระบบโรงพยาบาลสนามรับมือโรคอุบัติใหม่
เมื่อระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของโรงพยาบาลพร้อม ปัจจัยสำคัญต่อไปคือการวางระบบให้เป็นโรงพยาบาลสนามด้วยแนวคิดโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital hospital) เพราะโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อที่ระบาดได้ในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เป็นอุปสรรคในการที่แพทย์จะเข้าไปพบผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบการจัดการคอมพิวเตอร์จึงถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ แพทย์ และพยาบาลต้องสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยและเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์พื้นฐานได้ตลอดเวลา เช่น ข้อมูลผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และอาการต่อเนื่องจากการรักษา ทั้งหมดนี้จะเป็นระบบดิจิทัลผ่านคอมพิวเตอร์แทนการใช้กระดาษ รวมถึงการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลตรวจติดตามผู้ป่วย การวัดสัญญาณชีพ (vital sign) แบบอัตโนมัติติดที่ตัวคนไข้ แล้วรายงานผ่านจอได้เรียลไทม์ การวัดความดันโลหิต อุณหภูมิ และอัตราการเต้นของหัวใจ โดยอัตโนมัติ และเวชระเบียนการจ่ายยาแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้งานเพื่อส่งยาให้ผู้ป่วย
คุณหมอเปเปอร์เล่าให้ฟังต่อไปว่า “เมื่อตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อจากการสวอบ (swab) ตามมาตรฐานจากโรงพยาบาลต่างๆ ทีมเจ้าหน้าที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองจะคีย์ข้อมูลผู้ป่วยที่มีผลโพสิทีฟ(positive) เข้ามาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นจะมีหน่วยที่จัดหาเตียงให้กับคนไข้ จะจัดส่งข้อมูลมาให้โรงพยาบาลบุษราคัม ด้วยระบบ Co-Link ซึ่งเป็นระบบข้อมูลค้นหาเตียง และระบบ Co-bed ซึ่งเป็นระบบบริหารเตียงผู้ป่วยจำนวนมาก ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบุษราคัมจะตรวจสอบความพร้อมผู้ป่วยและประสานไปที่หน่วยรถรับส่งจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และจะเข้าสู่กระบวนการนำคนไข้เข้าสู่โรงพยาบาลบุษราคัมซึ่งจะรองรับผู้ป่วยกลุ่มเตียงสีเหลืองเป็นหลัก กล่าวคือ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย-ปานกลางที่ยังช่วยตัวเองได้”
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระบบการจัดการและระบบสื่อสารดิจิทัลมาใช้ในโรงพยาบาลสนามเป็นผลสำเร็จ รวมทั้งการเชื่อมทุกสิ่งสำคัญในทุกเวลาคือ “อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง” พร้อมทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน
สัญญาณอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อชีวิตพิชิตโควิด-19
ในส่วนนี้ดีแทคได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและกสทช. โดยดีแทคมุ่งมั่นต่อภารกิจสำคัญยิ่งในโรงพยาบาลบุษราคัมด้วยการนำดิจิทัลและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับ แพทย์ พยาบาล รวมทั้งเพื่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ดีแทคได้ร่วมผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อที่จะก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกันด้วยการบูรณาการทั้งภาครัฐและหน่วยงานเอกชนต่างๆ เพื่อทุกคน
นอกจากดีแทคได้วางระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การใช้งานดีแทค Wi-Fi ทุกจุดผ่าน Access point แล้ว ดีแทคยังได้นำโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน กล้อง CCTV และ dtac@Home หรือ Fixed Wireless Broadband ซึ่งเป็นอุปกรณ์ติดตั้งง่ายทุกที่ไม่ต้องเดินสาย สำหรับนำไปใช้งานที่โรงพยาบาลบุษราคัม และหอพยาบาล สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ทีมแพทย์จะใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ ทำการรักษาผ่านระบบแพทย์ทางไกล (telemedicine) มีการรีโมทเข้ามารักษา หรือการให้ข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน LINE พร้อมทั้งมีการจัดพยาบาลที่เข้าไปติดตามดูแลผู้ป่วย
เทคโนโลยีดิจิทัลสู่การนำผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็วขึ้น
คุณหมอเปเปอร์เล่าส่งท้ายถึงภาพรวมผู้ป่วยว่า “การเข้ามารักษาตัวที่นี่ คือ จากวันที่พบเชื้อ 14 วัน แต่ยกเว้นบางคนที่โอนย้ายมาจากที่โรงพยาบาลอื่นจากกลุ่มเตียงสีแดง เมื่ออาการดีขึ้นจะย้ายมาที่นี่เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีแดงท่านอื่นที่ต้องการรักษาได้มีเตียงพอเพียง ซึ่งผู้ป่วยที่โอนย้ายมาจากที่อื่น อาจจะมาอยู่ต่อที่ รพ.บุษราคัมอีก 3-5 วัน แล้วกลับบ้าน เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็วขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาของโรงพยาบาลบุษราคัม”
การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจสิ้นสุดในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า แต่ยังไม่มีใครจะคาดการณ์ได้แน่นอน แต่ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนและปรับตัวในการตอบสนองความท้าทายและผลกระทบต่างๆ จากโควิด-19 อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ จะทำให้ผ่านข้ามวิกฤตไปด้วยกัน