“ลุมพินี วิสดอม” ระบุการพัฒนาและสร้างบุคคลากรที่เชี่ยวชาญงาน BIM มีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการก่อสร้างทั้งระบบได้มากกว่าแสนล้านบาท
ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการออกแบบ ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ให้ความเห็นถึงการพัฒนาระบบการก่อสร้างโดยการนำนวัตกรรมการออกแบบที่เรียกว่า Building Information Modeling หรือ BIM เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากระบวนการออกแบบ บริหารจัดการต้นทุน การก่อสร้าง รวมไปถึงการบริหารจัดการอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการประเมินของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุมูลค่าการก่อสร้างในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1-1.2 ล้านล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยคิดเป็น 50% ของมูลค่าการก่อสร้างรวม 30% เป็นการก่อสร้างอาคารโครงการรัฐ และ 20% เป็นการก่อสร้างอาคารอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ในขณะที่งานก่อสร้างโดยเฉลี่ยจะมีอัตราการสูญเสียจากกระบวนการก่อสร้าง ทั้งจากการออกแบบและกระบวน การทำงาน อาทิ การตัดกระเบื้อง การตัดท่อ และระบบการก่อสร้างต่างๆ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15% มีอัตราการสูญเสียจากกระบวนการก่อสร้างประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาทต่อปี
“มูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้างถือเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การนำระบบการบริหารจัดการการออกแบบ การก่อสร้าง และการบริหารจัดการอาคาร โดยการนำระบบ BIM มาใช้โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการบริหารจัดการอาคาร จะช่วยให้ลดอัตราการสูญเสียที่เกิดขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ลดต้นทุนในการก่อสร้างในขณะเดียวกันยังทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพเพื่อผู้บริโภค” ประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
ปัจจัยสำคัญในการพัฒนางาน BIM ที่สำคัญประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ การพัฒนากระบวนการ (Process) การพัฒนาเทคโนโลยี (Technology) และ การพัฒนาบุคลากร (People) ปัญหาในการพัฒนางาน BIM ในปัจจุบันคือการขาดแคลนบุคคลากรที่มีความเข้าใจกระบวนการทำงานของ BIM ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการก่อสร้างและการบริหารอาคาร เนื่องจากบุคลากรที่จะมีทักษะในการพัฒนางานด้าน BIM จำเป็นต้อง มี 3 ทักษะที่สำคัญคือ ทักษะในด้านเทคโนโลยี่ (BIM Technical Skill) ทักษะด้านบริหารจัดการสำหรับโครงการและองค์กร(BIM Management Skill) และทักษะในการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน BIM (BIM Development Skill)
นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน BIM จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจ(Passion) ในการทำงาน โดยองค์กรควรจะมีการกำหนดนโยบายในการทำงานด้าน BIM (BIM Policy) ขององค์กรอย่างชัดเจน รวมไปถึงการกำหนดเป้าหมายในการทำงาน (BIM Direction) ที่ชัดเจน รวมไปถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในงาน BIM และเพิ่มทักษะในการทำงานด้านนี้ให้กับบุคคลากร เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนางาน BIM ในองค์กรประสบความสำเร็จ และมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการ ลดต้นทุนในการก่อสร้างและบริหารจัดการอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันหลายประเทศในเอเซีย ได้มีการนำ BIM มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ในขณะที่ในประเทศไทย การใช้งาน BIM ยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่สามารถนำ BIM มาใช้ในการพัฒนาโครงการเพราะเกิดการประหยัดจากขนาด(Economy of Scale) เนื่องจากการนำ BIM มาใช้ในงานออกแบบและงานก่อสร้างมีต้นทุนในการดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายจากการนำระบบ BIM มาใช้ในการออกแบบคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 5% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งถูกกว่าต้นทุนที่ประหยัดได้จากการออกแบบและการก่อสร้างโดยใช้ระบบ BIM แล้วที่สามารถลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการก่อสร้างได้ประมาณ 10-15%
“ถ้าเราให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในงาน BIM จะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการก่อสร้าง มีส่วนสำคัญในการพัฒนางานก่อสร้างของประเทศในอนาคต” ประพันธ์ศักดิ์ กล่าว